วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การเคลื่อนที่

เทคนิคในการเคลื่อนที่ และการปฏิบัติระหว่างการเคลื่อนที่ของหมวดและหมู่ปืนเล็ก


๒ - ๗ รูปขบวนของชุดยิง

รูปขบวนเป็นการจัดการให้ส่วนต่าง ๆ และกำลังพลแต่ละนายให้สัมพันธ์และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ระดับหมู่ปืนเล็กขึ้นไปจะต้องพิจารณาใช้รูปขบวนที่ให้ผลในเรื่องความอ่อนตัวในการควบคุมและการระวังป้องกัน ทั้งนี้การที่ผู้บังคับหน่วยจะเลือกใช้รูปขบวนใดขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ปัจจัยมูลฐาน (METT – T) เป็นหลัก (รูปที่ ๒ - ๖ เป็นการเปรียบเทียบรูปขบวน) ผู้บังคับหน่วยจะต้องอยู่ล้ำไปข้างหน้าเพื่อให้กำลังพลมองเห็นและทำการนำหน่วยได้

ก. รูปขบวนสามเหลี่ยมแหลมหน้า (Wedge) รูปขบวนนี้เป็นรูปขบวนพื้นฐานของชุดยิง ระยะต่อของกำลังพลแต่ละนายปกติจะห่างกันประมาณ ๑๐ เมตร ภูมิประเทศจะเป็นตัวกำหนดให้ขนาดของรูปขบวนสามเหลี่ยมแหลมหน้านี้ขยายขนาดออกหรือลดขนาดลง ในภูมิประเทศที่รกทึบ ทัศนวิสัยจำกัด หรือมีปัจจัยอื่นที่ทำให้การควบคุมลำบาก จะต้องปรับลดขนาดของรูปขบวนลงให้กำลังพลในชุดยิงสามารถมองเห็นหัวหน้าชุดยิงของตนเองได้ และหัวหน้าชุดยิงจะต้องมองเห็นผู้บังคับหมู่ของตนได้ด้วย บางครั้งรูปขบวนสามเหลี่ยมแหลมหน้านี้อาจต้องปรับลดขนาดของรูปขบวนลงไปจนกลายเป็นรูปขบวนแถวตอน แต่เมื่อเคลื่อนที่ในภูมิประเทศที่เคลื่อนที่ได้ไม่ยากลำบากและการควบคุมรูปขบวนสามารถกระทำได้ง่าย กำลังพลแต่ละนายก็จะกระจายกำลังกันออกไปในลักษณะสามเหลี่ยมแหลมหน้าเช่นเดิม (รูปที่ ๒ - ๔ รูปขบวนสามเหลี่ยมแหลมหน้า)

ข. รูปขบวนแถวตอน รูปขบวนนี้จะใช้เมื่อลักษณะภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยให้ใช้รูปขบวนสามเหลี่ยมแหลมหน้า
รูปขบวนของหมู่
ความสัมพันธ์ของชุดยิงภายในหมู่ปืนเล็กทั้งรูปขบวนหมู่ชุดยิงตามกัน และหมู่ชุดยิงเคียงกัน รวมทั้งเปรียบเทียบคุณลักษณะของรูปขบวนทั้งสองแบบด้วย


ก. รูปขบวนหมู่แถวตอน (Squad Column) เป็นรูปขบวนที่ใช้มากที่สุด รูปขบวนนี้ให้การกระจายกำลังที่ดีทั้งทางด้านข้างและในทางลึก โดยไม่ทำให้การควบคุมและการดำเนินกลยุทธ์ด้อยลง ชุดยิงที่เคลื่อนที่นำจะทำหน้าที่เป็นฐานยิง เมื่อหมู่เคลื่อนที่โดยลำพังหรือทำหน้าที่เป็นหมู่ปิดท้ายของหมวด พลปืนเล็กคนท้ายสุดของชุดยิงที่ปิดท้ายจะต้องทำหน้าที่ระวังป้องกันด้านหลัง
ข. รูปขบวนหมู่หน้ากระดาน (Squad Line) รูปขบวนนี้ให้อำนาจการยิงตรงหน้าสูงสุด (รูปที่ ๒ - ๘) เมื่อหมู่ทำหน้าที่เป็นฐานยิง ชุดยิงที่อยู่ทางด้านขวาของหมู่จะเป็นฐานยิง
ค. รูปขบวนหมู่แถวตอนเรียงหนึ่ง (Squad File) ถ้าหมู่ไม่ได้เคลื่อนที่ด้วยรูปขบวนหมู่แถวตอน หรือหมู่หน้ากระดานก็จะใช้รูปขบวนหมู่แถวตอนเรียงหนึ่ง รูปขบวนนี้มีคุณลักษณะเช่นเดียวกับรูปขบวนหมู่แถวตอน หากผู้บังคับหมู่ต้องการเพิ่มการควบคุมรูปขบวนและสร้างขวัญกำลังใจให้กับกำลังพลด้วยการใช้ลักษณะผู้นำ รวมทั้งสามารถติดสินใจใช้หน่วยได้ทันทีจะต้องขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่หนึ่งหรือตำแหน่งที่สองของรูปขบวน และหากต้องการเน้นการควบคุมทางด้านหลังของรูปขบวนก็สามารถทำได้โดยการให้หัวหน้าชุดยิงไปอยู่ทางด้านท้ายของรูปขบวน
๒ - ๙ รูปขบวนของหมวด


รูปขบวนของหมวดประกอบด้วย รูปขบวนหมวดแถวตอน หมวดหน้ากระดาน (หมู่หน้ากระดานหรือหมู่แถวตอน) สามเหลี่ยมแหลมหลัง และรูปขบวนหมวดสามเหลี่ยมแหลมหน้า ผู้บังคับหมวดจะต้องวิเคราะห์ภารกิจและปัจจัย METT – T อย่างละเอียด เพื่อพิจารณาว่ารูปขบวนใดดีที่สุดสำหรับการปฏิบัติภารกิจแต่ละภารกิจ การเปรียบเทียบคุณลักษณะของรูปขบวนต่าง ๆ ข้างต้นจะแสดงไว้ในรูปที่ ๒ - ๑๗

ก. รูปขบวนหมวดแถวตอน (Platoon Column) เป็นรูปขบวนเคลื่อนที่พื้นฐานของหมวด (รูปที่ ๒ - ๑๑) รูปขบวนนี้ให้การกระจายกำลังออกไปทางด้านข้างและในทางลึกได้ดี ควบคุมง่าย หมู่นำจะทำหน้าที่เป็นฐานยิง

หมายเหตุ ปัจจัย METT – T จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าควรจะวางอาวุธประจำหน่วยไว้ในตำแหน่งใด

ของรูปขบวน โดยปกติแล้วจะเคลื่อนที่ไปกับผู้บังคับหมวดเพื่อที่ผู้บังคับหมวดจะ

จัดตั้งฐานยิงได้อย่างรวดเร็ว
ข. รูปขบวนหมวดหน้ากระดาน หมู่หน้ากระดาน (Platoon – Line, Squad – on – Line) รูปขบวนนี้ให้อำนาจการยิงตรงหน้าสูงสุด แต่ทางปีกทำได้ไม่มาก (รูปที่ ๒ - ๑๒) การควบคุมรูปขบวนทำได้ลำบากและไม่เอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว เมื่อทำการเข้าตีตั้งแต่สองหมวดขึ้นไป ผู้บังคับกองร้อยจะเลือกหมวดใดหมวดหนึ่งเป็นหมวดหลัก หมู่ที่อยู่ย่านกลางของหมวดนี้จะทำหน้าที่เป็นหมู่หลัก ส่วนหมวดที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นหมวดหลัก หมู่ทางปีกด้านที่ติดกับหมวดหลักจะทำหน้าที่เป็นหมู่หลักให้หมวดนั้น ส่วนปืนกลจะเคลื่อนที่ไปพร้อมกับหมวดหรือเข้าที่ตั้งยิงเพื่อทำการยิงสนับสนุนก็ได้ รูปขบวนนี้เป็นรูปขบวนพื้นฐานในการเข้าตีของหมวด
ค. รูปขบวนหมวดหน้ากระดาน หมู่แถวตอน ( platoon – Line, Squads – in – Column) ผู้บังคับหมวดจะใช้รูปขบวนนี้ เมื่อไม่ต้องการใช้กำลังทั้งหมดทางด้านหน้าและเพื่อให้สามารถใช้หมู่ต่าง ๆ เข้าทำการตีโต้ตอบหากเกิดการปะทะโดยไม่คาดคิด รูปขบวนนี้ควบคุมง่ายและเคลื่อนที่ได้เร็วกว่ารูปขบวนหมวดหน้ากระดาน หรือหมู่หน้ากระดาน แต่อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับรูปขบวนหมวดแถวตอนแล้ว รูปขบวนหมวดหน้ากระดาน หมู่หน้ากระดานจะควบคุมและเคลื่อนย้ายหน่วยได้ยากกว่า ในการเคลื่อนที่ตั้งแต่สองหมวดขึ้นไป ผู้บังคับกองร้อยจะเลือกหมวดใดหมวดหนึ่งเป็นหลัก ในลักษณะนี้หมู่ที่อยู่กลางของหมวดที่ทำหน้าที่เป็นหมวดหลัก จะเป็นหมู่หลักของหมวดนั้น ส่วนหมวดอื่นที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นหมวดหลัก หมู่ทางด้านปีกที่ติดกับหมวดหลักจะเป็นหมู่หลักของหมวดนั้น ๆ
ง. รูปขบวนหมวดสามเหลี่ยมแหลมหลัง (Platoon Vee ) รูปขบวนนี้จะใช้กำลังทางด้านหน้าสองหมู่ เพื่อผลการยิงที่หนาแน่นหากเกิดการปะทะ (รูปที่ ๒ - ๑๔) อีกหนึ่งหมู่ที่อยู่ทางด้านหลังจะทำหน้าที่เฝ้าตรวจหรือเคลื่อนที่ตามสองหมู่ทางด้านหน้า การควบคุมรูปขบวนแบบนี้ทำได้ยากเคลื่อนที่ได้ช้า ผู้บังคับหมวดจะกำหนดให้หมู่ใดหมู่หนึ่งทางด้านหน้าเป็นหมู่หลัก
จ. รูปขบวนหมวดสามเหลี่ยมแหลมหน้า (Platoon Wedge) รูปขบวนนี้จะใช้หนึ่งหมู่นำ และสองหมู่ตาม ซึ่งทั้งสองหมู่ด้านหลังจะสามารถเฝ้าตรวจและเคลื่อนที่ตามหมู่นำได้ (รูปที่ ๒ - ๑๕) รูปขบวนนี้ให้ผลการยิงที่หนาแน่นทั้งทางด้านหน้าและด้านปีก เมื่อเกิดการปะทะผู้บังคับหมวดสามารถใช้กำลังที่เหลืออยู่เข้าดำเนินกลยุทธ์ได้ หมู่นำจะเป็นหมู่หลักของหมวด
ฉ. รูปขบวนหมวดแถวตอนเรียงหนึ่ง (Platoon File) รูปขบวนนี้สามารถจัดได้หลายลักษณะ เช่น ใช้สามหมู่แถวตอนเคลื่อนที่ตามกัน โดยใช้เทคนิคการเคลื่อนที่ หรือจัดเป็นรูปหมวดแถวตอนเรียงหนึ่ง แต่จัดให้มีส่วนระวังป้องกันออกไปทางด้านหน้าและทางปีก เป็นต้น รูปขบวนลักษณะนี้จะใช้เมื่อทัศนวิสัยจำกัด เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศหรือแสงสว่าง (รูปที่ ๒ - ๑๖) ระยะต่อระหว่างบุคคลจะน้อยกว่าปกติ เพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้ รูปขบวนหมวดแถวตอนจะมีคุณลักษณะเช่นเดียวกับรูปขบวนแถวตอนของชุดยิง และรูปขบวนแถวตอนของหมู่
๒ - ๑๐ เทคนิคการเคลื่อนที่


เทคนิคการเคลื่อนที่ หมายถึงวิธีการเคลื่อนที่แบบต่าง ๆ ของหมวดปืนเล็กให้เหมาะสมกับภูมิประเทศที่จะต้องผ่าน เทคนิคการเคลื่อนที่มี ๓ แบบ คือ เดินทาง (Traveling) เดินทางเฝ้าตรวจ (Tvaveling overwatch ) และเฝ้าตรวจ – เคลื่อนที่สลับ ( Bounding overwatch ) ข้อพิจารณาเลือกใช้เทคนิคแบบใดขึ้นอยู่กับความน่าจะเกิดการปะทะกับข้าศึก และความเร็วในการเดินทางที่ต้องการ เทคนิคการเคลื่อนที่แต่ละแบบมีคุณลักษณะเฉพาะแตกต่างกันคือ การควบคุม การกระจายกำลัง ความเร็วและการระวังป้องกัน (รูปที่ ๒ - ๑๘) เทคนิคการเคลื่อนที่ไม่ใช่รูปขบวนตายตัว แต่เป็นการกำหนดระยะห่างระหว่างตัวทหาร ชุดยิง หรือหมู่ปืนเล็ก ในขณะเคลื่อนที่ให้เหมาะสมกับภารกิจ ข้าศึก ภูมิประเทศ ทัศนวิสัย และปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการควบคุมหน่วย ทหารทุกคนต้องสามารถมองเห็นหัวหน้าชุดยิงของตน ผู้บังคับหมู่ควรมองเห็นหัวหน้าชุดยิงและผู้บังคับหมวดควรมองเห็นผู้บังคับหมู่ที่เป็นหมู่นำด้วย ผู้บังคับหมวดและผู้บังคับหมู่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของหน่วยด้วยสัญญาณมือและแขน จะใช้วิทยุเมื่อจำเป็นเท่านั้น เทคนิคการเคลื่อนที่แต่ละแบบสามารถใช้กับรูปขบวนการเคลื่อนที่ได้ทุกรูปแบบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น