วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การลาดตระเวนซุ่มโจมตี

การลาดตระเวนซุ่มโจมตี


ในตอนที่ ๕ นี้จะอธิบายถึงหน่วยลาดตระเวนรบในภารกิจที่ได้รับมอบให้ปฏิบัติการซุ่มโจมตี เพื่อรบกวนและทำลายข้าศึก และหรือจับข้าศึกเป็นเชลยและยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ การซุ่มโจมตีจะลดอำนาจกำลังรบโดยรวมของฝ่ายก่อความไม่สงบ วัตถุประสงค์หลักของการซุ่มโจมตีก็คือ การทำลายกำลังของข้าศึก ทั้งนี้ฝ่ายก่อความไม่สงบจะถูกสังหารหรือจับเป็นเชลย นอกจากนี้ยุทโธปกรณ์หรือสิ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ จะถูกทำลายหรือยึด ซึ่งจะส่งผลอย่างวิกฤติต่อกำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบ วัตถุประสงค์รองของการซุ่มโจมตีคือ การรบกวนซึ่งจะเบี่ยงเบนฝ่ายก่อความไม่สงบออกจากภารกิจอื่น การซุ่มโจมตีที่ได้รับความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จะทำให้กำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบต้องเปลี่ยนวิธีการจากการรุก มาเป็นการรับมากขึ้น ; มีความหวาดระแวงและกังวลเพิ่มมากขึ้น ; มีความกลัวและลังเลที่จะออกลาดตระเวน หรือเคลื่อนที่ในรูปขบวน หรือเคลื่อนที่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ

(สำหรับรายละเอียดในเรื่องการวางแผนการซุ่มโจมตี และหลักการพื้นฐานต่าง ๆ จะไม่ปรากฏอย่างชัดเจนในตอนที่ ๕ นี้ หากต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม ให้ดู รส.๙๐ - ๘)

ค – ๑๖ ประเภทของการซุ่มโจมตี

การซุ่มโจมตีมีอยู่ ๒ ประเภท คือ การซุ่มโจมตีเป็นจุด และการซุ่มโจมตีเป็นพื้นที่ การซุ่มโจมตีเป็นจุด ประกอบด้วย การใช้ส่วนลาดตระเวนเข้าสนับสนุนการโจมตีในพื้นที่สังหารเพียงแห่งเดียว สำหรับการซุ่มโจมตีเป็นพื้นที่นั้น ประกอบด้วย การใช้ส่วนลาดตระเวนทำการซุ่มโจมตีหลายแห่ง, สนับสนุนซึ่งกันและกัน และซุ่มโจมตีเป็นจุด

ก. การซุ่มโจมตี อาจเป็นได้ทั้งแบบเร่งด่วนและแบบประณีต การซุ่มโจมตีเร่งด่วนเป็นการปฏิบัติอย่างรวดเร็วตามแบบการฝึกทำการรบ – การปฏิบัติของหน่วยลาดตระเวนรบซึ่งได้รับข่าวสารน้อย หรือยังไม่ได้รับข่าวสารเลย ในกรณีที่มีข่าวสารไม่เพียงพอที่จะวางแผนได้อย่างละเอียด เพื่อทำการซุ่มโจมตีแบบประณีต ก็จำเป็นต้องวางแผนการซุ่มโจมตีแบบเร่งด่วน ชุดลาดตระเวนซุ่มโจมตีวางแผนและเตรียมการที่จะโจมตีกำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบส่วนแรก การซุ่มโจมตีแบบประณีตนั้น จะวางแผนการปฏิบัติเป็นการเฉพาะต่อเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับข่าวสารในรายละเอียดเกี่ยวกับกำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบ : ขนาดของกำลัง, ลักษณะนิสัย, การจัด, อาวุธ, ยุทโธปกรณ์, เส้นทางและทิศทางการเคลื่อนที่, รวมทั้งเวลาที่กำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบจะผ่านมายังตำบลที่แน่นอนตามเส้นทาง การวางแผนการซุ่มโจมตีแบบประณีต จะกระทำเมื่อ.-

(๑)ได้รับข่าวสารที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวตามเจตนารมณ์ของกำลังส่วนหนึ่งส่วนใด

(๒) ชุดลาดตระเวน, ขบวนยานยนต์, ชุดลำเลียง หรือกำลังในลักษณะดังกล่าวได้มีการปรากฏรูปแบบของขนาด, เวลา และการเคลื่อนที่ ทำให้ฝ่ายเราสามารถวางแผนได้อย่างละเอียดสำหรับการซุ่มโจมตี

ข. หน่วยจะปฏิบัติการลาดตระเวนรบ, ก่อนออกปฏิบัติการ, วางแผนและซักซ้อมการซุ่มโจมตีต่อฝ่ายก่อความไม่สงบที่อาจเคลื่อนที่มาพบกัน โดยหน่วยจะกำหนดและซักซ้อมการซุ่มโจมตีเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้

ค – ๑๗ การวางกำลังซุ่มโจมตี

การซุ่มโจมตีเป็นจุด ทั้งในโอกาสที่กระทำโดยอิสระ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการซุ่มโจมตีเป็นพื้นที่ จะวางตัวซุ่มโจมตีตามเส้นทางที่คาดว่าฝ่ายก่อความไม่สงบจะเคลื่อนที่เข้ามา รูปขบวนเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นตัวกำหนดว่าการซุ่มโจมตีเป็นจุดนั้นจะสามารถก่อให้เกิดอำนาจการยิงอย่างหนาแน่นเพื่อที่จะโดดเดี่ยว, สกัดกั้น และทำลายกำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบ

ก. รูปขบวนที่จะใช้จะถูกพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยมุ่งเน้นถึงความเป็นไปได้ของรูปขบวน รวมทั้งข้อดีและข้อเสียในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภูมิประเทศ; เงื่อนไขเรื่องทัศนวิสัย, กำลัง, อาวุธ และยุทโธปกรณ์, ความง่ายและยากต่อการควบคุม, กำลังที่จะถูกโจมตี และสถานการณ์ด้านการรบ

ข. รูปขบวนจะถูกกำหนดขึ้นสำหรับใช้ในการซุ่มโจมตีเป็นจุด รูปขบวนจะถูกกำหนดโดยใช้ชื่อเรียกตามรูปแบบของการวางกำลังในย่านกลางของส่วนโจมตี ซึ่งประกอบด้วย :

• รูปขบวนหน้ากระดาน

• รูปขบวนตัว Z

• รูปขบวนตัว T

• รูปขบวนตัว V

• รูปขบวนสามเหลี่ยม

• รูปขบวนสี่เหลี่ยม (กล่อง)

(สำหรับรายละเอียดในเรื่องความแตกต่างของรูปขบวนการซุ่มโจมตีเป็นจุด, ข้อดีและข้อเสียของแต่ละแบบ จะอธิบายไว้ใน รส.๙๐ - ๘)





ค – ๑๘ รูปขบวนการวางกำลังซุ่มโจมตีเป็นพื้นที่

รูปขบวนการวางกำลังซุ่มโจมตีเป็นพื้นที่ ประกอบด้วย ๒ แบบ คือ การวางกำลังหลายจุด และการวางกำลังแบบเหยื่อล่อ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน รส.๙๐ - ๘)

ก. การวางกำลังหลายจุด การวางกำลังซุ่มโจมตีเป็นพื้นที่แบบนี้ เหมาะที่จะใช้ใน ภูมิประเทศซึ่งจำกัดการเคลื่อนที่ให้มาตามเส้นทาง ซึ่งสามารถใช้ได้ผลดีที่สุดเมื่อซุ่มโจมตีแบบประณีต แต่ในกรณีที่มีข้อมูลข่าวกรองไม่พอเพียงที่จะทำการซุ่มโจมตีแบบประณีต ก็อาจกำหนดพื้นที่ซุ่มโจมตีตามห้วงเวลาขึ้นมาก็ได้ กำลังซุ่มโจมตีที่วางอยู่ด้านนอกสามารถโจมตีต่อกำลังขนาดย่อยของข้าศึกที่เคลื่อนที่เข้ามาในพื้นที่สังหาร แต่ถ้าหากกำลังฝ่ายข้าศึกมีจำนวนมากเกินไปสำหรับส่วนซุ่มโจมตีที่อยู่ด้านนอก ก็จำเป็นต้องปล่อยให้ฝ่ายข้าศึกเคลื่อนที่เข้ามาจนถึงย่านกลางของพื้นที่สังหาร

ข. การวางกำลังแบบเหยื่อล่อ การวางกำลังซุ่มโจมตีเป็นพื้นที่แบบนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยการใช้สถานที่ตั้งที่กำหนดไว้ในลักษณะของเหยื่อ เพื่อล่อความสนใจหรือดึงกำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบให้เข้ามาในพื้นที่สังหารของกำลังซุ่มโจมตีที่อยู่ด้านนอกหนึ่งชุดหรือมากกว่า สถานที่ตั้งนั้นจะกลายเป็นย่านกลางของพื้นที่สังหารและถูกโจมตี การโจมตีนี้จะใช้เพื่อทำลายหรืออาจใช้เพื่อเป็นกลลวงก็ได้





ผนวก ง

การปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง

ในผนวกนี้จะอธิบายถึงการปฏิบัติการหลักใน ๕ กิจ ที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาความมั่นคงภายในและการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการป้องกันภายในของต่างประเทศนอกเหนือไปจากการปฏิบัติการทางยุทธวิธี ซึ่งได้แก่ การข่าวกรอง, การปฏิบัติการจิตวิทยา, การปฏิบัติกิจการพลเรือน, การควบคุมประชาชนและทรัพยากร และการช่วยเหลือให้การปรึกษาและแนะนำ ในขณะที่ ผบ.หน่วย มุ่งเน้นกับการปฏิบัติการทางยุทธวิธีในแผนการยุทธ์ และโจมตีนั้น ก็จะต้องตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการปฏิบัติการใน ๕ กิจหลักนี้ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในแผนงานการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ ในแผนการยุทธ์เกี่ยวกับการขยายผลนั้น การปฏิบัติการใน ๕ กิจหลัก จะเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น และการปฏิบัติการทางยุทธวิธีจะกลายเป็นบทบาทสนับสนุนไป ในขณะที่การปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งจะเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น, การปฏิบัติการใน ๕ กิจหลัก จะเกิดขึ้นในขณะเดียวกันและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง







ตอนที่ ๑

การข่าวกรอง

ในขณะที่กำลังปฏิบัติงานการต่อต้านการก่อความไม่สงบนั้น ประชาชน ถือว่าเป็นแหล่งข่าวที่สำคัญ เนื่องจากความขัดแย้งจะเกิดขึ้นในหมู่ของประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงมักจะเป็นแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสามารถใช้การขยายผลต่อไปได้

ง – ๑ แหล่งข้อมูลข่าวสาร

ระบบงานการข่าวกรองในการรักษาความมั่นคงภายใน ประกอบด้วย ระบบงานการข่าวกรองของหน่วยทหารและหน่วยงานพลเรือนของประเทศเจ้าภาพร่วมกับแหล่งข่าวกรองของสหรัฐ ฯ ที่ได้รับมอบสิทธิและหน้าที่จากประเทศเจ้าภาพ เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ จะประสานงานและบูรณาการกันภายใต้การอำนวยการกำกับดูแลที่มีเอกภาพภายในศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงภายในแห่งชาติ หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งชาติ

ก. แหล่งข่าวกรองของกองกำลังที่ได้รับมอบหน้าที่ในการปฏิบัติการ จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานการข่าวกรอง หน่วยงานระดับชาติมักจะมุ่งเน้นเป้าหมายซึ่งเป็นความต้องการทางยุทธศาสตร์มากกว่า ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระบบและข่ายงานด้านการข่าวกรองในระยะยาว แต่หน่วยงานข่าวกรองของกองกำลังป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ มักจะมุ่งเน้นเป้าหมาย ซึ่งเป็นความต้องการทางด้านยุทธวิธีในสนามรบ และใช้ประโยชน์จากระบบงานการข่าวกรองระดับชาติ

ข. ในการรักษาความมั่นคงภายในของต่างชาตินั้น ความต้องการข่าวกรองของหน่วยจะมีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ ด้านการเตรียมการ, ด้านการช่วยเหลือและให้คำแนะนำ และด้านการสนับสนุนให้กับหน่วยงานของสหรัฐ ฯ

(๑) ด้านการเตรียมการความต้องการข่าวกรองจะถูกจัดทำและใช้ประโยชน์ เพื่อการคาดการณ์ล่วงหน้าในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ ผลผลิตด้านการข่าวกรองนี้จะสนองความต้องการในยามฉุกเฉิน ตัวอย่างของความต้องการข่าวกรองเหล่านี้ ได้แก่ ภูมิหลังประวัติบุคคล, การศึกษาพื้นที่ปฏิบัติการและคำสั่งการรบสำหรับกองกำลังของพวกก่อความไม่สงบ ในพื้นที่ที่น่าจะเข้าร่วมในการก่อความไม่สงบ

(๒) ด้านการช่วยเหลือและให้คำแนะนำ การช่วยเหลือและให้คำแนะนำจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับหน่วยงานการข่าวกรองของประเทศเจ้าบ้าน

(๓) ด้านการสนับสนุนให้กับหน่วยงานของสหรัฐ ฯ ความต้องการข่าวกรองนี้จะสนองความต้องการทางด้านยุทธการของหน่วยงานสหรัฐ ฯ ที่ได้รับมอบหน้าที่

ค. วัตถุประสงค์ขั้นต้นบางประการของหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐ ฯ ในการรักษาความมั่นคงภายในของต่างชาติ ได้แก่.-

(๑) พิจารณากำหนดสิ่งบอกเหตุของการก่อความไม่สงบที่จะเกิดขึ้น

(๒) เพื่อให้ได้มาและพัฒนาข่าวกรองเกี่ยวกับข้าศึก ซึ่งสามารถนำไปใช้ในปฏิบัติการโจมตีอย่างได้ผลแตกหักและเฉียบขาด โดยกองกำลังของสหรัฐ ฯ

(๓) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้ก่อความไม่สงบ, ลมฟ้าอากาศ, ภูมิประเทศ และประชาชน

(๔) เพื่อลดโอกาสและความเป็นไปได้ในการจารกรรม, บ่อนทำลาย และก่อวินาศกรรมให้เหลือน้อยที่สุด

(๕) พิสูจน์ทราบและระบุแหล่งที่มาของความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

(๖) พิสูจน์ทราบลักษณะธรรมชาติที่แท้จริง, เป้าหมาย, ลักษณะผู้นำ, ศักยภาพและหนทางปฏิบัติที่น่าจะเป็นไปได้ของพวกก่อความไม่สงบ

(๗) พิสูจน์ทราบ และเจาะโครงสร้างภายในของฝ่ายก่อความไม่สงบ

ง – ๒ ผลผลิตด้านการข่าวกรอง

ผลผลิตด้านการข่าวกรองในการปฏิบัติการ ปปส. ในภารกิจการรักษาความมั่นคงภายใน ต่างชาติจะดำเนินการโดยเป็นไปตามวงรอบข่าวกรอง วงรอบดังกล่าวประกอบด้วย กำหนดความต้องการข่าวกรอง, การรวบรวมข่าวสาร, การดำเนินกรรมวิธีให้เป็นข่าวกรอง, การกระจายข่าวกรองเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาและฝ่ายอำนวยการได้นำไปใช้ประโยชน์

ก. การกำหนดความต้องการข่าวกรอง นายทหารฝ่ายการข่าวจะเป็นผู้จัดทำความต้องการข่าวกรอง โดยแปลงแนวทางและแนวความคิดในการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชา ให้เป็นหัวข้อข่าวสารสำคัญและความต้องการข่าวสารอื่น ๆ แผนการรวบรวมข่าวสารที่ถูกปรับปรุงให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่องจะทำให้นายทหารฝ่ายการข่าวมีวิธีการอำนวยการกำกับดูแลที่เป็นระบบและสมเหตุสมผล ในทางอุดมคติแล้ว แผนดังกล่าวจะประกันความมั่นใจได้ว่าข้อมูลข่าวสารทั้งหมดที่ต้องการจะถูกรวบรวมได้อย่างทันเวลาที่ต้องการใช้ และแหล่งข่าวสารทั้งหมดที่เป็นไปได้จะถูกใช้ประโยชน์และขยายผลจากหน่วยงานข่าวกรองที่เหมาะสม

ข. การรวบรวมข่าวสาร สิ่งที่ต้องการเพื่อใช้ในการขยายผลการใช้ประโยชน์แหล่งข่าวก็คือ การสั่งการ อำนวยการ และประสานงานเชิงรุกในการรวบรวมข่าวสาร ผู้บังคับบัญชาและนายทหารฝ่ายการข่าวจะต้องตื่นตัวและระแวดระวังในเรื่อง ขีดความสามารถและขีดจำกัดของแหล่งข่าว เพื่อใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างสูงสุด เทคนิคการรวบรวมข่าวสารต่าง ๆ จะถูกนำมาใช้ เช่น การใช้ รปจ. และการใช้วิธีการแสวงเครื่อง รวมทั้งวิธีการดัดแปลงกับเงื่อนไขและแหล่งข่าว เทคนิคอื่น ๆ นอกจากนี้คือ การใช้บุคลากรที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะทางและยุทโธปกรณ์พิเศษ ซึ่งสามารถรับการสนับสนุนได้จากหน่วยระดับกรม

ค. การดำเนินกรรมวิธี กรรมวิธีเป็นขั้นตอนหนึ่งของวงรอบข่าวกรอง ซึ่งข้อมูลข่าวสารจะถูกทำให้กลายเป็นข่าวกรอง ข้อมูลข่าวสาร (การรบ) ดิบจากแหล่งที่มาต่าง ๆ จะถูกประเมินค่า, ตีความ และวิเคราะห์เพื่อผลิตออกมาจากแหล่งข่าวทั้งปวง ความพยายามในการผลิตข่าวกรองเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการป้องกัน และปราบปรามการก่อความไม่สงบ ในภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในของต่างชาติ จำเป็นต้องใช้การประสานงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องกับหน่วยเหนือ, หน่วยรอง, หน่วยข้างเคียง, หน่วยสนับสนุน และหน่วยที่มาร่วมงานจากหน่วยงานข่าวกรองของพลเรือนและทหาร

ง. การกระจายและการใช้ การกระจายข่าวกรองที่มีอยู่ได้อย่างทันเวลาและการนำไปใช้ได้อย่างทันท่วงทีเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติการ ปปส. ในภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในของต่างชาติ ช่องทางการติดต่อสื่อสารหลัก, สำรอง และพิเศษสำหรับงานข่าวกรองอาจถูกจัดตั้งขึ้นได้ในโอกาสที่สิ่งอำนวยความสะดวกและทรัพยากรอำนวยให้

ง – ๓ ประชาชนพลเมือง

การขยายผลใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นพลเรือนในการ ปปส.นั้น มักจะจำเป็นต้องใช้หน่วยงานข่าวกรองพิเศษซึ่งมีที่ตั้งอยู่ร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การรณรงค์ ปปส. ดำเนินการไปได้อย่างก้าวหน้านั้น ประชาชนพลเมืองอาจให้ความร่วมมือและเต็มใจอาสาให้ข่าวสารและข่าวกรองมากขึ้นภายในพื้นที่ปฏิบัติการของกรม

ก. ประเภทของข้อมูลข่าวสาร แหล่งข่าวสารที่เป็นพลเรือน หรือผู้ให้ข่าวสารมักจะให้ข้อมูลข่าวสาร ดังนี้.-

(๑) รายละเอียดของภูมิประเทศในท้องถิ่น

(๒) แรงจูงใจทางอุดมคติ และความเห็นอกเห็นใจของผู้ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น

(๓) การสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงที่มีอยู่ หรือศักยภาพที่มีอยู่ ที่ฝ่ายก่อความไม่สงบจะนำไปใช้ปฏิบัติการในพื้นที่

(๔) เป้าหมายที่มีศักยภาพของฝ่ายก่อความไม่สงบ หรือวัตถุประสงค์

(๕) การพิสูจน์ทราบสมาชิกที่ปกปิดซ่อนตัว หรือผู้ร่วมขบวนการในอดีตของฝ่ายก่อความไม่สงบ

(๖) เทคนิคการก่อวินาศกรรม, จารกรรม และก่อการร้าย รวมทั้งการปฏิบัติของฝ่ายก่อความไม่สงบ และองค์กรสนับสนุนใต้ดิน

(๗) จุดอ่อนของกองกำลังฝ่ายก่อความไม่สงบ

(๘) การ ปจว. ของกำลังฝ่ายก่อความไม่สงบและผลกระทบที่มีต่อประชาชนในท้องถิ่น

ข. แฟ้มแหล่งข้อมูลข่าวสาร ในการแสวงประโยชน์จากการประเมินค่าข่าวสารที่ได้มาจากประชาชนพลเรือน, เจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองของหน่วยระดับกรมอาจจำเป็นต้องจัดทำบันทึกและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลข่าวสารให้เป็นระเบียบ สามารถค้นหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังต้องจัดระดับความน่าเชื่อถือไว้ด้วย เมื่อจัดตั้งขึ้นมาแล้ว แฟ้มแหล่งข้อมูลข่าวสารนี้ควรจะต้องประกอบด้วย.-

(๑) ชื่อ, ภาพถ่าย และข้อมูลรายละเอียดทางกายภาพของแหล่งข่าว

(๒) พื้นที่ที่แหล่งข่าวสามารถรวบรวมข่าวสารได้

(๓) ปัจจัยประกอบที่จะสร้างแรงจูงใจให้แหล่งข่าวร่วมมือกับฝ่ายก่อความไม่สงบ

(๔) ขีดความสามารถในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารของแหล่งข่าว รวมทั้งสิ่งบอกเหตุที่บ่งชี้ถึงการฝึกอบรมที่ผ่านมา

(๕) วิธีการที่จะติดต่อกับแหล่งข่าว

(๖) บันทึกค่าจ้างหรือค่าตอบแทน หากต้องจ่ายให้กับแหล่งข่าว

(๗) บันทึกผลงานและความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว

ค. การใช้ประโยชน์จากแหล่งข่าวพลเรือนอย่างเปิดเผย ในการใช้แหล่งข่าวอย่างเปิดเผยนั้น การติดต่อกับแหล่งข่าวจะกระทำโดยนายทหารฝ่ายการข่าว หรือตัวแทนคนใดคนหนึ่งที่รู้จักดี และส่งข่าวสารโดยตรงโดยไม่ใช้การอำพรางปกปิด วิธีการนี้มีข้อดีตรงที่การรวบรวมข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วฉับพลัน แต่มักจะมีข้อเสียตามมาภายหลัง

(๑) ความต้องการข้อมูลข่าวสารของกรม และกองพันจะถูกเปิดเผยให้แหล่งข่าวล่วงรู้ ซึ่งนำไปสู่การเสี่ยงและความล่อแหลม

(๒) แหล่งข่าวอาจไม่ร่วมมือในการปฏิบัติอย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดแรงจูงใจ หรือเกิดความหวาดกลัว

ง. การใช้ประโยชน์จากแหล่งข่าวพลเรือนอย่างปิดลับ เทคนิคการข่าวกรองแบบปิดลับนี้มีความจำเป็นในการ ปปส. ตามภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในของต่างชาติ เจ้าหน้าที่จะกำหนดความต้องการข่าวกรองเพื่อดำเนินการหาที่ตั้ง, กำลัง และขีดความสามารถของกองกำลังฝ่ายก่อความไม่สงบ, ที่หลบซ่อนใต้ดิน และพลเรือนผู้ให้การสนับสนุน ตามปกติแล้วในระดับกรมและกองพันย่อมดำเนินการจัดตั้งระบบการรวบรวมข่าวลับได้ยากในพื้นที่ปฏิบัติการของตน ดังนั้น ฝอ.๒ จึงควรสนับสนุนข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ หรือการปฏิบัติการข่าวลับที่ดำเนินการโดยหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐ ฯ, พันธมิตร หรือของประเทศเจ้าบ้านที่อยู่ภายในพื้นที่สนใจของกรมหรือกองพัน ข่าวกรองที่ถูกรวบรวมด้วยวิธีการปิดลับจากแหล่งข่าวพลเรือนจะถูกผลิตเพื่อให้ผู้บังคับหน่วยได้นำไปใช้ การดำเนินการเหล่านี้จะผ่านทางศูนย์ควบคุมพื้นที่, ศูนย์ปฏิบัติการข่าวกรองร่วม หรือหน่วยในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนี้ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อประสานการรักษาความมั่นคงภายใน และพัฒนาการปฏิบัติงาน

ง – ๔ การต่อต้านข่าวกรอง

การต่อต้านข่าวกรอง เป็นการเพิ่มมาตรการระวังป้องกันของกำลังทั้งหมด รวมทั้งโอกาสที่เป็นไปได้ในการปฏิบัติการอย่างจู่โจมต่อกำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบ มาตรการระวังป้องกันที่พอเพียงจะถูกจัดทำขึ้นและบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยป้องกันการปฏิบัติการเจาะเข้ามาหาข่าวกรองของฝ่ายข้าศึก รวมทั้งค้นหาข้าศึกด้วยในขณะปฏิบัติการ เนื่องจากกำลังพลของฝ่ายก่อความไม่สงบมีจำนวนที่ไม่อาจเปรียบเทียบอำนาจกำลังรบได้กับกำลังของประเทศเจ้าบ้านและพันธมิตร รวมทั้งกำลังของทหารสหรัฐ ฯ ดังนั้นฝ่ายก่อความไม่สงบจึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยการข่าวกรองเป็นอย่างมาก เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการ หน่วยระดับกรมของกำลังทหารจากสหรัฐ ฯ และองค์การต่าง ๆ ของประเทศเจ้าบ้านจะต้องเน้นความสำคัญของมาตรการต่อต้านข่าวกรองให้เป็นนิสัยประจำ

ก. มาตรการปฏิเสธ มาตรการปฏิเสธที่นำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติการ ปปส. ประกอบด้วย.-

(๑) การโยกย้ายแหล่งข่าวที่ได้ประสานความเข้าใจไว้ ออกจากพื้นที่ปฏิบัติการ

(๒) การจำกัดการเคลื่อนย้ายและการใช้เครื่องมือสื่อสารของพลเรือนในพื้นที่

(๓) บรรยายสรุปชี้แจงอย่างละเอียดให้กับกำลังพลของทหารชาติพันธมิตร, สหรัฐ ฯ ซึ่งมาขึ้นสมทบกับหน่วยของประเทศเจ้าบ้าน ทั้งนี้ควรจะรวมถึงการฝึกอบรมด้านการข่าวกรองและเทคนิคที่พวกก่อความไม่สงบและองค์กรสนับสนุนใต้ดินนำมาใช้ และข้อมูลข่าวสารในการระวังป้องกัน

(๔) เน้นเป็นความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยการกำจัดขยะและการทิ้งสิ่งของที่หมดสภาพใช้งาน

(๕) การใช้อาวุธเงียบของหน่วยลาดตระเวน

(๖) ปฏิบัติกิจให้เหมือนกับปกติที่สุดในขณะที่เตรียมปฏิบัติการเพื่อที่จะหลีกเลี่ยง มิให้ฝ่ายก่อความไม่สงบได้สังเกตพบการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติจาก รปจ.



(๗) ดำรงรักษามาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ในเรื่องแผนการเคลื่อนย้ายด้านการส่งกำลังบำรุง และการดำเนินการส่งกำลังสิ่งอุปกรณ์

(๘) ปฏิบัติการเคลื่อนย้ายหน่วยกำลังหลักในเวลากลางคืน หรือทัศนวิสัยจำกัดด้วยวิธีการที่เร็วที่สุด

ข. มาตรการสืบค้น มาตรการสืบค้นที่เหมาะสมกับการปฏิบัติการ ปปส. ประกอบด้วย

(๑) การสืบสวนและสอบประวัติบุคคล ตลอดจนภูมิหลังของพลเรือนที่ถูกว่าจ้างหรือเข้ามาปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารของสหรัฐ ฯ และกองกำลังของฝ่ายประเทศเจ้าบ้าน รวมทั้งส่วนที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานพลเรือน โดยจะต้องเน้นหนักในส่วนของคนนำทาง หรือเจ้าหน้าที่สะกดรอย ซึ่งมีความคุ้นเคยกับภูมิประเทศและสถานที่ รวมทั้งการเคลื่อนที่และเป้าหมายของกำลังฝ่ายเดียวกัน

(๒) การเฝ้าตรวจสมาชิกทุกคนและที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นพวกกองกำลังฝ่ายก่อความไม่สงบ และโครงสร้างภายในของพวกก่อความไม่สงบ

(๓) การใช้พลุสะดุดและการซุ่มโจมตีอย่างกว้างขวางในพื้นที่ที่สงสัยว่าจะมีการเคลื่อนไหว และการลาดตระเวนของฝ่ายก่อความไม่สงบ

(๔) การใช้ชุดสุนัขสงครามร่วมกับการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ

(๕) การเน้นความสำคัญให้มากที่สุดในเรื่องการตรวจการณ์ด้วยสายตา และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ อาจต้องมีการเสริมเพิ่มเติมในเรื่องเครื่องมือช่วยตรวจการณ์ และเครื่องมือตรวจค้นอิเล็กทรอนิกส์

(๖) การเฝ้าสังเกตดูสื่อมวลชนของพลเรือน

(๗) การใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงในการตรวจค้นและสอบสวนสตรีและเด็ก

(๘) การป้องกัน และใช้มาตรการต่อต้านข่าวกรองกับพลเรือนทั้งหมด ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ และอยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้สนับสนุนด้านการข่าวกรองให้กับกำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบ

(๙) การเผยแพร่ภาพถ่ายของผู้ก่อความไม่สงบที่ถูกค้นพบแล้วหรือบุคคลสำคัญที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลืออย่างลับ ๆ

(๑๐) การให้รางวัลแก่ผู้ให้ข่าวหรือผู้นำจับหรือผู้ให้เบาะแสเกี่ยวกับผู้สนับสนุนหรือแหล่งข่าวของฝ่ายก่อความไม่สงบ

(๑๑) การจัดเก็บรวบรวมภาพถ่ายของผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านในพื้นที่อิทธิพลของพวกก่อความไม่สงบ ทั้งนี้เพื่อนำมาเปรียบเทียบยืนยันหรือยกเลิกกับภาพถ่ายของประชาชนที่เป็นกลาง

(๑๒) การจัดทำ และแจกจ่ายบัตรแสดงตน ที่สามารถควบคุมได้ ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการ ในการปฏิบัติการ ปปส. นั้น กิจกรรมการต่อต้านการข่าวกรองมักจะมีความยุ่งยากซับซ้อน อันเนื่องมาจากการไม่สามารถควบคุม และพิสูจน์ทราบสถานะที่แท้จริงของจำนวนประชากรที่มีอยู่มากมายได้ ว่าผู้ใดเป็นฝ่ายเดียวกับเรา, เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือเป็นฝ่ายข้าศึก มาตรการรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ที่มีอยู่ที่จะสามารถช่วยเหลือในการพิสูจน์ทราบ และระบุฝ่ายให้กับประชาชนดังกล่าวได้ จะต้องถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง

ค. มาตรการลวง ในการปฏิบัติการ ปปส.นั้น หน่วยจะต้องวางแผนและปฏิบัติการคุ้มกันและการลวงในขอบเขตและขีดความสามารถของตน เท่าที่จะทำได้อยู่เสมอ จะขาดเสียมิได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น