วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภารกิจแบบยุทธวิธี (mission tactics)

๒ - ๑ ภารกิจแบบยุทธวิธี (mission tactics)


ภารกิจแบบยุทธวิธี เป็นคำที่แทนความหมายของการใช้อำนาจบังคับบัญชา (command authority) ของผู้บังคับหน่วย ซึ่งเป็นการใช้ในลักษณะที่สัมพันธ์สอดคล้องของการบังคับบัญชา (command) การควบคุม (control) และการติดต่อสื่อสาร (communications) อย่างเหมาะสม โดยมุ่งการบรรลุภารกิจเป็นหลักและเน้นให้ความสำคัญแก่การบังคับบัญชามากกว่าการควบคุม ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยรองสามารถริเริ่ม กล้ารับเกณฑ์เสี่ยง และสามารถช่วงชิงโอกาสในสนามรบมาเป็นของฝ่ายเราได้ทุกเวลาและอย่างรวดเร็ว ภารกิจแบบยุทธวิธีในความหมายอย่างง่ายก็คือ ความมีเสรีในการปฏิบัติของผู้บังคับหน่วยที่จะปฏิบัติภารกิจ ตามวิธีที่ตนเห็นว่าเหมาะสม แทนที่จะถูกเจาะจงสั่งให้ทำ แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้บรรลุผลดียิ่งขึ้นก็คือ ผู้บังคับหน่วยรองต้องรู้เจตนารมณ์ ของผู้บังคับหน่วยเหนือและผู้บังคับหน่วยเหนือควรกำหนดการปฏิบัติหลัก (main effort) ในลักษณะที่สามารถใช้ความเป็นผู้นำจากผู้บังคับหน่วยขนาดเล็กได้อย่างเต็มที่

ก. ปรัชญาของภารกิจแบบยุทธวิธีสามารถนำไปใช้ได้ทุกระดับหน่วย ผู้บังคับหน่วยรองต้องได้รับเสรีในการบังคับบัญชาหน่วยของตนอย่างมากที่สุด ในขณะเดียวกันควรได้รับการควบคุมเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับประสานการปฏิบัติให้สอดคล้องเพื่อการบรรลุภารกิจเท่านั้น แต่ในบางกรณีผู้บังคับหน่วยเหนืออาจจำเป็นต้องให้คำแนะนำในการปฏิบัติอย่างเฉพาะเจาะจง เช่นกรณีที่การปฏิบัติของหน่วยรองนั้น ๆ จำเป็นต้องให้สอดคล้องกับการปฏิบัติของหน่วยอื่น ๆ เป็นต้น ภารกิจแบบยุทธวิธีคือปรัชญาของการบังคับบัญชา จะใช้เครื่องมือทางการบังคับบัญชาใด ๆ ที่ผู้บังคับหน่วยมีอยู่ หรือที่มีความต้องการจะใช้ก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่เครื่องมือทางการบังคับบัญชาที่ดีที่สุด ซึ่งไม่มีสิ่งอื่นใดทดแทนได้คือ โดยคนเท่านั้น

ข. การใช้ปรัชญาภารกิจแบบยุทธวิธีจำเป็นต้องมีความคิดริเริ่ม มีไหวพริบ ปฏิภาณ และมีจินตนาการ ความคิดริเริ่มต้องมาจากความต้องการบรรลุเจตนารมณ์ของผู้บังคับหน่วยเหนือเป็นหลัก ไม่ใช่เกิดจากความต้องการที่จะปฏิบัติอย่างอิสระเท่านั้น ผู้บังคับหน่วยต้องมีไหวพริบและปฏิภาณที่จะพิจารณาและวางแผนการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ใช่ติดตรึงอยู่กับสถานการณ์ที่คาดคิดเอาไว้แต่แรกโดยไม่สามารถปรับแผนได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

ค. การควบคุม เป็นสิ่งกีดขวางการบังคับบัญชา ยิ่งเพิ่มการควบคุมก็ยิ่งลดโอกาสทางการบังคับบัญชา แต่การควบคุมไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งกีดขวางไปเสียทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น หลักนิยม (doctrine) เอง ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุม ซึ่งความมุ่งหมายของหลักนิยม ก็คือ เพื่อให้ผู้บังคับหน่วยทุกระดับเข้าใจและปฏิบัติตรงกัน ส่วนการควบคุมอื่นๆ โดยทั่วไปนั้นมักจะกำหนดเป็นมาตรการควบคุมโดยใช้ภาพสัญลักษณ์เขียนลงบนแผ่นบริวารยุทธการ ซึ่งมาตรการควบคุมเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งกีดขวางเสรีกีดขวางเสรีในการปฏิบัติ ควรมีการทบทวนความเหมาะสมให้ดีก่อนที่จะกำหนดใช้ มาตรการควบคุมแต่ละอย่างต้องมีความมุ่งหมายโดยเฉพาะที่จำเป็นแก่การบรรลุภารกิจ หากกำหนดใช้โดยไม่มีความจำเป็นและจำกัดเสรีในการปฏิบัติของหน่วยรองแล้ว ควรยกเลิกมาตรการควบคุมนั้นเสีย แต่อย่างไรก็ตามผู้บังคับหมวดและผู้บังคับหมู่ปืนเล็ก ยังคงต้องสามารถควบคุมหน่วยของตนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา

ง. การควบคุม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับใช้ประสานการปฏิบัติของส่วนต่าง ๆ ที่ปฏิบัติการร่วมกันให้มีความสอดคล้อง ยิ่งการปฏิบัติมีความซับซ้อนมากเพียงใดก็ยิ่งต้องมีมาตรการควบคุมมากขึ้นเพียงนั้น สิ่งท้าทายสำหรับผู้บังคับหน่วยก็คือทำอย่างไรจึงจะสามารถกระจายอำนาจการตกลงใจ (decentralized decision making) ในแต่ละสถานการณ์และใช้มาตรการควบคุมแต่น้อยที่สุด

๑) ผู้บังคับหน่วยในระบบภารกิจแบบยุทธวิธี ต้องรู้วิธีคิด (how to think) ไม่ใช้รู้เพียง เรื่องที่ต้องคิด (what to think) และต้องยอมรับว่าโดยส่วนมากแล้ว ผู้บังคับหน่วยรองหน่วยนั้น ๆ ย่อมเป็นผู้ที่สามารถตกลงใจภายในหน่วยของตนได้ดีที่สุด และสำหรับการตกลงใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเสมอนั้นสามารถทำได้ หากผู้บังคับหน่วยรองมีแนวทางในการปฏิบัติ เป็นต้น

๒) รูปแบบต่าง ๆ ของการควบคุมที่มีใช้ในระดับหมวดและหมู่ปืนเล็ก ได้แก่ หลักนิยม ภารกิจ แนวความคิดในการปฏิบัติ แผนการใช้เวลา และมาตรการควบคุม

ก) หลักนิยม ที่สำคัญในระดับหมวดและหมู่ปืนเล็ก ได้แก่การฝึกตามแบบฝึกทำการรบ (battle drills) และระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) ในส่วนที่กำหนดวิธีการปฏิบัติภารกิจและวิธีการควบคุมส่วนต่าง ๆ เป็นต้น หลักนิยมทั้งสองรูปแบบนี้จะกำหนดขอบเขตการปฏิบัติที่แน่นอนเป็นมาตรฐานสำหรับกิจ (task) แต่ละกิจ ทำให้สามารถปฏิบัติได้รวดเร็วเป็นอัตโนมัติ ตอบโต้สถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ลดโอกาสที่จะเกิดความสับสน และสูญเสียความเป็นหน่วย รวมทั้งลดจำนวนครั้งที่ต้องตกลงใจ และสั่งการให้เหลือน้อยที่สุด

ข) คำแถลงภารกิจ (mission statement) ของหมวดปืนเล็ก ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการควบคุม องค์ประกอบของคำแถลงภารกิจในส่วน “ความมุ่งหมาย” (why) นั้นถือเป็นหลักสำหรับการตกลงใจ และเปิดโอกาสให้มีเสรีในการปฏิบัติ และองค์ประกอบในส่วน “กิจ” (task) ซึ่งเป็นกิจสำคัญยิ่ง (mission essential task) นั้น ถือว่าเป็นตัวกำหนดส่วนปฏิบัติหลัก (main effort) และสำหรับรวมการปฏิบัติอื่น ๆ มุ่งสู่การบรรลุภารกิจ

ค) แนวความคิดในการปฏิบัติจะแสดงให้เห็นถึงส่วนปฏิบัติ ส่วนปฏิบัติสนับสนุนของหน่วยเหนือ และแสดงให้เห็นว่าผู้บังคับหน่วยเหนือมองภาพการปฏิบัติภารกิจนั้นอย่างไร ผู้บังคับหน่วยที่เป็นส่วนปฏิบัติหลักจะได้รับเสรีในการปฏิบัติสูงสุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกันผู้บังคับหน่วยที่เป็นส่วนปฏิบัติสนับสนุนจะมีเสรีในการปฏิบัติน้อยกว่า ทั้งนี้เพราะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องตามการปฏิบัติของส่วนปฏิบัติหลัก นอกจากนี้แนวความคิดในการปฏิบัติยังระบุรายละเอียดของการควบคุมการยิงและควบคุมส่วนสนับสนุนการรบซึ่งช่วยเพิ่มอำนาจกำลังรบอื่น ๆ (เช่น ทหารช่าง เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น) ซึ่งจำเป็นต้องมีความประสานสอดคล้องและต้องรวมการสนับสนุนแก่ส่วนปฏิบัติหลักอีกด้วย

ง) เวลา เป็นเครื่องมืออีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้ควบคุมทั้งเป็นหน่วยและเป็นบุคคล ทั้งนี้ด้วยการกำหนดเวลาเริ่มต้นการปฏิบัติและสิ้นสุดการปฏิบัติที่แน่ชัด มาตรการควบคุมด้วยเวลานี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในกรณีที่หมวดปืนเล็กจะต้องปฏิบัติการให้สอดคล้องกับการปฏิบัติของหน่วยอื่น หรือกับส่วนสนับสนุนต่าง ๆ

จ) วิธีการควบคุมอื่น ๆ ได้แก่ การกำหนด และใช้มาตรการควบคุม เช่น คำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับหน่วยรอง คำสั่งยิง การใช้ภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ บนแผ่นบริวาร ในกรณีที่มีทางเลือกและสถานการณ์ไม่บีบบังคับ มาตรการควบคุมมักเป็นสิ่งกีดขวางเสรีในการปฏิบัติ ควรมีการทบทวนอย่างรอบคอบก่อนกำหนดให้หน่วยรอง เพื่อให้มีการควบคุมเพียงเท่าที่จำเป็น มาตร-การควบคุมที่ไม่มีความมุ่งหมายเจาะจงแน่ชัดและไม่จำเป็นแก่การบรรลุภารกิจไม่ควรนำมาใช้

จ. ผู้บังคับหมวดและผู้บังคับหมู่ปืนเล็ก ใช้ภารกิจแบบยุทธวิธี ในการปฏิบัติให้บรรลุภารกิจ ด้วยการออกคำสั่งและให้คำแนะนำในการปฏิบัติแก่หน่วยรอง โดยให้หน่วยรองเข้าใจเจตนารมณ์ของบังคับหน่วยชั้นเหนือขึ้นไป ภารกิจ (ซึ่งให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งกิจ : task และความมุ่งหมาย : purpose) ของหน่วยและแนวความคิดในการปฏิบัติพร้อมด้วยมาตรการควบคุม

ผู้บังคับหมวด และผู้บังคับหมู่ปืนเล็ก ใช้ภารกิจแบบยุทธวิธี เพื่อให้ผู้บังคับหน่วยรองเข้าใจและระลึกเสมอว่า ตนต้องสามารถริเริ่มและตกลงใจได้เองเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปดังที่วางแผนไว้ก่อนหน้านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น