วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คุณลักษณะของเทคนิคการเคลื่อนที่แบบต่าง ๆ

ก. เทคนิคการเคลื่อนที่ของหมู่ปืนเล็ก ผู้บังคับหมวดเป็นผู้พิจารณาและกำหนดเทคนิคการเคลื่อนที่ของหมู่ปืนเล็ก


๑) เทคนิคการเคลื่อนที่แบบเดินทาง ใช้เมื่อคาดว่าการปะทะกับข้าศึกยังไม่น่าจะเกิดขึ้น และต้องการความเร็วในการเคลื่อนที่
๒) เทคนิคการเคลื่อนที่แบบเดินทางเฝ้าตรวจ ใช้เมื่อมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกับข้าศึก (รูปที่ ๒ - ๒๐) อาวุธที่มาสมทบจะเคลื่อนที่ใกล้ ๆ กับผู้บังคับหมู่ และอยู่ในความควบคุมโดยตรงของผู้บังคับหมู่เพื่อให้สามารถใช้ได้ทันที
๓) เทคนิคการเคลื่อนที่แบบเฝ้าตรวจ – เคลื่อนที่สลับ ใช้เมื่อคาดว่าใกล้จะปะทะกับข้าศึก เมื่อผู้บังคับหมู่รู้สึกว่าอยู่ใกล้กับข้าศึก (จากความเคลื่อนไหว เสียง แสงสะท้อน ขยะ กลิ่นตัว หรือแม้แต่จิตสำนึกที่คิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น) และใช้เมื่อจำเป็นต้องผ่านพื้นที่อันตราย


ก) ชุดยิงที่เคลื่อนที่นำ ทำการระวังป้องกันก่อน โดยทหารทุกคนตรวจการณ์กวาดสายตาค้นหาข้าศึก โดยปกติผู้บังคับหมู่จะอยู่กับชุดยิงที่ทำหน้าที่ระวังป้องกัน (รูปที่ ๒ - ๒๑)

ข) ชุดยิงที่เคลื่อนที่ตาม จะเคลื่อนที่ผ่านชุดยิงนำไปข้างหน้า เมื่อเข้าที่วางตัวแล้วส่งสัญญาณให้ผู้บังคับหมู่ทราบ และทำหน้าที่ระวังป้องกันการเคลื่อนที่ของชุดยิงข้างหลังต่อไป

ค) หัวหน้าชุดยิงทั้งสองชุดต้องทราบว่าจะเคลื่อนที่ตามลำดับขั้นหรือแบบสลับ และต้องรู้ว่าผู้บังคับหมู่จะเคลื่อนที่ไปกับชุดยิงใด หัวหน้าชุดยิงที่ทำการระวังป้องกันอยู่จะต้องรู้เส้นทางและที่วางตัวซึ่งชุดยิงอีกชุดหนึ่งกำลังจะเคลื่อนที่ไป สำหรับหัวหน้าชุดยิงซึ่งกำลังเคลื่อนที่นั้นจะต้องรู้เส้นทางและที่หมาย ซึ่งจะไปวางตัวที่ตั้งข้าศึกที่อาจเป็นไปได้ และรู้การปฏิบัติเมื่อไปถึงที่วางตัวแล้ว นอกจากนี้ต้องรู้ถึงเส้นทางและที่วางตัวของชุดยิงที่กำลังระวังป้องกันอยู่ขณะนี้ รวมทั้งวิธีที่จะให้คำแนะนำแก่กันด้วย สำหรับวิธีการเคลื่อนที่ของทหารแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพการกำบังและซ่อนพรางตามเส้นทางเคลื่อนที่ของตนเป็นหลัก
๔) ชุดยิงอาจเคลื่อนที่แบบตามลำดับหรือสลับขั้นก็ได้ ซึ่งการเคลื่อนที่แบบตามลำดับนั้น จะง่ายแก่การควบคุม ส่วนการเคลื่อนที่แบบสลับขั้นจะเร็วกว่า
ข. เทคนิคการเคลื่อนที่ของหมวดปืนเล็ก ผู้บังคับหมวดเป็นผู้พิจารณาและกำหนดเทคนิคการเคลื่อนที่ของหมวด


๑) เทคนิคการเคลื่อนที่แบบเดินทาง ใช้เมื่อคาดว่าการปะทะกับข้าศึกยังไม่น่าจะเกิดขึ้น และต้องการความเร็วในการเคลื่อนที่
๒) เทคนิคการเคลื่อนที่แบบเดินทางเฝ้าตรวจ ใช้เมื่อมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกับข้าศึก แต่ยังคงต้องการความเร็ว (รูปที่ ๒ - ๒๔) ผู้บังคับหมวดจะเคลื่อนที่ในตำแหน่งที่สามารถควบคุมหมวดได้ดีที่สุด รองผู้บังคับหมวดเคลื่อนที่กับหมู่ปืนเล็กที่อยู่หลังสุด เพื่อกำกับดูแลมาตรการรักษาความปลอดภัย วินัยการใช้แสง – เสียง และระยะต่อระหว่างหมู่ หมู่ปืนเล็กที่เป็นหมู่นำใช้เทคนิคการเคลื่อนที่แบบเดินทางเฝ้าตรวจ แต่หมู่ปืนเล็กที่ตามหลังยังคงใช้เทคนิคการเคลื่อนที่แบบเดินทาง
) เทคนิคการเคลื่อนที่แบบเฝ้าตรวจ – เคลื่อนที่สลับ ใช้เมื่อคาดว่าใกล้จะปะทะกับข้าศึก (รูปที่ ๒ - ๒๕) อาจเคลื่อนที่ตามลำดับหรือสลับขั้นก็ได้


ก) หนึ่งหมู่เคลื่อนที่ไปยังที่วางตัวซึ่งเลือกไว้แล้ว จากนั้นทำหน้าที่เป็นส่วนเฝ้าตรวจและระวังป้องกัน เว้นแต่ว่าจะเกิดปะทะกับข้าศึกเสียก่อนในขณะการเคลื่อนที่ หมู่นี้อาจใช้เทคนิคแบบเดินทางเฝ้าตรวจ เฝ้าตรวจ – เคลื่อนที่สลับ หรือใช้เทคนิคการเคลื่อนที่เป็นบุคคลก็ได้ (เช่น การคลานสูง – คลานต่ำ หรือโผเป็นชุดยิง หรือเป็นคู่ก็ได้)
ข) หนึ่งหมู่เฝ้าตรวจระวังป้องกันให้กับการเคลื่อนที่ของหมู่ที่เคลื่อนที่จากที่วางตัวซึ่งมีการกำบัง สามารถเห็นและทำการยิงกดต่อตำบลที่สงสัยว่าจะเป็นที่ตั้งของข้าศึก ทหารแต่ละคนใช้เทคนิคการตรวจการณ์แบบมองกวาดให้ทั่วเขตที่ตนได้รับมอบหมาย ผู้บังคับหมวดยังคงอยู่กับหมู่ที่เฝ้าตรวจระวังป้องกัน และโดยปกติปืนกลของหมวดจะอยู่กับหมู่นี้ด้วยเช่นกัน


ค) อีกหนึ่งหมู่ วางตัวพร้อมคอยรับคำสั่ง หมู่นี้จะไม่ได้รับมอบกิจใดในระหว่างนั้น เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการตามคำสั่งของผู้บังคับหมวดได้ทันที รองผู้บังคับหมวด และผู้บังคับหมู่เตรียมพร้อมที่จะวางตัวคอยรับคำสั่งอยู่ใกล้ ๆ กับผู้บังคับหมวด
ง) ข้อพิจารณาของผู้บังคับหมวด เพื่อกำหนดที่วางตัวสำหรับหมู่ปืนเล็กที่จะเคลื่อนไปมีดังนี้


- ความต้องการของภารกิจ

- ที่ตั้งข้าศึกน่าจะอยู่ที่ใด

- เส้นทางที่จะใช้เคลื่อนที่ไปยังที่วางตัวระวังป้องกันเฝ้าตรวจแห่งใหม่

- ขีดความสามารถของอาวุธของส่วนระวังป้องกันเฝ้าตรวจที่จะคุ้มกันให้กับส่วน

เคลื่อนที่

- ความพร้อมที่จะปฏิบัติการของกำลังส่วนที่เหลือของหมวด

- พื้นการยิง ณ ที่วางตัวเฝ้าตรวจแห่งใหม่

จ) คำแนะนำของผู้บังคับหมวดก่อนทำการเคลื่อนที่ ผู้บังคับหมวดจะให้คำสั่งแก่ผู้บังคับหมู่ ณ บริเวณที่เฝ้าตรวจ มีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

- ทิศทาง หรือที่ตั้งกำลังข้าศึก (ถ้ารู้)

- บริเวณที่จะวางตัวของหมู่ปืนเล็กที่ทำหน้าที่เฝ้าตรวจ

- บริเวณที่จะวางตัวเฝ้าตรวจแห่งใหม่

- เส้นทางเคลื่อนที่ของหมู่ปืนเล็กที่จะเคลื่อนที่

- การปฏิบัติต่อไปหลังจากหมู่ปืนเล็กที่เคลื่อนที่ไปถึงที่วางตัวแล้ว

- สัญญาณซึ่งแสดงว่าหมู่ปืนเล็กที่เคลื่อนที่ถึงที่วางตัวแล้วนั้น พร้อมทำการ

เฝ้าตรวจ

- วิธีการที่หมู่ปืนเล็กจะได้รับคำสั่งต่อไป
ฉ) การใช้ปืนกล อาจใช้อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ วิธี ดังนี้


- สมทบทั้งสองกระบอกให้กับหมู่ที่เฝ้าตรวจ

- สมทบปืนกลกระบอกหนึ่งให้กับหมู่เฝ้าตรวจ และอีกกระบอกหนึ่งให้กับหมู่

เคลื่อนที่

วิธีแรกปืนกลทั้งสองกระบอกจำเป็นต้องเคลื่อนที่ทุกครั้งที่เปลี่ยนหมู่เฝ้าตรวจเป็นหมู่เคลื่อนที่ และหมู่เคลื่อนที่เป็นหมู่เฝ้าตรวจ
ค. เทคนิคการเคลื่อนที่เป็นบุคคล การเคลื่อนที่เป็นบุคคลประกอบด้วยการคลานสูง คลานต่ำ และการโผระยะสั้น ๆ จากที่วางตัวภายใต้การกำบังแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง (ใช้เวลาประมาณ ๓ - ๕ วินาที) รายละเอียดอยู่ใน คู่มือราชการสนาม ว่าด้วยบุคคลทำการรบ (รส.๒๑ - ๗๕)


ง. การเคลื่อนที่ในสถานการณ์อื่น ๆ ของหมวดปืนเล็ก

๑) การเคลื่อนที่ไปกับยานเกราะ รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยยานเกราะอยู่ใน ตอนที่ ๑๙

๒) การเคลื่อนที่ทางน้ำ โดยปกติหมวดปืนเล็กจะหลีกเลี่ยงการเคลื่อนที่ทางน้ำหากทำได้ แต่เมื่อจำเป็นต้องเคลื่อนที่ทางน้ำ ผู้บังคับหน่วยตรวจสอบว่ากำลังพลใดว่ายน้ำไม่เป็นหรือว่ายน้ำไม่เก่ง แล้วให้จับคู่กับผู้ที่ว่ายน้ำเก่งภายในหมู่ของตนเอง

ก) เมื่อหมวดปืนเล็กจำเป็นต้องเคลื่อนที่เข้าหา ผ่าน หรือออกจากแม่น้ำ บึง ลำธาร หรือพื้นที่ที่เป็นน้ำให้ถือว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่อันตราย เนื่องจากในขณะที่อยู่ในบริเวณพื้นที่เหล่านั้น หมวดปืนเล็กจะเปิดเผยตัวต่อข้าศึกและอยู่ในสภาพที่ล่อแหลม ดังนั้นจึงควรชดเชยความเสียเปรียบ ดังนี้

- เลือกเคลื่อนที่ในห้วงทัศนวิสัยจำกัด

- กระจายกำลัง

- ทำการพรางอย่างละเอียดรอบคอบ

- เคลื่อนที่ใกล้ฝั่งมากที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจจับ

ข) เมื่อเคลื่อนย้ายโดยเรือมากกว่า ๑ ลำ หมวดปืนเล็กควรปฏิบัติดังนี้

- รักษาความเป็นหน่วยทางยุทธวิธีและสามารถพึ่งตนเองได้

- พิจารณาบรรทุกกำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่สำคัญเฉลี่ยกันหลาย ๆ ลำ

- วิทยุต้องอยู่กับตัวผู้บังคับหน่วยเสมอ

ค) เมื่อไม่มีเรือ อาจใช้วิธีการอื่น ๆ แทน เช่น

- ว่ายข้าม

- ทำทุ่นลอยจากผ้ากันฝน

- ใช้ทุ่นยางอัดลม

- ใช้ถุงกันน้ำ

- ใช้เชือกขนาด ๗/๑๖ นิ้ว เป็นสะพานเชือกเส้นเดียว หรือใช้เป็นเชือกนิรภัย

- ทุ่นลอยแสวงเครื่องทำจากกางเกง

๓) การเคลื่อนย้ายทางยุทธวิธี (Tactical marches ) เป็นการเคลื่อนย้ายของหมวดในกรอบของกองร้อยมี ๒ วิธีคือ การเคลื่อนย้ายด้วยเท้าและการเคลื่อนย้ายด้วยยานยนต์

ก) การเคลื่อนย้ายด้วยเท้า ศึกษารายละเอียดได้จาก รส.๒๑ - ๑๘ ว่าด้วยการเดินทางด้วยเท้า

ข) การเคลื่อนย้ายด้วยยานยนต์ การปฏิบัติคงเหมือนกับการเคลื่อนที่ทางยุทธวิธีอื่น ๆ แต่มีลักษณะพิเศษที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม คือ

- การพิทักษ์หน่วย ควรมีกระสอบทรายวางเรียงบนพื้นรถเพื่อป้องกันทหารจากสะเก็ดทุ่นระเบิด

- การตรวจการณ์ ควรถอดโครงหลังคาและผ้าใบออกให้หมดเพื่อให้สามารถตรวจการณ์ได้รอบตัว และสามารถลงจากรถได้รวดเร็ว

- การตรวจสอบ ควรทำการตรวจสอบยานพาหนะและพลขับเพื่อดูความพร้อมรวมทั้งตรวจระดับน้ำมันเชื้อเพลิง และความเข้าใจของพลขับเรื่องเส้นทาง ความเร็ว และระยะต่อระหว่างยานพาหนะ เป็นต้น

- การบรรทุก ควรรักษาความเป็นหน่วย ชุดยิง หมู่และหมวด ตัวอย่างเช่น ชุดยิงและหมู่ควรอยู่บนรถค้นเดียวกัน และหมวดควรอยู่ในตอนการเดินทางเดียวกัน นอกจากนี้กำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่สำคัญควรเฉลี่ยบรรทุกอย่างเหมาะสมด้วย

- การซักซ้อม ควรซักซ้อมการปฏิบัติโดยฉับพลันเมื่อปะทะข้าศึก เช่น การต่อต้านการซุ่มโจมตีระยะใกล้/ระยะไกล การโจมตีทางอากาศ เป็นต้น และพลขับก็ต้องมีความเข้าใจด้วย

- การระวังภัยทางอากาศ ควรจัดยามอากาศไว้บนรถทุกคัน

๔) การเคลื่อนที่ภายใต้สภาพทัศนวิสัยจำกัด หมวดปืนเล็กต้องสามารถเคลื่อนที่ และปฏิบัติงานได้ทั้งในเวลากลางคืนและในห้วงทัศนวิสัยจำกัดเหมือนกับปฏิบัติในเวลากลางวัน คือยังคงสามารถควบคุมหน่วย รักษาทิศทาง ระวังป้องกัน เคลื่อนที่ และลักลอบเข้าพื้นที่ได้

ก) การควบคุมในขณะทัศนวิสัยเลว วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้การควบคุมยังคงทำได้สะดวก

- กำหนดกำลังพลที่จะใช้เครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืน

- ผู้บังคับหน่วยต่าง ๆ เคลื่อนที่ค่อนไปข้างหน้า

- ลดความเร็วลง

- ทหารแต่ละคนใช้แถบเรืองแสงติดหมวกเหล็กด้านหลัง เพื่อให้คนที่อยู่ข้างหลังมองเห็นคนข้างหน้าได้

- ลดระยะต่อระหว่างบุคคลและระหว่างหน่วยลง เพื่อให้สามารถมองเห็นกันได้

- ผู้บังคับหน่วยแต่ละหน่วยสำรวจยอดกำลังพลตามห้วงเวลา และทุกครั้งหลังจากการหยุดหน่วย เพื่อทราบและรักษายอดกำลังพลตลอดเวลา

ข) การรักษาทิศทางเคลื่อนที่

- ใช้ทิศทางเคลื่อนที่ประกอบกับจุดเด่นบนแผนที่และบนภูมิประเทศจริง

- ใช้การต่อระยะประกอบกับมุมภาคเข็มทิศ เมื่อสิ้นสุดแต่ละระยะที่ต่อออกไปจะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของทิศทางทุกครั้ง

- ใช้เส้นทางเคลื่อนที่ ซึ่งขนานกับลักษณะภูมิประเทศที่สังเกตเห็นได้ชัด

- ใช้เส้นทางที่มีการนำทาง หรือทำเครื่องหมายไว้แล้ว

- ใช้เรดาร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวบนพื้นดิน สำหรับบอกทิศทางที่ถูกต้องให้กับฝ่ายเรา

- ใช้เครื่องมือบอกที่ตั้งหน่วย

ค) การระวังป้องกัน เพื่อการลักลอบและการระวังป้องกัน หมู่และหมวดปืนเล็กควรปฏิบัติดังนี้

- กำหนดตัวผู้ชี้ตำบลและทิศทางสำคัญ เพื่อดำรงความพร้อมและตื่นตัว หัวหน้าชุดยิงนำทำหน้าที่รักษาทิศทาง และกำหนดตัวพลนับก้าวทำหน้าที่คำนวณระยะทางที่เดินได้ รวมทั้งจัดพลเข็มทิศ และพลนับก้าวสำรองไว้ด้วย

- ระงับการสูบบุหรี่ การใช้แสงและเสียง

- ไม่ใช้วิทยุ แต่เปิดไว้ และเฝ้าฟัง

- ทำการพรางทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์

- ใช้ภูมิประเทศที่หลีกเลี่ยงการตรวจจับโดยเครื่องมือเฝ้าตรวจ และเครื่องมือตรวจการณ์ในเวลากลางคืนของข้าศึก

- หยุดหน่วยเพื่อเฝ้าฟังบ่อย ๆ

- กลบเกลื่อนเสียงดังจากการเคลื่อนที่ด้วยการยิงของปืนใหญ่

ง) วิธีเดินในเวลากลางคืน ประสิทธิภาพในการเดินเวลากลางคืนย่อมได้มาจากการฝึก ในการเดินทหารต้องมองไปข้างหน้าค่อย ๆ ยกเท้าขวาก้าวไปข้างหน้าแล้ววางลงห่างจากเท้าซ้ายประมาณ ๖ นิ้ว โดยวางปลายเท้าลงก่อน ขณะที่เริ่มวางปลายเท้าลงให้พยายามใช้ความรู้สึกสังเกตสลักหรือลวดสะดุดก่อนจึงค่อย ๆ วางเท้าลงบนพื้นดินเต็มที่ การเดินต้องมีความเชื่อมั่นว่า แต่ละก้าว เท้าต้องมั่นคงและวางลงอย่างเงียบ ระหว่างเคลื่อนที่โน้มน้ำหนักตัวไปข้างหน้า ระแวดระวังทุกฝีก้าวทำเช่นนี้เรื่อยไป ซึ่งเทคนิคในการเดินเวลากลางคืนนี้จะต้องใช้เวลาในการเดินทางนานมาก

จ) การเดินแบบลักลอบ (Stalking) ใช้เพื่อเคลื่อนที่เข้าใกล้ยาม หน่วยลาดตระเวนหรือฐานของข้าศึกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็คือการเดินในเวลากลางคืนโดยการเคลื่อนตัวต่ำ ๆ อย่างช้า ๆ นั่นเอง ระหว่างเคลื่อนที่ต้องมองดูข้าศึกตลอดเวลา เมื่อเข้าใกล้ข้าศึกต้องหรี่ตาลงเพื่อป้องกันแสงสะท้อนจากนัยน์ตา หายใจอย่างช้า ๆ ผ่านจมูก หากข้าศึกตรวจการณ์มาตรงทิศที่วางตัวอยู่พอดี ต้องหยุดการเคลื่อนไหวทั้งหมดทันที ใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศที่เป็นฉากหลัง ไม่ให้เกิดการสะท้อนแรงหรือเกิดภาพตัดกับธรรมชาติ การเคลื่อนที่จะกระทำพร้อม ๆ กับสภาพที่ช่วยหันเหหรือกลบเกลื่อนความสนใจต่าง ๆ เช่น ลมกระโชก เสียงยานพาหนะ เสียงพูดคุยกัน หรือเสียงจากการยิงอาวุธต่าง ๆ บริเวณใกล้เคียง

๒ - ๑๑ การปฏิบัติ ณ พื้นที่อันตราย

พื้นที่อันตราย หมายถึง พื้นที่ใด ๆ บนเส้นทางเคลื่อนที่ ซึ่งผู้บังคับหมวดรู้แล้วจากการประมาณสถานการณ์ว่า ณ ที่นั้นหมวดของตนจะเปิดเผยต่อการตรวจการณ์ การยิง หรือทั้งสองอย่างจากฝ่ายข้าศึก ซึ่งโดยปกติจะพยายามหลีกเลี่ยงแต่หากจำเป็นแล้วจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งและด้วยความรวดเร็วมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ก. ประเภทของพื้นที่อันตราย ตัวอย่างและวิธีการผ่านพื้นที่อันตรายประเภทต่าง ๆ มีดังนี้

๑) พื้นที่โล่ง ทำการกำบังหน่วยไว้ ณ ฝั่งใกล้และตรวจการณ์ทั่วพื้นที่ จัดส่วนระวังป้องกันเพื่อการแจ้งเตือนแต่เนิ่น ส่งกำลังส่วนหนึ่งข้ามไปกวาดล้างพื้นที่ฝั่งไกล หลังจากตรวจสอบกวาดล้างพื้นที่จนมั่นใจว่าปลอดภัยแล้ว จึงให้กำลังส่วนที่เหลือเคลื่อนที่ตามไปโดยใช้เส้นทางที่สั้นที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

๒) ถนนและทางเกวียน ข้ามบริเวณส่วนโค้ง ณ จุดที่แคบและบริเวณที่ต่ำ

๓) หมู่บ้าน ผ่านทางด้านใต้ลม และห่างจากหมู่บ้านให้มาก หลีกเลี่ยงสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขซึ่งจะทำให้เปิดเผยที่อยู่ของหมวด

๔) ที่ตั้งของข้าศึกผ่านทางด้านใต้ลม (ข้าศึกอาจมีสุนัขลาดตระเวน) ระมัดระวังลวดสะดุดและเครื่องมือเตือนภัยต่าง ๆ

๕) สนามทุ่นระเบิด หลีกเลี่ยงการผ่านอย่างที่สุด แม้จะต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินอื่นซึ่งไกลกว่าก็ตามแต่เมื่อจำเป็นต้องผ่าน จะใช้วิธีกวาดล้างรื้อถอนสนามทุ่นระเบิดพอเป็นช่องทางเดิน

๖) ลำธาร เลือกข้ามบริเวณแคบที่สุดและให้การกำบังทั้งสองด้าน ตรวจการณ์ฝั่งไกลอย่างละเอียด จัดส่วนระวังป้องกันทั้งฝั่งใกล้และฝั่งไกลเพื่อแจ้งเตือนแต่เนิ่น ๆ กวาดล้างพื้นที่ฝั่งไกล หลังจากนั้นทำการข้ามอย่างรวดเร็วและเงียบที่สุด

๗) เครื่องกีดขวางลวดหนาม พยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนที่ผ่าน เพราะข้าศึกย่อมคุ้มครองเครื่องกีดขวางไว้ด้วยการตรวจการณ์และการยิง

ข. การข้ามผ่านพื้นที่อันตราย เมื่อหมวดปืนเล็กเคลื่อนที่ข้ามผ่านพื้นที่อันตรายโดยอิสระ หรือปฏิบัติการในฐานะเป็นหน่วยนำของกำลังส่วนใหญ่ จะต้องปฏิบัติดังนี้

- กำหนดจุดนัดพบทั้งฝั่งใกล้และฝั่งไกล

- วางกำลังระวังป้องกันพื้นที่ฝั่งใกล้ (ปีกขวา ปีกซ้ายและด้านหลัง)

- ลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศและระวังป้องกันพื้นที่ฝั่งไกล

- ทำการข้ามพื้นที่อันตราย

๑) ผู้บังคับหมวด หรือผู้บังคับหมู่จะตัดสินใจเคลื่อนที่ข้ามผ่านพื้นที่อันตรายวิธีใดขึ้นอยู่กับเวลาที่มีอยู่ ขนาดหน่วย ขนาดของพื้นที่อันตราย พื้นการยิงไปยังพื้นที่นั้น และจำนวนที่ตรวจการณ์ /ระวังป้องกันที่สามารถจัดตั้งได้ หน่วยขนาดเล็กอาจข้ามผ่านครั้งเดียวพร้อมกันทั้งหน่วย เป็นคู่ (Buddy) หรือเป็นบุคคลก็ได้ ส่วนหน่วยทหารขนาดใหญ่นั้นจะข้ามผ่านทีละส่วน ซึ่งแต่ละส่วนอาจเคลื่อนที่ไปวางตัวเป็นส่วนเฝ้าตรวจ หรืออาจมุ่งตรงไปยังจุดนัดพบ ณ ฝั่งใกล้ก็ได้จนกว่าจะได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่ต่อไป

๒) เพื่อรักษาความหนุนเนื่องในการเคลื่อนที่ หมวดปืนเล็กที่เคลื่อนที่ตามหลังจะข้ามพื้นที่อันตรายได้เลยโดยไม่ต้องทำการลาดตระเวนหรือจัดตั้งส่วนระวังป้องกัน ณ ฝั่งไกล หมวดปืนเล็กที่เคลื่อนที่นำจะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทนกำลังทั้งหมด

หมายเหตุ : พื้นที่วางกำลังระวังป้องกัน ณ ฝั่งใกล้ต้องกว้างพอสำหรับการวางกำลังส่วนที่เหลือทั้งหมดด้วย

ค. หมวดปืนเล็กเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่อันตรายซึ่งเป็นแนวตรง ผู้บังคับหมวดเป็นผู้กำหนดรูปขบวนและที่ตั้งของส่วนต่าง ๆ เมื่อเคลื่อนที่ถึงฝั่งไกลต้องทำการสำรวจยอดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ แล้วเตรียมการปฏิบัติต่อไป
๑) เมื่อชุดนำให้สัญญาณ “ พื้นที่อันตราย ” (มีการส่งสัญญาณต่อ ๆ กันไปทั้งหมด) ผู้บังคับหมวดจะสั่งหยุดหน่วย


๒) ผู้บังคับหมวดเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเพื่อตรวจการณ์พื้นที่อันตราย และพิจารณาเทคนิคที่จะใช้ในการข้ามผ่าน รองผู้บังคับหมวดเคลื่อนที่ตามไปกับผู้บังคับหมวดด้วย

๓) ผู้บังคับหมวดแจ้งข่าวสารแก่ผู้บังคับหมู่ และกำหนดจุดนัดพบ ณ ฝั่งใกล้และฝั่งไกล

๔) รองผู้บังคับหมวดเป็นผู้กำหนดที่ตั้งของส่วนระวังป้องกัน ณ ฝั่งใกล้ (โดยปกติจะใช้หมู่ที่เคลื่อนที่ตามหลัง) ส่วนระวังป้องกันทั้งสองส่วนนี้อาจเคลื่อนที่ตามรองผู้บังคับหมวดขึ้นไป เมื่อเริ่มหยุดหน่วยตามสัญญาณที่สื่อต่อ ๆ กันไปทั้งหมดแล้ว

๕) ผู้บังคับหมวดทำการลาดตระเวนพื้นที่อันตราย เพื่อกำหนดจุดที่จะทำการข้ามผ่าน ซึ่ง ณ จุดนั้นต้องให้การกำบังและซ่อนพรางดีที่สุด

๖) ส่วนระวังป้องกัน ณ ฝั่งใกล้ ตรวจการณ์ทางปีก และเฝ้าตรวจระวังป้องกันให้กับกำลังที่เคลื่อนที่ข้าม

๗) เมื่อส่วนระวังป้องกัน ณ ฝั่งใกล้เข้าประจำที่แล้ว ผู้บังคับหมวดจะสั่งการให้ส่วนระวังป้องกัน ณ ฝั่งไกลเริ่มเคลื่อนที่ข้ามก่อน

๘) ส่วนระวังป้องกัน ณ ฝั่งไกลลาดตระเวนกวาดล้างพื้นที่

๙) หัวหน้าชุดยิงซึ่งเป็นส่วนระวังป้องกันฝั่งไกล จัดตั้งที่ตรวจการณ์ออกไปข้างหน้าพื้นที่ที่กวาดล้างจนปลอดภัยแล้ว

๑๐) ส่วนระวังป้องกันฝั่งไกลให้สัญญาณแก่ผู้บังคับหมู่เมื่อพื้นที่ปลอดภัย และผู้บังคับหมู่สื่อต่อสัญญาณให้ผู้บังคับหมวดทราบ

๑๑) ผู้บังคับหมวดตัดสินใจเลือกวิธีการข้ามพื้นที่อันตราย

๑๒) หมวดปืนเล็กทำการข้ามพื้นที่อันตรายอย่างรวดเร็วและเงียบ

๑๓) หลังจากผ่านพ้นพื้นที่อันตรายแล้ว กำลังส่วนใหญ่ค่อย ๆ เริ่มต้นเคลื่อนที่ตามทิศทางเคลื่อนที่เดิมต่อไป

๑๔) ส่วนระวังป้องกันฝั่งใกล้ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของรองผู้บังคับหมวด เคลื่อนที่ผ่านพื้นที่อันตราย ณ บริเวณที่หมวดทำการข้ามผ่าน หลังจากนั้นอาจได้รับมอบหมายให้กลบเกลื่อนร่องรอยต่าง ๆ ที่หมวดอาจทำให้เกิดขึ้นระหว่างการข้าม

๑๕) รองผู้บังคับหมวดตรวจสอบให้มั่นใจว่าทุกคนได้ข้ามผ่านพื้นที่ไปหมดแล้ว และรายงานให้ผู้บังคับหมวดทราบ

๑๖) ผู้บังคับหมวดตรวจสอบยอดกำลังพลให้มั่นใจ แล้วเคลื่อนที่ต่อไปตามความเร็วปกติ

หมายเหตุ : หน่วยขนาดเล็กกว่าหมวดปืนเล็กก็คงใช้หลักการเดียวกันนี้

ง. การเคลื่อนที่ข้ามพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ พื้นที่โล่งขนาดใหญ่หมายถึงพื้นที่ที่หมวดปืนเล็กไม่สามารถอ้อมผ่านได้ เนื่องจากจะไม่มีเวลาพอสำหรับปฏิบัติภารกิจ (รูปที่ ๒ -๒๘) เทคนิคการเคลื่อนที่จะใช้ผสมผสานกันระหว่างการเดินทางเฝ้าตรวจและการเฝ้าตรวจ – เคลื่อนที่สลับ โดยการเดินทางเฝ้าตรวจใช้เพื่อให้ได้ความเร็ว แต่เมื่อเคลื่อนที่ถึงบริเวณที่คาดว่าอาจเกิดการปะทะกับข้าศึกได้ หรือเมื่อเคลื่อนที่ถึงระยะยิงจากอาวุธปืนเล็ก (ประมาณ ๒๕๐ เมตร) นับจากฝั่งไกล หมวดและหมู่จะใช้เทคนิคการเคลื่อนที่แบบเฝ้าตรวจ – เคลื่อนที่สลับ หลังจากผ่านพ้นพื้นที่อันตรายแล้ว ทำการจัดรูปขบวนเดินทาง แล้วเคลื่อนที่เพื่อปฏิบัติภารกิจต่อไป
จ. การเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่โล่งขนาดเล็ก พื้นที่โล่งขนาดเล็กเป็นพื้นที่ที่สามารถอ้อมผ่านได้ถ้ามีเวลาพอ มีเทคนิคการข้ามอยู่ ๒ แบบ คือ


๑) อ้อมผ่านเป็นมุมฉาก เป็นการอ้อมผ่านโดยเลี้ยวเป็นมุมฉาก เริ่มจากทางขวาหรือซ้ายก่อนให้พ้นขอบด้านฝั่งใกล้ ด้านข้าง และฝั่งไกล ตามลำดับ ต่อจากนั้นปฏิบัติภารกิจต่อไป ระยะนับก้าวในการเลี้ยวฉาก จะไม่นับรวมเป็นระยะทางตามแผน

๒) อ้อมผ่านตามขอบของพื้นที่โล่งขนาดเล็ก ผู้บังคับหมวดกำหนดจุดนับพบ ณ ฝั่งไกลด้วยมุมภาคทิศ เลือกด้านที่จะอ้อมผ่าน (หลังจากพิจารณาระยะทาง ภูมิประเทศ การกำบังและการซ่อนพรางแล้ว) จากนั้นเริ่มเคลื่อนที่อ้อมผ่านโดยอาศัยแนวพืชพันธุ์ไม้เป็นเครื่องกำบังและซ่อนพราง เมื่อเคลื่อนที่ถึงจุดนัดพบแล้วผู้บังคับหมวดจะกลับไปใช้มุมภาคทิศของที่หมายก่อนการอ้อมผ่านและเริ่มปฏิบัติภารกิจต่อไป
ฉ. การปฏิบัติเมื่อปะทะข้าศึกบริเวณพื้นที่อันตราย หากหมวดปืนเล็กปะทะกับข้าศึกในพื้นที่อันตราย หรือบริเวณรอบพื้นที่อันตราย ดูรูปที่ ๒ - ๓๐ แสดงการปะทะบริเวณฝั่งไกล รูปที่ ๒ - ๓๑ เป็นการปะทะบนถนนหรือเส้นทาง และรูปที่ ๒ - ๓๒ ปะทะข้าศึกบริเวณฝั่งใกล้


หมายเหตุ : การปฏิบัติเมื่อเกิดการปะทะหมู่ปฏิบัติเช่นเดียวกับหมวดปืนเล็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น