วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การตั้งรับลาดหลังเนิน

๒) ข้อเสียเปรียบของการตั้งรับลาดหลังเนิน


- ตรวจการณ์ฝ่ายข้าศึกได้ยากลำบาก เนื่องจากทหารสามารถมองเห็นได้ไกลสุดเพียงยอดเนินเท่านั้น จึงไม่สามารถทราบความคืบหน้าในการเคลื่อนที่ของฝ่ายข้าศึกได้ และจะยิ่งลำบากมากขึ้นในระหว่างทัศนวิสัยจำกัด ดังนั้นจึงต้องจัดตั้งที่ตรวจการณ์หลาย ๆ แห่งเลยหน้ายอดเนินออกไปเพื่อให้ตรวจการณ์ได้ไกลและแจ้งเตือนแต่เนิ่น

- การเคลื่อนที่ออกจากที่มั่นตั้งรับภายใต้ความกัดดันจากข้าศึก ทำได้ยากลำบากกว่าการตั้งรับแบบอื่น

- โดยปกติจะมีพื้นการยิงจำกัด การยิงกวาดอาจทำได้ในระยะน้อยกว่า ๖๐๐ เมตร

- การคุ้มครองเครื่องกีดขวางที่วางไว้บนลาดหน้าเนิน ทำได้ด้วยการยิงเล็งจำลอง หรือการยิงเล็งตรงจากหน่วยที่อยู่ทางปีกเท่านั้น เว้นแต่จะมีการวางอาวุธยิงไว้ข้างหน้าแต่เนิ่น

- หากข้าศึกเข้าตียึดยอดเนินได้ จะสามารถเข้าตีลงมาจากยอดเนิน อาจทำให้ข้าศึกเป็นฝ่ายได้เปรียบทางจิตวิทยา

- หากจัดตั้งที่ตรวจการณ์ไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม ข้าศึกอาจปรากฏตัวขึ้นอย่างฉับพลันในระยะใกล้ โดยฝ่ายตั้งรับไม่ได้รับการแจ้งเตือนมาก่อน

๓) สำหรับหมวดปืนเล็กในแนวหน้าจะอยู่ห่างจากยอดเนินประมาณ ๒๐๐ - ๕๐๐ เมตร ซึ่งจะทำให้มีพื้นการยิงที่ดีที่สุด และขณะเดียวกันก็มีความได้เปรียบจากการใช้ลาดหลังเนินด้วย

๔) หากอยู่ในระยะที่สามารถยิงสนับสนุนกันได้ อาจวางกำลังหมวดปืนเล็กเฝ้าตรวจ (overwatching) ไว้บนลาดด้านหน้าของเนินอีกลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ถัดไปข้างหลัง (counter slope) เพื่อให้ปฏิบัติกิจต่าง ๆ ดังนี้

- ป้องกันปีก และด้านหลังของกำลังส่วนที่อยู่ข้างหน้า

- เพิ่มเติมกำลังยิงให้แก่กำลังส่วนที่อยู่ข้างหน้า

- สกัดกั้นการเจาะแนวตั้งรับกำลังส่วนที่อยู่ข้างหน้า

- กำบังการถอนตัวให้แก่หน่วยข้างหน้า

- ตีโต้ตอบ

๕) ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก ต้องวางแผนการยิงเล็งจำลองในการยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย บนยอดเนินหรือใกล้เคียง เพื่อขัดขวางไม่ให้ข้าศึกเข้ายึดยอดเนิน และเพื่อหยุดการเข้าตีของข้าศึก เมื่อข้าศึกเคลื่อนที่ถึงยอดเนิน

๖) หมวดปืนเล็กแต่ละหมวดต้องจัดตั้งที่ตรวจการณ์ไว้บนยอดเนินหรือเลยหน้ายอดเนินออกไป เพื่อให้สามารถตรวจการณ์เห็นครอบคลุมเขตการยิงของหมวดได้อย่างทั่วถึง ที่ตรวจการณ์เหล่านี้อาจจัดกำลังแตกต่างกันตั้งแต่แห่งละ ๒ นาย จนถึง ๑ หมู่ปืนเล็ก เพิ่มเติมกำลังด้วยปืนกลหรืออาวุธต่อสู้รถถัง

๗) การวางเครื่องกีดขวาง ควรวางบริเวณต่ำกว่ายอดเขาลงมาทางด้านกำลังฝ่ายเรา สนธิด้วยแผนการยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย จะทำให้การเข้าตีของข้าศึกต้องหยุดหรือชักช้าลงได้

๘) การปฏิบัติการตั้งรับลาดหลังเนิน คงเหมือนกับการปฏิบัติการตั้งรับลาดหน้าเนินนั่นเอง จะมีแตกต่างกันบ้างในเรื่องที่ตรวจการณ์ต่าง ๆ หน้าที่มั่นตั้งรับไม่เพียงแต่ทำหน้าที่แจ้งเตือนการเข้ามาของข้าศึกเท่านั้น แต่จะทำหน้าที่รั้งหน่วง ลวง และทำลายระเบียบในการเข้าตีของข้าศึกด้วยการยิงอีกด้วย หลังจากนั้นจะถอนตัวก่อนที่จะเกิดการรบติดพันกับข้าศึก โดยจุดตรวจการณ์ที่มีปืนกลร่วมอยู่ด้วยจะถอนตัวก่อน เพื่อรีบเข้าที่มั่นหลักของตนก่อนที่ข้าศึกจะถึงยอดเนิน ระหว่างการถอนตัวของที่ตรวจการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อาวุธวิถีโค้งจะยิงลงบนลาดหน้าเนินและบนยอดเนิน เพื่อสกัดกั้นการรุกของข้าศึกไว้ กำลังส่วนใหญ่ในที่มั่นตั้งรับหลักจะยังไม่ทำการยิงจนกว่าข้าศึกจะเคลื่อนที่ข้ามพ้นยอดเนินลงมาจึงเปิดฉากยิงด้วยอาวุธทุกชนิดที่มีอยู่

๙) ในกรณีที่ข้าศึกเข้าตีข้ามยอดเนินมาแล้ว แต่การเข้าตีล้มเหลว ข้าศึกอาจเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งคือ ถอยกลับ อ้อมผ่าน หรือพยายามโอบล้อมฝ่ายเรา เพื่อตอบโต้การปฏิบัติดังกล่าวกำลังส่วนที่ทำหน้าที่เฝ้าตรวจอยู่ต้องวางการยิงไปยังปีกของลาดหน้าเนิน และกำลังส่วนตั้งรับหลักเองก็ต้องมีที่มั่นเพิ่มเติมที่เหมาะสมและมีเครื่องกีดขวางเพียงพอในทิศทางต่าง ๆ ขณะเดียวกันกำลังระวังป้องกันต้องแจ้งเตือนได้ทันการว่าข้าศึกกำลังจะอ้อมผ่าน หรือโอบล้อมที่มั่นตั้งรับ และเพื่อป้องกันยานเกราะ ยานยนต์ หรือกำลังส่วนที่เคลื่อนที่เข้าตีตามเส้นทางเข้ามาทางปีก ผู้บังคับหน่วยฝ่ายตั้งรับทุกระดับควรวางการยิงอาวุธต่อสู้รถถัง และอาวุธกลไปทางปีกของลาดหลังเนิน

ค. การตั้งรับรอบตัว (Perimeter Defense) ข้อได้เปรียบประการสำคัญของการตั้งรับรอบตัว (รูปที่ ๑-๒) คือ หมวดปืนเล็กมีความพร้อมต่อการเข้าตีของข้าศึกทุกทิศทาง ส่วนข้อเสียเปรียบประการสำคัญคือ ไม่มีการรวมอำนาจกำลังรบต่อแนวทางการเคลื่อนที่ของข้าศึกไว้แต่เริ่มแรก การตั้งรับรอบตัวแตกต่างจากการตั้งรับแบบอื่นดังนี้

- แนวที่มั่นตั้งรับของหมวดมีลักษณะเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยม แทนที่จะเป็นแนวเส้นตรง

- พื้นที่รอยต่อระหว่างที่มั่นตั้งรับของหมู่ปืนเล็กแคบกว่า

- ปีกของหมู่ปืนเล็กโค้งมาข้างหลังเพื่อต่อแนวกันเป็นวงรอบ

- อำนาจกำลังรบทั้งหมดวางอยู่บนแนวเส้นรอบวง

- กองหนุน วางกำลังบริเวณจุดศูนย์กลาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น