วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การตั้งรับรอบตัว

การตั้งรับในเขตปฏิบัติการ (Defense in Sector) การตั้งรับนี้เกื้อกูลให้ทหารราบสามารถใช้อำนาจกำลังรบที่มีอยู่ได้สูงสุด เปิดโอกาสให้หมวดปืนเล็กปฏิบัติการรบได้ทั่วทั้งความลึกของเขตปฏิบัติการ โดยใช้วิธีกระจายกำลังและใช้ยุทธวิธีการรบด้วยหน่วยขนาดเล็ก


๑) หมวดปืนเล็กมักได้รับการแบ่งมอบเขตปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งของเขตปฏิบัติการ

กองร้อย (รูปที่ ๑ - ๓) และผู้บังคับหมวดก็อาจแบ่งมอบเขตปฏิบัติการต่อไปให้กับแต่ละหมู่ปืนเล็กอีกก็ได้ เพื่อให้หมู่ปืนเล็กมีเสรีในการปฏิบัติสูงสุดในการตั้งรับ อย่างไรก็ตามผู้บังคับหมวดต้องระลึกว่า หมู่ปืนเล็กไม่สามารถร้องขอการยิงสนับสนุนโดยทางใดได้ นอกจากต้องร้องขอผ่านหมวดปืนเล็กเท่านั้น ในบางโอกาสหมวดอาจได้รับการสมทบผู้ตรวจการณ์หน้า แต่ผู้บังคับหมวดและผู้บังคับหมู่ต้องสามารถร้องขอและช่วยในการปรับการยิงได้
๒) หมู่ปืนเล็กแต่ละหมู่ทำการลาดตระเวนอย่างละเอียดภายในเขตปฏิบัติการของตน


เพื่อพิสูจน์ทราบแนวทางเคลื่อนที่ทุกแนวทางที่ข้าศึกอาจใช้ช่องทางบังคับต่าง ๆ พื้นที่สังหาร

เครื่องกีดขวาง ฐานลาดตระเวน และตำบลรวบรวมต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดที่มั่นตั้งรับขั้นต้น

๓) ผู้บังคับหมวดปืนเล็กเป็นผู้ตกลงใจ ยืนยัน หรือเปลี่ยนแปลงตำบลที่ตั้งต่าง ๆ ที่เลือกไว้ขั้นต้น โดยปรับให้สอดคล้องกับแนวความคิดในการปฏิบัติของหมวด (รูปที่ ๑ - ๔) แล้วกำหนดที่มั่นตั้งรับขั้นต้นและตามลำดับขั้นซึ่งอาจต้องเข้าวางกำลังในอนาคต รวมทั้งให้คำแนะนำที่จำเป็นแก่หมู่ปืนเล็กเกี่ยวกับการวางแผนเผชิญเหตุ การกำหนดจุดนัดพบและคำแนะนำในการประสานงานอื่น ๆ

๔) ผู้บังคับหมู่ปืนเล็ก เตรียมการตั้งรับตามลำดับขั้นตามที่ผู้บังคับหมวดกำหนดให้ โดยปกติจะเริ่มเตรียมที่มั่นตั้งรับหลักขั้นต้นก่อน ต่อจากนั้นเตรียมที่มั่นเพิ่มเติมเร่งด่วนแล้วจึงเตรียมที่มั่นสำรองตามลำดับ หลังจากนั้นทำการปรับปรุงที่มั่นต่างๆ อย่างต่อเนื่องเท่าที่เวลาจะอำนวยให้

๕) เมื่อได้รับแจ้งเตือนการเข้ามาของข้าศึกจากส่วนระวังป้องกัน หมู่ปืนเล็กจะเข้าประจำที่มั่นตั้งรับหลักพร้อมทำการรบกับข้าศึก เตรียมการซุ่มโจมตีหากข้าศึกเคลื่อนที่เข้าสู่ช่องทางบังคับหรือพื้นที่สังหาร การรบติดพันกับข้าศึกจะยังไม่รบแตกหัก แต่จะเคลื่อนที่ผละไปข้างหลังแล้วดำเนินการเช่นเดียวกับครั้งแรก ผู้บังคับหมู่ต้องวางแผนการผละจากการรบ(disengagement) ไว้ล่วงหน้า การยิงคุ้มครองจากที่มั่นอื่นๆ การใช้ควัน และการซักซ้อม เป็นปัจจัยสำคัญในการผละจากการรบได้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ


เทคนิคการปฏิบัติอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัย METT-T เป็นประการสำคัญ แต่ในรูปแบบการรบของการตั้งรับจะเป็นไปในลักษณะนี้เหมือนกันหมด ตัวอย่างของเทคนิคต่าง ๆ ดังกล่าวคือ

ก) ปล่อยให้ข้าศึกอ่อนแรงลงเรื่อยๆ เพราะการกระทำของข้าศึกเอง ที่ต้องต่อต้านการซุ่มโจมตีของฝ่ายเราครั้งแล้วครั้งเล่า หลังจากนั้นทำการตีโต้ตอบอย่างรุนแรงตามแนวทางเคลื่อนที่ที่ฝ่ายเราได้ซักซ้อมไว้แล้ว เพื่อทำลายข้าศึกอย่างเด็ดขาด ผู้บังคับหมวดปืนเล็กอาจเลือกใช้วิธีหนึ่งคือ : เตรียมกำลังส่วนใหญ่ของหมวดที่จะใช้รบแตกหักไว้ในความควบคุมโดยตรง เพื่อสั่งใช้ได้ทันทีเมื่อถึงเวลารบแตกหัก (ตีโต้ตอบ) หรืออาจสั่งให้รวมกำลังภายหลัง ณ จุด นัดพบเมื่อถึงเวลารบแตกหัก (ตีโต้ตอบ) โดยกำหนดสัญญาณรวมกำลังไว้ก่อนล่วงหน้าก็ได้

ข) กำลังส่วนซุ่มโจมตีที่วางไว้หน้าสุด ระงับการยิงไว้ก่อน จนกว่า ข้าศึกเคลื่อนที่ผ่านเลยไปจนเข้าสู่พื้นที่ซุ่มโจมตีของหน่วยถัดไปทางลึก เพื่อคอยซุ่มโจมตีข้าศึกขบวนถัดไป เทคนิคนี้สามารถทำลายความเป็นปึกแผ่นของข้าศึกได้ และจะได้ผลดีอย่างยิ่งหากสามารถซุ่มโจมตีทำลายส่วนบังคับบัญชา (command group) ของข้าศึกได้

ค) วางแผนการยิงสนับสนุนจากระบบอาวุธเล็งจำลอง ณ ตำบลซุ่มโจมตี และตามเส้นทางเคลื่อนที่เพื่อเพิ่มการสูญเสียกำลังพลฝ่ายข้าศึก

๖) สิ่งที่จะทำได้ยากลำบาก หากใช้เทคนิคการตั้งรับแบบนี้คือ การส่งกลับผู้ป่วยเจ็บ การส่งกำลัง สป.๕ และน้ำเพิ่มเติม

จ. การสนับสนุนซึ่งกันและกันในที่มันรบ (Mutually Supporting Battle Positions) หมวดและหมู่ปืนเล็กใช้เทคนิคการตั้งรับแบบนี้ เพื่อรวมอำนาจกำลังยิงไปยังพื้นที่โจมตี (engagement area) ที่ได้รับมอบ และเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายข้าศึกทราบแผนการตั้งรับเป็นส่วนรวม

๑) ผู้บังคับหมวดและผู้บังคับหมู่ต้องจัดเตรียมที่มั่นให้มีความลึก สามารถวางการยิงครอบคลุมแนวทางเคลื่อนที่ทุกแนวทาง และมีเขตการยิงทาบทับกัน แต่ละที่มั่นต้องสามารถยิงสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ และสามารถทำการยิงไปยังปีกหรือด้านหลังของข้าศึกได้ ผู้บังคับหน่วยจะต้องสนธิเครื่องกีดขวางเข้ากับแผนการยิง เพื่อให้ข้าศึกเคลื่อนที่ช้าลงหรือหยุดลง ณ พื้นที่โจมตี รวมทั้งการใช้สนามทุ่นระเบิดร่วมด้วย หมู่ปืนเล็กแต่ละหมู่จัดกำลังลาดตระเวนระวังป้องกันด้านหน้าที่มั่น ทำการขัดขวางข้าศึก ทำลายระเบียบ และสร้างความสับสนลวง ข้าศึกให้เข้าใจผิดว่าเป็นที่มั่นตั้งรับหลัก

หมายเหตุ : หลุมบุคคลต่าง ๆ จะไม่วางบนแนวทางการเคลื่อนที่ของข้าศึก





๒) ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการใช้เทคนิคนี้ อยู่ที่การกำหนดที่ตั้งของที่มั่นรบของหมู่ การกำหนดและจัดระเบียบพื้นที่โจมตี และมาตรการควบคุมการยิง ผู้บังคับหมวดต้องวางกำลังหมู่ปืนเล็ก ให้สอดคล้องกับแนวทางการเคลื่อนที่ของข้าศึก และกำหนดมาตรการควบคุมที่จำเป็นในการรวมอำนาจการยิงไปยังข้าศึกที่อยู่ในเขตปฏิบัติการ

๓) ตัวอย่างวิธีการต่าง ๆ ในการใช้เทคนิคนี้ได้แก่

- เปิดฉากการยิงพร้อมกัน แล้วถอนตัวเมื่อสั่ง

- เปิดฉากการยิงทีละหน่วย เมื่อข้าศึกเริ่มทำการยิงและเริ่มจะดำเนินกลยุทธ์ต่อหน่วยที่เปิดฉากการยิงนั้น ส่วนที่เหลือจึงเปิดฉากการยิง จากนั้นหน่วยที่เปิดฉากการยิงเป็นหน่วยแรก ถอนตัวทันทีที่การยิงจากข้าศึกเบาบางลง โดยอาจถอนตัวไปยังที่มั่นรบแห่งใหม่หรือไปยังจุดนัดพบของหมวดก็ได้

- ดำเนินกลยุทธ์เพื่อป้องกันการถอนตัวหรือเพิ่มเติมกำลังของฝ่ายข้าศึก

- กำหนดพื้นที่โจมตีไว้มากกว่า ๑ แห่ง มีที่มั่นเพิ่มเติม และที่มั่นรบที่กำหนดให้เข้าประจำที่เมื่อสั่ง และกำหนดเขตการยิงรอง (secondary sectors of fire) เพื่อรวมอำนาจการยิงไปยังพื้นที่โจมตีที่ต้องการ

ฉ. มาตรการควบคุม ผู้บังคับหมวดใช้มาตรการควบคุม เพื่อกำหนดความรับผิดชอบ ประสานการยิงและการดำเนินกลยุทธ์ ควบคุมการปฏิบัติการรบและเพื่อให้หน่วยรองมีความเข้าใจแนวความคิดในการปฏิบัติของหมวดอย่างชัดเจน นอกจากนี้มาตรการควบคุมยังมีไว้เพื่อให้มั่นใจว่า ได้มีการวางอำนาจการยิงอย่างทั่วถึงทั่วทั้งพื้นที่รับผิดชอบของหมวด มีการวางที่มั่นรบขั้นต้นและกำหนดขั้นตอนการดำเนินกลยุทธ์ของหมู่ปืนเล็กอย่างเหมาะสม

๑) มาตรการควบคุมที่เป็นสัญลักษณ์ ใช้ในการตั้งรับประกอบด้วย เขตปฏิบัติการ (sectors) ที่มั่นรบ (battle positions) เส้นแบ่งเขต จุดติดต่อ จุดประสานการปฏิบัติ ขอบหน้าพื้นที่การรบ จุดต้านทานแข็งแรง (strong points) จุดอ้างอิงเป้าหมาย (target reference point : TRP) ที่รวมพล แนวขั้น จุดส่งผ่าน หรือช่องทางส่งผ่าน จุดแยก และพื้นที่โจมตี

๒) คำสั่งยิงและมาตรการควบคุมการยิง ทั้งอาวุธประจำกายและอาวุธประจำหน่วยถือว่าเป็นมาตรการควบคุมแบบหนึ่งของผู้บังคับหน่วย มาตรการควบคุมการยิงของอาวุธต่าง ๆ

ประกอบด้วยแผ่นจดระยะ เขตการยิง ทิศทางการยิงหลัก แนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย การยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย และจุดอ้างอิงเป้าหมาย ซึ่งเกือบทั้งหมดจะปรากฏอยู่ในแผ่นจดระยะ รายละเอียดและตัวอย่างจะกล่าวไว้ในบทที่ ๒ นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคุมอาวุธต่อสู้รถถัง ปืนกล ชุดยิง หมู่ปืนเล็ก และหมวดปืนเล็ก ด้วยการกำหนดลำดับความเร่งด่วนของเป้าหมาย และคำสั่งยิงเป็นต้น

ช. เครื่องกีดขวาง หากใช้ได้อย่างเหมาะสมจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการตั้งรับ หมวดและหมู่ปืนเล็กต้องผสมผสานการใช้เครื่องกีดขวางทั้งตามธรรมชาติและที่สร้างขึ้นให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่การตั้งรับ รวมทั้งการใช้สนามทุ่นระเบิดและลวดหนามด้วย
๑) ข้อพิจารณา ผู้บังคับหมวดต้องสนธิแผนฉากขัดขวางเข้ากับแผนการยิงทั้งเล็งตรงและเล็งจำลอง และให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินกลยุทธ์ด้วย ทั้งต้องมีการคุ้มครองเครื่องกีดขวางด้วยการตรวจการณ์และการยิง การป้องกันการรื้อถอนเครื่องกีดขวาง อาจทำได้โดยใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ลวดสะดุดและเครื่องมือแจ้งเตือนต่างๆ ที่ซ่อนพรางไว้ให้กลมกลืนกับลักษณะภูมิประเทศ ในบทที่ ๒ จะกล่าวถึงเทคนิคการใช้เครื่องกีดขวาง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในระดับหมู่และหมวดปืนเล็ก


๒) ประเภทของเครื่องกีดขวางลวดหนาม แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ตามลักษณะการใช้และตำบลที่วาง โดยปกติจะจัดให้การวางลวดหนามทางยุทธวิธีเป็นความเร่งด่วนลำดับแรก แต่ผู้บังคับหน่วยสามารถจัดการวางเครื่องกีดขวางให้ใช้ได้ทั้งทางยุทธวิธีและป้องกันตนเองได้ โดยการใช้เครื่องกีดขวางเพียงชนิดเดียวก็ได้

ก) ลวดหนามทางยุทธวิธี เป็นลวดหนามที่วางขนานตามแนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้ายของอาวุธประจำหน่วย ลวดหนามทางยุทธวิธีจะทำหน้าที่รั้งหน่วงข้าศึกไว้ในพื้นที่ ที่สามารถสังหารหรือสร้างความสูญเสียโดยอาวุธอัตโนมัติ ระเบิดเคลย์โม ระเบิดขว้างและปืนกลได้ดีที่สุด

ข) ลวดหนามป้องกันตน มีไว้เพื่อป้องกันการโจมตีอย่างจู่โจมของข้าศึกในระยะใกล้ โดยทั่วไปจะวางไว้ในระยะที่ปลอดภัยจากการใช้ลูกระเบิดขว้างของข้าศึก และต้องสามารถตรวจการณ์เห็นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

ค) ลวดหนามเพิ่มเติม หมวดและหมู่ปืนเล็กจัดวางลวดหนามเพื่อลวงแนวที่แท้จริงของลวดหนามยุทธวิธี และเพื่อเชื่อมต่อแนวเครื่องกีดขวางตามแผนฉากขัดขวางของกองร้อย

๑ - ๙ การระวังป้องกัน

การระวังป้องกัน หมายถึง มาตรการที่หมวดและหมู่ปืนเล็กใช้เพื่อต่อต้านการปฏิบัติใด ๆ ของข้าศึกที่จะเป็นการลดประสิทธิภาพในการรบของหน่วย เช่น การหลีกเลี่ยงจากการถูกตรวจจับจากฝ่ายข้าศึกหรือการลวงข้าศึกเกี่ยวกับที่ตั้ง และเจตนารมณ์ฝ่ายเรา รวมถึงการค้นหาข้าศึกและการรู้ถึงที่ตั้งหน่วยและเจตนารมณ์ของฝ่ายข้าศึกด้วย การระวังป้องกันจะช่วยให้หน่วยมีเสรีในการปฏิบัติและดำรงความเป็นฝ่ายริเริ่มได้ การปฏิบัติการทุกชนิดของหมวดปืนเล็กล้วนต้องมีการระวังป้องกันทั้งสิ้น ทั้งหมวดและหมู่ปืนเล็กต้องระวังป้องกันตนเองเสมอ ไม่ว่าจะเคลื่อนที่ เข้าตี หรือตั้งรับก็ตาม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกำลังส่วนใหญ่ หมวดปืนเล็กอาจได้รับมอบภารกิจระวังป้องกันในเรื่องเกี่ยวกับการลาดตระเวน การจัดตั้งที่ตรวจการณ์ระดับหมู่ตามแนวระวังป้องกัน หรือเป็นกำลังส่วนล่วงหน้า กองกระหนาบ หรือกองระวังหลัง ให้กับกำลังส่วนใหญ่ในการเคลื่อนที่เข้าปะทะก็ได้

ก. การระวังป้องกันระหว่างเคลื่อนที่ หมวดและหมู่ปืนเล็กสามารถเพิ่มความปลอดภัยในระหว่างเคลื่อนที่ได้โดย

- ใช้รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม

- เคลื่อนที่ให้เร็วที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะอำนวยให้ ซึ่งจะช่วยลดความสามารถในการตรวจจับของข้าศึก หรือหากตรวจจับได้ก็ทำการยิงไม่ได้ผล

- เคลื่อนที่ตามแนวภูมิประเทศที่มีการกำบังและซ่อนพราง

- รักษาวินัยการใช้แสงและเสียง

- ใช้เทคนิคการพรางอย่างเหมาะสม

ข. การระวังป้องกันในการรบด้วยวิธีรุก ประกอบด้วยการลาดตระเวนและระวังป้องกัน หรือเพื่อค้นหาที่ตั้งข้าศึก และป้องกันกำลังฝ่ายเราจากการจู่โจม เมื่อปะทะข้าศึกสามารถรักษาเสรีในการปฏิบัติไว้ได้ ในขณะเดียวกันหมวดและหมู่ปืนเล็ก ยังต้องรับผิดชอบระวังป้องกันหน่วยของตนเองด้วย ในบางกรณีอาจได้รับมอบกิจเฉพาะให้ลาดตระเวนระวังป้องกันตามแผนของกองร้อย หรือกองพัน หมวดและหมู่ปืนเล็กจะปฏิบัติกิจเฉพาะดังกล่าวให้สำเร็จได้ด้วยการลาดตระเวน จัดตั้งที่ตรวจการณ์ และเคลื่อนที่โดยใช้รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม

ค. การระวังป้องกันในการรบด้วยวิธีรับ หมวดและหมู่ปืนเล็กใช้มาตรการระวังป้องกันทั้งเชิงรุกและเชิงรับ รวมทั้งการปฏิบัติต่างๆ ที่จะขัดขวางกำลังส่วนลาดตระเวนของข้าศึกไม่ให้ทราบที่ตั้งที่แท้จริงของฝ่ายเรา ทั้งนี้ด้วยการทำลายกำลังส่วนลาดตระเวนของข้าศึก หรือด้วยการลวงข้าศึก

๑) มาตรการเชิงรุกประกอบด้วย

- การจัดตั้งที่ตรวจการณ์และการลาดตระเวน

- การจัดให้มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ในระดับต่าง ๆ โดยใช้ปัจจัย

METT-T เป็นข้อพิจารณา

- การจัดให้มีการเข้าประจำแนวพร้อมรบตามห้วงเวลา โดยกำหนดรายละเอียดไว้ใน รปจ.

๒) มาตรการเชิงรับประกอบด้วยการพราง การควบคุมการเคลื่อนที่ วินัยการใช้ แสง – เสียง ระเบียบการใช้วิทยุ - โทรศัพท์ การใช้เครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืน รวมทั้งเครื่องมือตรวจการณ์ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนสำหรับอาวุธต่อสู้รถถัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น