วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การรบด้วยวิธีรุก

๑ - ๗ การรบด้วยวิธีรุก


ความมุ่งหมายของการรบด้วยวิธีรุก คือ เพื่อทำลายกำลัง และความตั้งใจในการต่อสู้ของฝ่ายข้าศึก เพื่อยึดภูมิประเทศ พิสูจน์ทราบกำลัง และการวางกำลังของข้าศึก หรือเพื่อลวงหันเหความสนใจหรือตรึงกำลังข้าศึก โดยปกติหมวดและหมู่ปืนเล็กจะปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุกเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยใหญ่ แต่ก็สามารถปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุกในบางรูปแบบเป็นอิสระได้ ผลสำเร็จจะอยู่ที่ผู้บังคับกองร้อยสามารถใช้อำนาจกำลังรบอย่างเหมาะสม ณ จุดที่ต้องการผลแตกหัก

คุณลักษณะของการรบด้วยวิธีรุกประกอบด้วย ความอ่อนตัว การจู่โจม การรวมกำลัง ความเร็ว และความห้าวหาญ

การปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุก ประกอบด้วย การเคลื่อนที่เข้าปะทะ การเข้าตี การตีโฉบฉวย การลาดตระเวน และระวังป้องกัน และการซุ่มโจมตี

ก. การเคลื่อนที่เข้าปะทะ การเคลื่อนที่เข้าปะทะ เป็นการปฏิบัติเชิงรุกเข้าหาข้าศึก โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ปะทะข้าศึกหรือเพื่อกลับเข้าปะทะกับข้าศึกใหม่ โดยปกติมักจะขาดข่าวสารข้าศึกอย่างละเอียด ทันทีที่ปะทะข้าศึกหน่วยจะรีบคลี่คลายสถานการณ์ให้ทราบจุดแข็งและจุดอ่อนของข้าศึกโดยเร็ว ตามปกติหมวดปืนเล็กจะเคลื่อนที่เข้าปะทะเป็นส่วนหนึ่งของกองร้อย

ข้อพิจารณาในการวางแผนและปฏิบัติการเคลื่อนที่เข้าปะทะประกอบด้วย

- เริ่มปะทะข้าศึกด้วยกำลังส่วนน้อยที่สุดก่อน

- ปกปิดกำลังส่วนใหญ่ไม่ให้ถูกตรวจพบ จนกว่าจะใช้เข้าทำการรบ

- ระวังป้องกันรอบตัวตลอดเวลา

- รายงานข่าวสารทั้งสิ้นที่รวบรวมได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง

- เมื่อปะทะข้าศึกแล้ว ดำรงการปะทะไว้ตลอดเวลา

- ทำการรบให้สำเร็จด้วยกำลังในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

ข. การแทรกซึม การแทรกซึมเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินกลยุทธ์ในการรบด้วยวิธีรุก เป็นวิธีการเคลื่อนที่เข้าถึงส่วนหลังของข้าศึก โดยไม่ต้องสู้รบผ่านการตั้งรับที่เข้มแข็งของข้าศึก หมวดปืนเล็กทำการแทรกซึมเพื่อเคลื่อนที่ไปยัง หรือผ่านพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยไม่ให้ข้าศึกได้ยิน หรือตรวจการณ์พบ การแทรกซึม มิใช่ความมุ่งหมายของการปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุก แต่เป็นเพียงวิธีการให้บรรลุความมุ่งหมายเท่านั้น

๑) หมวดปืนเล็กทำการแทรกซึมเพื่อ

- รวบรวมข่าวสาร

- เข้าตีที่มั่นข้าศึกจากด้านหลัง

- ตีโฉบฉวย หรือซุ่มโจมตี ในพื้นที่ส่วนหลังของข้าศึก

- จับข้าศึกเป็นเชลย

- ยึดภูมิประเทศสำคัญเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยอื่น

- สนับสนุนการเข้าตีหลัก

๒) การแทรกซึม แบ่งเป็น ๕ ขั้นตอน

ก) การลาดตระเวน เพื่อค้นหาช่องว่าง จุดอ่อนในแนวตั้งรับ และที่ตั้งข้าศึก

ข) การเตรียมการ ประกอบด้วยวางแผน ออกคำสั่ง ประสานงานกับหน่วยด้านหน้า และทางปีก และการซักซ้อม

ค) การแทรกซึม ใช้วิธีการแทรกซึมแบบใดแบบหนึ่ง หลีกเลี่ยงการปะทะ และไม่ต้องสนใจต่อการยิงที่ไม่มีประสิทธิภาพของข้าศึก

วิธีการแทรกซึมมีอยู่ ๓ วิธี คือ

(๑) การแทรกซึมหลายช่องทาง ใช้เมื่อมีช่องทางแทรกซึมตามธรรมชาติอยู่แล้วหลายช่องทาง และลักษณะภูมิประเทศก็เกื้อกูลแก่การเคลื่อนที่หลายช่องทาง ตามวิธีนี้หมู่ปืนเล็กแต่ละหมู่ต่างเคลื่อนที่ในช่องทางของตนเอง

(๒) การแทรกซึมช่องทางเดียว –ครั้งละหมู่ปืนเล็ก ใช้เมื่อมีช่องทางแทรกซึมตามธรรมชาติจำกัด หรือเมื่อภูมิประเทศไม่เกื้อกูลให้ใช้ช่องทางแทรกซึมหลายช่องทาง ตามวิธีนี้หมู่ปืนเล็กจะเคลื่อนที่ในช่องทางเดียวกันแต่ต่างเวลากัน

(๓) การแทรกซึมช่องทางเดียว – ๑ หมู่ปืนเล็ก ใช้เมื่อมีช่องทางแทรกซึมเพียงช่องเดียวเท่านั้นที่หมู่ปืนเล็กสามารถใช้เคลื่อนที่ได้

ง) การเสริมความมั่นคง เป็นการปฏิบัติในพื้นที่ส่วนหลังของข้าศึก หรือบริเวณจุดบรรจบหน่วย หลังจากนั้นจึงเคลื่อนที่ไปยังฐานโจมตี (assault position) หรือจุดนัดพบ ณ ที่หมายเพื่อปฏิบัติภารกิจต่อไป

จ) การปฏิบัติภารกิจ เป็นการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบ ซึ่งอาจเป็นภารกิจทำลายกำลัง หรือยุทโธปกรณ์ข้าศึก ยึดภูมิประเทศสำคัญ หรือพื้นที่สำคัญ จับข้าศึกเป็นเชลย หรือเพื่อรวบรวมข่าวสาร

ค. แบบของการเข้าตี การเข้าตีเป็นการปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุกแบบหนึ่ง มีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ การเคลื่อนที่ที่มีการสนับสนุนด้วยการยิง แบบของการเข้าตีมี ๒ แบบ คือ การเข้าตีเร่งด่วน และการเข้าตีประณีต ข้อแตกต่างที่สำคัญอยู่ที่ปัจจัยเวลาที่มีอยู่สำหรับการเตรียมการเข้าตี นอกจากนี้ยังมีการเข้าตีอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแยกไว้เป็นการเฉพาะคือ การเข้าตีที่มีความมุ่งหมายพิเศษได้แก่การตีโฉบฉวย และการซุ่มโจมตี ความสำเร็จในการเข้าตีอยู่ที่การรวมอำนาจกำลังรบที่ข่มขวัญสูงสุด และการปฏิบัติอย่างรุนแรงต่อกำลังฝ่ายศึก อำนาจข่มขวัญ และความรุนแรงของทหารราบได้มาจากการจู่โจมเป็นสำคัญ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อทำลายขวัญ ความประสานสอดคล้อง แผน ความเป็นปึกแผ่น และกำลังใจในการสู้รบของข้าศึก

ความสำเร็จของการเข้าตีอยู่ที่การผสมผสานแผนการดำเนินกลยุทธ์เข้ากับแผนการยิงสนับสนุน ทั้งการยิงเล็งตรงและเล็งจำลองที่สอดคล้องกัน การดำเนินกลยุทธ์และการยิงสนับสนุนของหมวดปืนเล็กในการเข้าตีนั้น จะมุ่งกระทำไปยังจุดอ่อน ปีกด้านที่ล่อแหลม หรือด้านหลังของข้าศึก ทันทีที่ทราบตำบลที่จะเข้ากระทำการดังกล่าว ผู้บังคับหมวดจะจัดตั้งฐานยิง (Base of fire) ทำการยิงเพื่อสังหาร ตรึง หรือกดข้าศึกไว้ ณ ตำบลนั้น แล้วใช้กำลังที่เหลือดำเนินกลยุทธ์ไปยังด้านที่สามารถเข้าโจมตีต่อตำบลดังกล่าวนั้นได้

๑) การเข้าตีเร่งด่วน การเข้าตีเร่งด่วนเป็นการเข้าตีที่ดำเนินการโดยกำลังที่มีอยู่ขณะนั้นเพื่อดำรงความหนุนเนื่อง หรือ เพื่อชิงความได้เปรียบจากฝ่ายข้าศึก โดยปกติไม่มีเวลาสำหรับเตรียมการอย่างละเอียด

๒) การเข้าตีประณีต การเข้าตีประณีต เป็นการเข้าตีที่มีการวางแผน และประสานงานอย่างละเอียด มีเวลาพอสำหรับการลาดตระเวนอย่างทั่วถึง การประเมินค่าข่าวกรองที่มีอยู่และอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบในเวลานั้น การวิเคราะห์หนทางปฏิบัติหลาย ๆ หนทาง รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อการเข้าตี โดยทั่วไปแล้วการเข้าตีประณีตจะเป็นการเข้าตีต่อที่มั่นข้าศึกที่มีการจัดระเบียบตั้งรับอย่างดี ซึ่งไม่สามารถทำการเข้าตีเร่งด่วนได้ หรือใช้เมื่อการเข้าตีเร่งด่วนล้มเหลว

๓) การตีโฉบฉวย การตีโฉบฉวยเป็นการเข้าตีเจาะลึกเข้าไปพื้นที่ของข้าศึก เพื่อรวบรวมข่าวสาร ทำให้ข้าศึกสับสน หรือเพื่อทำลายที่ตั้งข้าศึก เมื่อบรรลุความมุ่งหมายแล้วทำการถอนตัวกลับตามแผนที่วางไว้

๔) การซุ่มโจมตี การซุ่มโจมตีเป็นการเข้าตีด้วยการยิงอย่างจู่โจมจากที่วางตัว ซึ่งปกปิดกำบัง อาจกระทำต่อข้าศึกขณะเคลื่อนที่ หรือหยุดอยู่กับที่ก็ได้ การซุ่มโจมตีเป็นการผสมผสานคุณลักษณะที่ได้เปรียบจากการรบด้วยวิธีรุก และวิธีรับร่วมกัน

ง. การใช้ความริเริ่มในการเข้าตี การที่จะช่วงชิง และรักษาไว้ซึ่งความริเริ่มนั้นมิใช่กระทำด้วยการจู่โจมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องวางแผนและเตรียมการสำหรับปฏิบัติการรบเป็นอย่างดีด้วย และต้องมีการปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้ คือ ค้นหาข้าศึกให้พบก่อนเป็นลำดับแรก หลีกเลี่ยงการตรวจพบจากฝ่ายข้าศึก ตรึงข้าศึก ค้นหา หรือสร้างจุดอ่อนข้าศึกและดำเนินกลยุทธ์ เพื่อขยายผลต่อจุดอ่อนนั้นด้วยการเข้าโจมตีอย่างรวดเร็วและรุนแรง

๑) การวางแผนและการเตรียมการ ผู้บังคับหมวดใช้ระเบียบการนำหน่วยเพื่อให้มั่นใจว่าได้มีการดำเนินการในขั้นตอนที่สำคัญ สำหรับเตรียมการรบครบถ้วนทุกขั้นตอน นอกจากนั้นยังใช้หัวข้อการประเมินสถานการณ์ เพื่อวิเคราะห์ปัจจัย METT-T และเพื่อพิจารณาหาหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมทั้งเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้บังคับหน่วยทุกระดับทหารทุกคน รวมทั้งยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ สามารถปฏิบัติกิจเฉพาะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการบรรลุภารกิจเป็นส่วนรวมได้เป็นอย่างดี

๒) ค้นหาข้าศึก ผู้บังคับหมวดสามารถค้นหาข้าศึกได้โดยรู้หลักนิยมของข้าศึก วิเคราะห์ภูมิประเทศตามที่รู้หลักนิยมข้าศึก และหลังจากนั้นลาดตระเวนค้นหาให้พบข้าศึก

๓) หลีกเลี่ยงการถูกตรวจพบ หมวดปืนเล็ก หลีกเลี่ยงการถูกตรวจพบโดยเคลื่อนที่ตามแนวทางที่ข้าศึกไม่คาดคิด ซึ่งโดยธรรมดาย่อมเป็นแนวทางที่ยากลำบาก เพื่อใช้ลักษณะภูมิประเทศปิดบังการเคลื่อนที่ ใช้เทคนิคการพรางอย่างเหมาะสม และใช้วิธีการเคลื่อนที่แบบลักลอบ เมื่อสามารถหลีกเลี่ยงการถูกตรวจพบได้ย่อมทำให้หมวดปืนเล็กเป็นฝ่ายจู่โจมได้ตลอดเวลา แต่ความสำเร็จเหล่านี้ขึ้นอยู่กับจินตนาการ และความคิดที่ละเอียดอ่อน กว้างไกล ของผู้บังคับหมวด และความเข็งแกร่ง ทรหดอดทนของทหารทุกคน

๔) ตรึงข้าศึก หมวด และหมู่ปืนเล็กตรึงกำลังข้าศึกโดยการยิงกด เพื่อสังหารข้าศึกส่วนที่อยู่นอกการกำบัง และทำลายระบบอาวุธต่าง ๆ อย่างน้อยที่สุดต้องทำให้ลดความหนาแน่นและความแม่นยำในการยิงของข้าศึกได้

๕) ค้นหาหรือสร้างจุดอ่อน ทำได้ด้วยการค้นหาช่องว่างภายในแนวปีกด้านที่ล่อแหลม หรือตำบลอับกระสุนจากการยิงของข้าศึก หากไม่สามารถค้นหาจุดอ่อนได้จะต้องทำให้เกิดจุดอ่อนขึ้นเช่นใช้การยิงกด หรือการจู่โจมด้วยการปรากฏตัวจากทิศทางข้าศึกไม่คาดคิด

๖) ดำเนินกลยุทธ์เพื่อขยายผลจุดอ่อน ทำได้ด้วยการเคลื่อนที่ไปยังตำบลซึ่งให้การกำบังและซ่อนพรางดีที่สุด และจากตำบลนั้นเข้าโจมตี เพื่อทำลายเอาชนะหรือจับเป็นเชลย

๗) เสริมความมั่นคงและจัดระเบียบใหม่ หมวดและหมู่ปืนเล็กต้องรีบเสริมความมั่นคงในพื้นที่ที่วางกำลังอยู่ เพื่อป้องกันการตีโต้ตอบของข้าศึก หลังจากนั้นทำการจัดระเบียบใหม่เพื่อเตรียมปฏิบัติภารกิจต่อไป

จ. มาตรการควบคุม ผู้บังคับหมวดใช้ภาพสัญลักษณ์ทางทหารเป็นมาตรการควบคุมสำหรับการเคลื่อนย้าย การวางกำลัง และการยิงของหมวด

๑) มาตรการควบคุม ไม่ได้มีไว้เพื่อจำกัดเสรีในการปฏิบัติ ผู้บังคับหมวดกำหนดมาตรการควบคุม เพื่อแสดงเจตนารมณ์เน้นน้ำหนักความพยายามของหมวดหรือหมู่ และเพื่อให้มั่นใจในความประสานสอดคล้อง มาตรการควบคุมแต่ละชนิดควรมีความมุ่งหมายเฉพาะเพื่อการบรรลุภารกิจเป็นสำคัญ หากยังไม่มีความมุ่งหมายดังกล่าวผู้บังคับหมวดยังไม่ควรนำมาใช้

๒) มาตรการควบคุมสามารถกำหนดบนแผนที่ แผ่นบริวารยุทธการ ภาพสังเขปยุทธการหรือภูมิประเทศจำลองก็ได้ แต่ต้องพยายามใช้หลักความง่ายในการกำหนดและการตีความ มาตรการควบคุมในการรบด้วยวิธีรุก ประกอบด้วย ที่รวมพล ฐานออกตี เส้นแบ่งเขต เส้นทางเคลื่อนที่ จุดแยก จุดเริ่มต้น เส้นหลักการรุก ทิศทางเข้าตี แนวขั้น จุดตรวจสอบ ฐานโจมตีที่หมาย จุดประสานงาน จุดนัดพบ ช่องทางแทรกซึม แนวปรับรูปขบวน และแนวจำกัดการรุก รายละเอียดและตัวอย่างการใช้มาตรการควบคุม ศึกษาได้จาก รส. ๑๐๑-๕-๑

ฉ.การเข้าตีระหว่างทัศนวิสัยจำกัด การเข้าตีระหว่างทัศนวิสัยจำกัดทำให้ได้มาซึ่งการจู่โจม หลีกเลี่ยงการสูญเสียอย่างหนัก สร้างความตื่นตระหนกแก่ข้าศึกส่วนที่อ่อนแอและขาดระเบียบ ขยายผลแห่งความสำเร็จ ดำรงความหนุนเนื่อง และสร้างความกดดันต่อกำลังข้าศึก หมวดและหมู่ปืนเล็กเข้าตีเวลาใดก็ได้ในระหว่างทัศนวิสัยจำกัด ความมืด หมอก ฝนตกหนักหรือหิมะตก รวมทั้งควันและฝุ่นในสนามรบช่วยทำให้เกิดสภาพทัศนวิสัยจำกัด ซึ่งอำนวยให้หมวดและหมู่ปืนเล็กเคลื่อนที่โดยไม่ถูกตรวจพบจากฝ่ายข้าศึกได้

๑) หลักพื้นฐานการเข้าตีระหว่างทัศนวิสัยจำกัด ประยุกต์ใช้หลักการเข้าตีในเวลากลางวันและต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

- หมู่ปืนเล็กต้องได้รับการฝึกเป็นอย่างดี

- มีแสงตามธรรมชาติเพียงพอต่อการใช้เครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืน

- แผนการปฏิบัติมีความง่ายและมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม

- มีการลาดตระเวนอย่างละเอียด และได้ผลบริเวณที่หมาย เส้นทาง จุดผ่านแนว ที่ตั้งของส่วนสนับสนุนการเข้าตีด้วยการยิง และที่ตั้งที่สำคัญอื่น ๆ

๒) ข้อพิจารณา ผู้บังคับหมวดต้องพิจารณาถึงความยุ่งยากที่เพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากสภาพทัศนวิสัยจำกัด ที่จะมีผลต่อการปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้

- การควบคุมการเคลื่อนที่ทั้งเป็นบุคคล และเป็นหน่วย

- การพิสูจน์ทราบเป้าหมาย และการควบคุมการยิงทั้งยิงเล็งตรงและเล็งจำลอง

- การรักษาทิศทางในการเคลื่อนที่ให้ถูกเป้าหมาย

- การพิสูจน์ทราบกำลังฝ่ายเราและฝ่ายตรงข้าม

- การจัดตั้งตำบลรวบรวม การรักษาพยาบาล และการส่งกลับผู้บาดเจ็บ

- การค้นหาที่ตั้ง การอ้อมผ่าน หรือการเจาะเครื่องกีดขวางข้าศึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น