วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การระวังป้องกัน

เทคนิคการระวังป้องกันที่หมวดและหมู่จะต้องใช้ในการระวังป้องกันตนเองและหน่วยใหญ่ระหว่างการเคลื่อนที่ ทั้งในการรบด้วยวิธีรุกและการรบด้วยวิธีรับ


๒ - ๔ การระวังป้องกันระหว่างการเคลื่อนที่

การระวังป้องกันระหว่างการเคลื่อนที่ หมายรวมถึงการปฏิบัติของหน่วยที่จะต้องทำการระวังป้องกันตนเอง และกิจที่ได้รับมอบให้ทำการระวังป้องกันให้กับหน่วยใหญ่

ก. หมวดและหมู่ปืนเล็กจะต้องจัดให้มีการระวังป้องกันตนเองระหว่างการเคลื่อนที่ โดยใช้ภูมิประเทศที่ให้การปกปิดกำบัง การใช้รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่อย่างเหมาะสม การปฏิบัติเมื่อข้ามผ่านพื้นที่อันตราย วินัยในการใช้แสง เสียง และวิทยุ รวมทั้งการใช้เทคนิคในการพรางเป็นรายบุคคลอย่างเหมาะสม

๑) ภูมิประเทศ ในการวางแผนการเคลื่อนที่ ผู้บังคับหน่วยจะใช้ข้อพิจารณาลักษณะภูมิประเทศทางทหาร ( OCOKA ) พิจารณาภูมิประเทศที่มีลักษณะหลีกเลี่ยงเครื่องกีดขวาง ให้การป้องกันการยิงจากอาวุธเล็งตรงและเล็งจำลอง รวมทั้งการตรวจการณ์ทั้งทางพื้นดินและทางอากาศจากฝ่ายข้าศึก หลีกเลี่ยงภูมประเทศสำคัญที่อาจถูกข้าศึกยึดครอง และหลีกเลี่ยงภูมิประเทศที่สังเกตเห็นได้ง่าย หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงภูมิประเทศดังกล่าวข้างต้นได้ ผู้บังคับหน่วยจะต้องทำการพิสูจน์ทราบก่อนเคลื่อนที่ผ่าน เมื่อปฏิบัติการในฐานะเป็นส่วนนำหรือส่วนระวังป้องกันปีกของกำลังส่วนใหญ่ หมวดและหมู่ปืนเล็กอาจได้รับมอบกิจเฉพาะให้ทำการยึดครองภูมิประเทศสำคัญในห้วงระยะเวลาสั้น ๆ ขณะที่กำลังส่วนใหญ่เคลื่อนที่ผ่าน

๒) รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่ การใช้รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่ในการระวังป้องกันทำได้โดย

- กำหนดตำแหน่งของกำลังพลแต่ละนายให้สามารถตรวจการณ์ และทำการยิงได้ในลักษณะเหลื่อมเข้าไปในพื้นที่ตรวจการณ์และการยิงของอีกนายหนึ่ง

- วางกำลังส่วนย่อยออกไปข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อหากเกิดการปะทะจะเป็นการปะทะกับส่วนย่อยหรือส่วนนำเท่านั้น และจะเปิดโอกาสให้กำลังส่วนใหญ่ที่เหลือของหมวดมีเสรีในการดำเนินกลยุทธ์

- จัดให้มีส่วนเฝ้าตรวจของหมวด

การเลือกใช้รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่นั้น ผู้บังคับหมวดจะต้องพิจารณาถึงความต้องการอื่น เช่น ความเร็วและการควบคุม ควบคู่ไปกับการระวังป้องกันด้วย ในตอนที่ ๓ (การเคลื่อนที่) จะแจกแจงรูปขบวนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บังคับหน่วยใช้ประกอบการพิจารณาว่าจะใช้รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่ใดที่ดีที่สุด เพื่อประกอบกับปัจจัยมูลฐาน (METT – T)

๓) การระวังป้องกัน ณ พื้นที่อันตราย ในหัวข้อ ๒ - ๑๑ (การปฏิบัติ ณ พื้นที่อันตราย) จะอธิบายว่า หมวดและหมู่ปืนเล็กจะจัดการระวังป้องกันอย่างไรก่อนการข้ามผ่านพื้นที่อันตราย

๔) วินัยในการพราง แสง เสียง และการใช้วิทยุโทรศัพท์ ผู้บังคับหมวดจะต้องมั่นใจว่ากำลังพลทุกนายได้ทำการพรางอย่างกลมกลืนกับลักษณะภูมิประเทศและฤดูกาล รวมทั้งวินัยในการใช้แสง เสียง และวิทยุโทรศัพท์ที่กำหนดไว้ใน รปจ.ของหน่วย (ดูบทที่ ๕)

ข. หมวดและหมู่ปืนเล็กอาจปฏิบัติการในฐานะเป็นส่วนระวังป้องกันทางด้านหน้า ปีก หรือด้านหลังของหน่วยใหญ่ จะต้องใช้เทคนิคการระวังป้องกันระหว่างการเคลื่อนที่ตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นให้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนที่ ๔ จะอธิบายถึงการปฏิบัติของหมวดปืนเล็กในฐานะส่วนระวังป้องกันในการเคลื่อนที่เข้าปะทะ

ค. ในระหว่างการหยุดหน่วยห้วงระยะเวลาสั้น ๆ กำลังพลทุกนายจะต้องกระจายกำลังออกไป และอยู่ในท่าหมอบหลังเครื่องกำบัง ตรวจการณ์ไปยังเขตที่ได้รับมอบระหว่างการเคลื่อนที่ ผู้บังคับหมวดจะต้องจัดตั้งที่ตรวจการณ์และวางอาวุธกล รวมทั้งอาวุธต่อสู้รถถังไว้ในทิศทางที่คาดว่าข้าศึกจะเคลื่อนที่เข้ามา กำลังพลทุกนายต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาและเคลื่อนที่ให้น้อยที่สุด หากทัศนวิสัยจำกัดผู้บังคับหมวดต้องใช้เครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืน

ง. หากเป็นการหยุดหน่วยเป็นระยะเวลานาน ๆ หมวดจะต้องทำการตั้งรับแบบวงรอบ ผู้บังคับหมวดจะต้องมั่นใจว่าภูมิประเทศที่หยุดหน่วยนั้นเหมาะสมกับการตั้งรับ และจะต้องจัดการตั้งรับโดยใช้ข้อพิจารณาตามที่จะอธิบายต่อไปในตอนที่ ๕

จ. การระวังป้องกันระหว่างหยุดหน่วยในบางครั้ง ผู้บังคับหมวดอาจจัดให้มีการซุ่มโจมตีโดยใช้กำลังขนาดหมู่ปืนเล็ก โดยจะต้องเป็นผู้กำหนดพื้นที่ให้คำแนะนำในการเริ่มต้น และควบคุมการซุ่มโจมตี รวมทั้งการบรรจบหมู่เข้ากับหมวดปืนเล็ก

๒ - ๕ การระวังป้องกันในการเข้าตี

การระวังป้องกันในการเข้าตี หมายรวมถึงการปฏิบัติของหมู่และหมวดปืนเล็กในการค้นหาข้าศึก การหลีกเลี่ยงหรือป้องกันกำลังส่วนใหญ่จากการถูกพิสูจน์ทราบ และเพื่อป้องกันหน่วยในระหว่างการเข้าตี ณ ที่หมาย

ก. การเคลื่อนที่เข้าปะทะ หมวดและหมู่ปืนเล็กจะปฏิบัติภารกิจระวังป้องกันหรือเป็นส่วนกำบังให้กับกำลังส่วนใหญ่ในการเคลื่อนที่เข้าปะทะ (ดูตอนที่ ๓)

ข. การลาดตระเวนหาข่าว ก่อนปฏิบัติการรบด้วยวิธีรุกจะต้องทำการลาดตระเวนหาข่าวเกี่ยวกับข้าศึก เพื่อนำมาพิจารณาว่าข้าศึกมีอำนาจกำลังรบและประกอบกำลังอย่างไร เทคนิคในการลาดตระเวนหาข่าวของหมวดและหมู่ปืนเล็กจะอธิบายไว้ในบทที่ ๓

ค. การเข้าตีเร่งด่วนและการเข้าตีประณีต ในการเคลื่อนที่จากที่รวมพลไปยังที่หมาย หมวดและหมู่ปืนเล็กจะใช้เทคนิคการระวังป้องกันระหว่างการเคลื่อนที่เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้แล้ว ทั้งส่วนฐานยิงและส่วนดำเนินกลยุทธ์จะต้องจัดการระวังป้องกันตนเองในระหว่างปฏิบัติกิจเฉพาะที่ได้รับมอบด้วย

๑) ส่วนฐานยิง ผู้บังคับหมวดหรือรองผู้บังคับหมวดซึ่งควบคุมส่วนฐานยิง จะต้องกำหนดให้กำลังพลที่อยู่ทางด้านปีกคอยตรวจการณ์ และ/หรือหากจำเป็นให้ทำการยิงไปทางด้านปีกขณะเข้าโจมตีข้าศึกบริเวณที่หมาย นอกจากนั้นส่วนฐานยิงจะต้องทำการระวังป้องกันทางด้านหลังด้วย

๒) ส่วนดำเนินกลยุทธ์ ขณะเข้าทำการโจมตีที่หมาย ส่วนดำเนินกลยุทธ์จะต้องทำการระวังป้องกันตนเองทั้งทางปีกและด้านหลังด้วย ผู้บังคับหมวดจะต้องพิจารณากำหนดให้ส่วนดำเนินกลยุทธ์จับเป็นคู่ (buddy) ตรวจการณ์ทางด้านปีกและด้านหลังในระหว่างกวาดล้างสนามเพลาะ หมวดจะต้องเตรียมพร้อมต่อการตีโต้ตอบของข้าศึกจากทุกส่วนของคูที่ได้กวาดล้างไปแล้วทางด้านหลังของชุดยิงที่เป็นส่วนนำ ส่วนฐานยิงจะต้องทำการระวังป้องกันให้กับส่วนดำเนินกลยุทธ์ด้วยการโจมตีต่อข้าศึกที่เข้าตีโต้ตอบหรือกำลังเพิ่มเติมของข้าศึก แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาแล้วว่าส่วนดำเนินกลยุทธ์จะต้องไม่ได้รับอันตรายจากการยิงของฝ่ายเดียวกัน (ส่วนฐานยิง)

ง. การเสริมความมั่นคง หมวดและหมู่ปืนเล็กจะต้องจัดการระวังป้องกันอย่างรวดเร็วในการเสริมความมั่นคง ณ ที่หมายด้วยการจัดตั้งที่ตรวจการณ์ในทิศทางที่คาดว่าข้าศึกน่าจะใช้เคลื่อนที่เข้าหาฝ่ายเรา และแบ่งมอบเขตการยิงของแต่ละส่วนให้ทาบทับกัน เพื่อให้สามารถระวังป้องกันได้ทั่วถึง (ตอนที่ ๕)

๒ - ๖ การระวังป้องกันในการตั้งรับ

การระวังป้องกันในการตั้งรับ หมายรวมถึงมาตรการทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ในการหลีกเลี่ยงจากการตรวจจับหรือลวงข้าศึก และไม่ยอมให้ส่วนลาดตระเวนของข้าศึกทราบที่ตั้งของฝ่ายเรา

ก. ภูมิประเทศ ผู้บังคับหน่วยจะใช้ข้อพิจารณาลักษณะภูมิประเทศทางทหาร ( OCOKA ) เพื่อพิจารณาภูมิประเทศในการวางแผนการระวังป้องกันในการตั้งรับ โดยจะต้องเลือกภูมิประเทศที่ให้การป้องกันจากการตรวจการณ์และการยิงของข้าศึก รวมทั้งจะต้องสามารถตรวจการณ์และทำการยิงไปยังพื้นที่ที่ต้องการทำลายหรือยับยั้งการเข้าตีของข้าศึกได้ด้วย หากจำเป็นผู้บังคับหน่วยอาจใช้เทคนิคการตั้งรับ เช่น การตั้งรับบนลาดหลังเนิน หรือการตั้งรับแบบวงรอบ เพื่อเสริมการระวังป้องกันในการตั้งรับก็ได้ และจะต้องวางแผนคุ้มครองเครื่องกีดขวางทั้งทางปีกและด้านหลัง โดยสนธิเข้ากับการยิงเพิ่มเติม รวมทั้งจะต้องพิจารณาภูมิประเทศสำคัญบริเวณข้างเคียงที่จะเป็นภัยคุกคามต่อการระวังป้องกันที่ตั้งด้วยการจัดตั้งที่ตรวจการณ์ และคุ้มครองด้วยการยิงทั้งการยิงเล็งตรงและเล็งจำลอง ท้ายที่สุดผู้บังคับหน่วยจะต้องจัดตั้งที่ตรวจการณ์ตามช่องทางที่คาดว่าข้าศึกน่าจะใช้เคลื่อนที่เข้าหาฝ่ายเราเพื่อให้มีการแจ้งเตือนแต่เนิ่น

ข. ที่ตรวจการณ์ แต่ละหมวดควรจัดตั้งที่ตรวจการณ์อย่างน้อยที่สุด ๑ จุด ผู้บังคับหมวดจะเป็นผู้กำหนดที่ตั้งและเส้นทางเข้าออกที่ตรวจการณ์อย่างกว้าง ๆ ผู้บังคับหมู่จะเป็นผู้เลือกที่ตั้งที่แน่นอน ในตอนที่ ๑๒ จะกล่าวถึงเทคนิคที่หมวดและหมู่ปืนเล็กใช้ในการจัดตั้งและการใช้กำลังพล ณ ที่ตรวจการณ์

เมื่อหมวดปืนเล็กได้รับมอบภารกิจให้ทำหน้าที่เป็นส่วนกำบังให้กับกำลังส่วนใหญ่ในการตั้งรับ อาจจัดตั้งที่ตรวจการณ์โดยใช้หมู่ปืนเล็กจะรับผิดชอบภารกิจในการลาดตระเวนระหว่างที่ตรวจการณ์ที่จัดตั้งขึ้น

ค. การลาดตระเวน ในการปฏิบัติการตั้งรับ หมวดปืนเล็กควรจะทำการลาดตระเวนเชิงรุกออกไปข้างหน้าและทางด้านปีก ซึ่งการลาดตระเวนที่ทำควรจะรวมถึงการลาดตระเวนบริเวณพื้นที่อับกระสุน ช่องว่างระหว่างรอยต่อหน่วย ปีกเปิด และช่องว่างหรือช่องทางทางยุทธวิธีก็ได้ รวมทั้งลวดหนามป้องกันตนเอง การลาดตระเวนอาจจะใช้ทั้งเพื่อการจัดตั้งและผลัดเปลี่ยนกำลังพล ณ ที่ตรวจการณ์ก็ได้

ผู้บังคับหมวดจะต้องระลึกไว้เสมอว่า การลาดตระเวนทุกครั้งไม่จำเป็นต้องเกิดจากความริเริ่มของหน่วยเหนือ ในบทที่ ๓ จะอธิบายถึงเทคนิคการลาดตระเวนของหมวดและหมู่ปืนเล็ก

ง. มาตรการเชิงรับ หมวดปืนเล็กอาจได้รับมอบหมายให้ทำการคุ้มครองบางพื้นที่ในเขตรับผิดชอบ ด้วยการใช้อุปกรณ์ตรวจการณ์เวลากลางคืน กล้องตรวจจับด้วยรังสีความร้อน หรืออุปกรณ์เตือนภัย ซึ่งระบบต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องวางให้สัมพันธ์กับภาพร่างของเขตรับผิดชอบของหมวด มาตรการเชิงรับนี้หมายรวมถึงวินัยในการพราง การควบคุมการเคลื่อนที่ การใช้เสียง แสง และวิทยุโทรศัพท์ด้วย

จ. มาตรการในการลวง หมายรวมถึงการปฏิบัติของหมวดและหมู่ปืนเล็กในการที่จะชักนำหรือเหนี่ยวนำข้าศึกปฏิบัติการแตกต่างหรือเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับที่ต้องการจะปฏิบัติ

หมวดปืนเล็กอาจใช้มาตรการในการลวงเฉพาะพื้นที่ เช่น การลวงในเรื่องที่ตั้ง หรือการวางลวดหนามเพิ่มเติม เป็นต้น

ฉ. การปฏิบัติการลวง หมวดปืนเล็กอาจได้รับมอบให้ทำการลวงให้กับหน่วยใหญ่ การปฏิบัติการนี้ได้แก่ การแสดงลวง การเข้าตีลวง การแสดงให้เห็น และการใช้กลอุบายต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากแล้วหมวดปืนเล็กจะปฏิบัติกิจเหล่านี้ในลักษณะที่เป็นไปตามปกติ แต่จะเป็นไปอย่างจำกัดภายในกรอบที่ได้รับมอบ เช่น การเข้าตีลวง หรือการสร้างภาพปรากฏให้ข้าศึกเข้าใจผิด เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น