วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การรบด้วยวิธีรุก

เทคนิค และขั้นตอนการปฏิบัติในภารกิจการรบด้วยวิธีรุก ซึ่งจะประกอบด้วย การเคลื่อนที่เข้าปะทะ การเข้าตีประณีต การเสริมความมั่นคงและจัดระเบียบใหม่ ณ ที่หมาย


๒ - ๑๒ การเคลื่อนที่เข้าปะทะ

เทคนิคในการเคลื่อนที่เข้าปะทะของทหารราบมี ๒ แบบ คือ แบบค้นหาและโจมตี (Search and Attack) และเคลื่อนรูปขบวนเข้าหาข้าศึก (Approach March ) ผู้บังคับหมวดจะเลือกใช้เทคนิคแบบใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ข้าศึก เทคนิคค้นหาและโจมตีใช้เมื่อข้าศึกกระจายกำลัง หลีกเลี่ยงการปะทะ ผละจากการรบหรือถอนตัวเร็ว หรือเพื่อขัดขวางไม่ให้ข้าศึกเคลื่อนไหวในพื้นที่ ส่วนเทคนิคการเคลื่อนรูปขบวนเข้าหาข้าศึกใช้เมื่อข้าศึกตั้งรับอยู่กับที่หรืออยู่ในรูปขบวนเชิงรับ

ก. เทคนิคแบบค้นหาและโจมตี เป็นการใช้หน่วยระดับและหมู่ชุดยิงหลาย ๆ หน่วยแยกปฏิบัติการโดยมีการประสานกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งการปะทะกับข้าศึก หมวดปืนเล็กมุ่งค้นหาข้าศึกให้พบ หลังจากนั้นทำการตรึงกำลังแล้วเข้าทำลายกำลังข้าศึกต่อไป วิธีปฏิบัติคือใช้เทคนิคการลาดตระเวนให้เหมาะสม เพื่อการปรับรูปขบวนเข้าตีเร่งด่วนหรือเข้าตีประณีตต่อไปทำได้ง่ายทันทีที่พบข้าศึก

ข้อพิจารณาในการวางแผนประกอบด้วย

- ปัจจัย METT – T

- ความต้องการกระจายการปฏิบัติ โดยผู้บังคับหมวดเป็นผู้ประสานการปฏิบัติของหมู่ต่าง ๆ

- ความจำเป็นในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน (ผู้บังคับหมวดต้องสามารถตอบโต้การปะทะได้ทันที โดยใช้หมู่อื่นที่ไม่ได้ปะทะข้าศึก)

- ระยะเวลาปฏิบัติการ (อาจจำเป็นต้องระบุการปฏิบัติที่ต่อเนื่องไว้ในแผนด้วย)

- แผนการบรรทุกของทหารเป็นบุคคลต้องเหมาะสม เนื่องจากการค้นหาและโจมตีเป็นการเคลื่อนที่แบบลักลอบ

- การส่งกำลังเพิ่มเติม และการส่งกลับสายแพทย์

- การจัดตำแหน่งที่อยู่ของผู้บังคับหน่วย และกำลังพลที่สำคัญ

- การใช้อาวุธหลักที่สำคัญ

- การใช้ฐานปฏิบัติการลาดตระเวน

- แนวความคิดในการเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการ

- แนวความคิดในการกลับเข้ารวมกำลัง (ผู้บังคับหน่วยทุกคนต้องรู้วิธีปฏิบัติในการกลับเข้ารวมกำลังกันทันทีที่เกิดการปะทะข้าศึก)

ข. เทคนิคแบบเคลื่อนรูปขบวนเข้าหาข้าศึก แนวความคิดในการปฏิบัติสำหรับการใช้เทคนิคนี้คือ เข้าปะทะข้าศึกด้วยกำลังส่วนน้อยที่สุด ผู้บังคับหน่วยมีความอ่อนตัวที่จะดำเนินกลยุทธ์หรืออ้อมผ่านกำลังข้าศึก ในกรณีที่หมวดเคลื่อนที่เป็นส่วนหนึ่งของรูปขบวนของหน่วยใหญ่ อาจได้รับมอบภารกิจให้เป็นกองระวังหน้า กองกระหนาบ หรือกองระวังหลังก็ได้ หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของกำลังส่วนใหญ่ในการเคลื่อนที่และได้รับมอบภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคต

(เมื่อสั่ง) ก็ได้

๑) กองระวังหน้า ภารกิจของหมวดปืนเล็กในฐานะกองระวังหน้า คือ ค้นหาข้าศึกและค้นหาช่องว่าง ปีกและจุดอ่อนในการตั้งรับของข้าศึก กองระวังหน้ามุ่งเข้าปะทะข้าศึกทางพื้นดิน ณ ตำบลที่เลือกไว้ก่อน เพื่อให้ได้การจู่โจม และคลี่คลายสถานการณ์ (อาจทำด้วยการเข้าทำการรบเอง หรือสนับสนุนการเข้าตีของกำลังบางส่วนหรือทั้งหมดของกำลังส่วนใหญ่เมื่อเข้าทำการรบ) กองระวังหน้าจะปฏิบัติการอยู่ภายในระยะยิงสนับสนุนจากอาวุธเล็งจำลองของกำลังส่วนใหญ่

ก) จัด ๑ หมู่ปืนเล็กเป็นหมู่นำ

ข) หมวดปืนเล็กใช้รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม (รูปที่ ๒ - ๓๓)

ค) ผู้บังคับหมวด หมุนเวียนหมู่นำตามความเหมาะสมเพื่อรักษาความสดชื่นและตื่นตัวของกำลังพล
๒) กองกระหนาบ หรือกองระวังหลัง หมวดปืนเล็กทั้งหมดอาจได้รับมอบภารกิจให้ทำหน้าที่กองกระหนาบหรือกองระวังหลังของกองพันในการเคลื่อนที่เข้าปะทะ ด้วยเทคนิคนี้หมวดปืนเล็กจะต้อง


- ใช้รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม ต้องรักษาความเร็วและความหนุนเนื่องในการเคลื่อนที่ให้ทันกับกำลังส่วนใหญ่

- จัดให้มีการแจ้งเตือนแต่เนิ่น

- ทำลายหน่วยลาดตระเวนของข้าศึก

- ป้องกันการตรวจการณ์และการยิงเล็งตรงจากข้าศึกให้กับกำลังส่วนใหญ่

๓) กำลังส่วนใหญ่ เมื่อเคลื่อนที่เป็นส่วนหนึ่งของกำลังส่วนใหญ่ หมวดปืนเล็กอาจได้รับมอบภารกิจเข้าตี อ้อมผ่าน ตรึงกำลังข้าศึก ยึด ครอบคลุม หรือกวาดล้างบริเวณพื้นที่ที่กำหนด หรือหมวดอาจต้องแบ่งกำลังหมู่ปืนเล็ก ๑ หมู่ ออกไปเป็นกองกระหนาบ ซุ่มโจมตีหลังแนวข้าศึก ป้องกันส่วนหลัง หรือระวังป้องกันเพิ่มเติมด้านหน้า หมู่ปืนเล็กดังกล่าวอาจอยู่ในความควบคุมของผู้บังคับกองร้อยโดยตรง หมวดและหมู่ต้องใช้รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม รวมทั้งการใช้เทคนิคการเข้าตีและซุ่มโจมตีอย่างเหมาะสมด้วย

๒ - ๑๓ การเข้าตีประณีต

หมวดและหมู่ปืนเล็กเข้าตีประณีตเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยใหญ่

ก. ข้อพิจารณาในการวางแผน ใช้ระเบียบการนำหน่วย และการประมาณสถานการณ์เป็นหลักในการวางแผน (ดูตอนที่ ๑)

๑) หมวดปืนเล็กอาจเข้าตีโดยเป็นส่วนฐานยิง (base of fire element) หรือส่วนโจมตี (assault element) ก็ได้ เมื่อหมวดปืนเล็กได้รับภารกิจให้เป็นส่วนเข้าตีสนับสนุน หรือให้เข้าตีที่หมายแยกต่างหาก ผู้บังคับหมวดปืนเล็กจะจัดตั้งส่วนฐานยิง และส่วนโจมตีเอง ผู้บังคับหมวดจะตกลงใจใช้หมู่ปืนเล็กอย่างไรขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะทำการยิงกดต่อที่หมายได้ ความต้องการอำนาจการยิงของส่วนโจมตีและความต้องการกองหนุนเพื่อดำรงเสรีในการปฏิบัติ ในกรณีที่หมวดปืนเล็กเป็นส่วนปฏิบัติหลัก (main effort) ของกองร้อย หมวดปืนเล็กจะจัดกองหนุนเพียงขนาดเล็ก ต่างจากกรณีที่เป็นส่วนปฏิบัติสนับสนุน (supporting effort) หมวดปืนเล็กอาจจัดกองหนุนมีกำลังถึงขนาด ๑ หมู่ปืนเล็ก ผู้บังคับหมวดอาจใช้หมู่ต่าง ๆ ของตนอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

ก) สองหมู่ปืนเล็ก กับปืนกล ๑ หรือทั้ง ๒ กระบอกเป็นส่วนฐานยิงและหนึ่งหมู่ปืนเล็ก (กับปืนกลที่เหลือ) เป็นส่วนโจมตี

ข) หนึ่งหมู่ปืนเล็ก กับปืนกล ๑ หรือทั้ง ๒ กระบอกเป็นส่วนฐานยิงและสองหมู่ปืนเล็ก (กับปืนกลที่เหลือ) เป็นส่วนโจมตี

ค) หนึ่งหมู่ปืนเล็กกับปืนกล ๑ หรือทั้ง ๒ กระบอกเป็นส่วนฐานยิง หนึ่งหมู่ปืนเล็กเป็นส่วนโจมตี และอีก ๑ หมู่ปืนเล็ก (กับปืนกลที่เหลือ) เคลื่อนที่ติดตามและสนับสนุนส่วนโจมตี วิธีนี้เหมาะสำหรับการจัดเฉพาะกิจ เพื่อการเข้าตีเมื่อหมวดต้องทำการเจาะผ่านเครื่องกีดขวางในขณะโจมตี
๒) นอกจากนี้หากผู้บังคับกองร้อยต้องการให้แยกการปฏิบัติ ผู้บังคับหมวดต้องแยกพิจารณาอย่างละเอียดถึงลักษณะของที่หมาย ปีกด้านที่ล่อแหลมหรือมีจุดอ่อนให้ขยายผลได้ เส้นทางการเคลื่อนที่และมาตรการควบคุม รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่โดยพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ร่วมกับปัจจัย METT – T และเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา เพื่อพัฒนาแผนการดำเนินกลยุทธ์และแผนการยิงสนับสนุน


ข. การเคลื่อนที่เข้าหาที่หมาย หมวดและหมู่ปืนเล็กเลือกใช้รูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะและเพื่อให้ได้การจู่โจม (ดูตอนที่ ๓) หมวดปืนเล็กต้องไม่ถูกตรวจพบแต่เนิ่น แต่หากถูกตรวจพบก่อนจะต้องรีบรวมอำนาจการยิงทั้งยิงเล็งตรงและเล็งจำลอง จัดตั้งฐานยิง ทำการยิงไปยังที่ตั้งข้าศึก และดำเนินกลยุทธ์เพื่อช่วงชิงความริเริ่มกลับคืนมา

๑) การเคลื่อนที่จากที่รวมพลไปยังแนวออกตี หมวดปืนเล็กเคลื่อนที่ในความควบคุมของกองร้อย หากผู้บังคับหมวดอยู่กับผู้บังคับกองร้อยบริเวณแนวออกตีอยู่แล้ว รองผู้บังคับหมวดจะรับผิดชอบในการนำหมวดเคลื่อนที่ขึ้นไปยังแนวออกตีปืนกล และอาวุธต่อสู้รถถังอาจเคลื่อนที่ขึ้นไปก่อน โดยไปเข้าที่ตั้งยิงเพื่อเฝ้าตรวจและระวังป้องกันให้หมวดบริเวณแนวออกตีหรือใกล้แนวออกตี ผู้บังคับหมวดต้องกะเวลาสำหรับการเคลื่อนที่จากที่รวมพลถึงแนวออกตีให้แม่นยำ โดยคำนวณเวลาขณะที่กำลังตรวจภูมิประเทศ หรือขณะที่ทำการซักซ้อม ทั้งนี้เพื่อให้หมู่นำของหมวดเคลื่อนที่ผ่านแนวออกตีถูกต้องตรงตามตำบลและเวลาที่กำหนด หมวดปืนเล็กควรผ่านแนวออกตีโดยไม่ต้องหยุดหน่วยที่ฐานออกตีหากไม่จำเป็น แต่หากจำเป็นต้องหยุดหน่วย ควรปรับปรุงขบวนการเคลื่อนที่เป็นรูปขบวนสำหรับเข้าตีขั้นต้น จัดส่วนระวังป้องกันและรีบประสานงานในส่วนที่เหลือ ไม่ว่าหมวดปืนเล็กจะหยุดการเคลื่อนที่ที่ฐานออกตีหรือไม่ก็ตาม เมื่อถึงฐานออกตีแล้วจะต้องปรับรูปขบวนการเคลื่อนที่เป็นรูปขบวนการเข้าตี และติดดาบปลายปืนก่อนผ่านแนวออกตี

๒) การเคลื่อนที่จากแนวออกตีไปยังฐานโจมตี หรือฐานยิงสนับสนุน หมวดปืนเล็กต้องเลือกใช้เทคนิคการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม ในกรณีที่จัดทั้งส่วนโจมตีและส่วนสนับสนุน อาจให้ทั้งสองส่วนนี้เคลื่อนที่ไปด้วยกันเพื่อช่วยกันระวังป้องกัน หรืออาจเคลื่อนที่แยกเส้นทางกันเข้าที่วางตัวเลยก็ได้หากต้องการความเร็ว แต่สำหรับส่วนฐานยิงสนับสนุนนั้นจะต้องพร้อมอยู่ ณ ที่ตั้งยิงแล้ว ก่อนที่ส่วนโจมตีจะเคลื่อนที่เลยฐานโจมตีออกไป

ก) ผู้บังคับหมวดต้องวางแผนการปฏิบัติในกรณีที่เกิดการปะทะกับข้าศึกโดยไม่คาดคิด โดยหมู่นำต้องพร้อมปฏิบัติทันทีตามที่ได้ฝึกตามแบบฝึกเพื่อทำการรบมาแล้ว (ดูบทที่ ๔ : แบบฝึกเพื่อทำการรบที่ ๒) ขณะเดียวกันผู้บังคับหมวดต้องรายงานสถานการณ์ให้ผู้บังคับกองร้อยทราบ ผู้บังคับกองร้อยอาจสั่งให้หมวดเข้าทำการรบ ตรึง อ้อมผ่านข้าศึกหรือตั้งรับเร่งด่วนก็ได้

ข) หากหมวดปืนเล็กต้องเคลื่อนที่ผ่านเครื่องกีดขวางซึ่งไม่สามารถอ้อมผ่านได้ จะต้องใช้วิธีการเจาะผ่านเครื่องกีดขวาง (ดูตอนที่ ๑๐ บทที่ ๔ - แบบฝึกเพื่อทำการรบที่ ๘)

ค) หากผู้บังคับกองร้อยให้โอกาสแยกการปฏิบัติ ผู้บังคับหมวดมีเสรีในการกำหนดจังหวะเวลาในการเริ่มยิงของส่วนยิงสนับสนุนของตนได้ แต่ควรพิจารณาปัจจัยสำคัญดังนี้

- การจู่โจม ถ้าการเข้าตียังไม่เปิดเผย ส่วนฐานยิงอาจระงับการยิงไว้ก่อนจนกว่าส่วนโจมตีจะเคลื่อนที่ถึงฐานโจมตี หรือส่วนฐานยิงอาจเริ่มยิงแต่เนิ่นเพื่อหันเหความสนใจของข้าศึกออกไปจากส่วนโจมตีก็ได้ ในกรณีส่วนโจมตีกำลังเคลื่อนที่ไปทางปีกหรือด้านหลังของข้าศึก

- การยิงข่มข้าศึก ผู้บังคับหมวดควรพิจารณาห้วงระยะเวลาที่ต้องการ ในการยิงกดหรือข่มการยิงของข้าศึก ณ ที่หมายรวมทั้งการทำลายอาวุธ และบังเกอร์ของข้าศึกให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะเข้าโจมตี

๓) การเคลื่อนที่จากฐานโจมตีไปยังที่หมาย โดยปกติแล้วฐานโจมตีเป็นพื้นที่สุดท้ายที่มีการกำบังก่อนถึงที่หมาย

ก) ขณะเคลื่อนที่ผ่านฐานโจมตี หมวดปืนเล็กจะปรับรูปขบวนสำหรับการเข้าโจมตีที่หมายคือ ทุกหมู่และชุดยิงจะวางอำนาจการยิงไปข้างหน้าอย่างสูงสุด หมวดปืนเล็กอาจจำเป็นต้องหยุดการเคลื่อนที่บริเวณนี้เพื่อปรับรูปขบวน จัดความประสานสอดคล้อง และเพื่อรอเวลาเข้าโจมตีที่หมายพร้อมกัน แต่ควรหลีกเลี่ยงการหยุดหน่วยดังกล่าว เนื่องจากเป็นพื้นที่อันตราย และอาจทำให้สูญเสียความต่อเนื่องในการเข้าตี

ข) หมู่ปืนเล็กซึ่งเป็นส่วนโจมตีเคลื่อนที่ต่อไปยังที่หมาย ขณะเดียวกันต้องพร้อมทำการเจาะผ่านแนวเครื่องกีดขวางป้องกันตนของข้าศึกด้วย

ค) เมื่อหมวดปืนเล็กกำลังจะเคลื่อนที่เลยที่หมายออกไป ส่วนยิงสนับสนุนต้องเลื่อนการยิงออกไป การยิงทั้งเล็งตรงและเล็งจำลองต้องยิงข่มต่อพื้นที่บริเวณใกล้ที่หมายเพื่อทำลายกำลังข้าศึกที่กำลังผละหนี และเพื่อป้องกันการเพิ่มเติมกำลังของข้าศึกบริเวณที่หมาย

ค. การโจมตีที่หมาย ในขณะที่หมวดปืนเล็กหรือส่วนโจมตีเคลื่อนที่ถึงที่หมาย จะต้องเพิ่มความหนาแน่นในการยิง และเน้นความแม่นยำของการยิงด้วย ผู้บังคับหมู่กำหนดเป้าหมายหรือที่หมายเฉพาะให้กับชุดยิงของตนทำการยิงอย่างรุนแรง ต่อเมื่อสามารถข่มการยิงของข้าศึกลงได้แล้วเท่านั้น กำลังส่วนที่เหลือของหมวดจึงจะดำเนินกลยุทธ์ได้ ขณะที่ส่วนโจมตีเคลื่อนที่เข้าใกล้ที่หมาย จะเน้นการยิงมากกว่าการดำเนินกลยุทธ์ กำลังทั้งหมดเว้น ๑ ชุดยิงอาจใช้เพื่อทำการยิงข่มข้าศึก เพื่อให้ชุดยิงดังกล่าวนั้นสามารถเคลื่อนที่เข้าไปถึงที่ตั้งข้าศึกบนที่หมายได้ตลอดห้วงการโจมตี ทหารแต่ละคนต้องใช้เทคนิคการเคลื่อนที่เป็นบุคคลอย่างเหมาะสม และชุดยิงยังคงรักษารูปขบวนการเคลื่อนที่แบบสามเหลี่ยมแหลมหน้าอย่างกว้าง หมวดปืนเล็กจะไม่ใช้รูปขบวนหมู่หน้ากระดานในการโจมตีผ่านที่หมาย

ง. การเสริมความมั่นคงและจัดระเบียบใหม่ เมื่อการต้านทานของข้าศึกบริเวณที่หมายสิ้นสุดลง หมวดปืนเล็กต้องรีบเสริมความมั่นคงและป้องกันการตีโต้ตอบของข้าศึกเป็นลำดับต่อไป

๑) เทคนิคการเสริมความมั่นคง มี ๒ วิธีคือ ใช้เทคนิคการเสริมความมั่นคงตามระบบนาฬิกา และตามระบบการใช้ลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัด

หมายเหตุ : การระวังป้องกันรอบตัวเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะข้าศึกอาจตีโต้ตอบได้ทุกทิศทาง ผู้บังคับหมวดต้องพิจารณาใช้ภูมิประเทศอย่างรอบคอบ
ก) ระบบนาฬิกา ผู้บังคับหมวดกำหนดทิศทางเข้าตีทิศตามเข็มนาฬิกา และวางกำลังส่วนต่างๆ ตามเข็มนาฬิกาด้วย เพื่อแทนการระบุทิศทางของการปฏิบัติต่าง ๆ ส่วนอาวุธหลักจะตั้งยิงตามแนวทางเคลื่อนที่ที่คาดว่าข้าศึกน่าจะใช้มากที่สุดที่จะเข้ามาสู่ที่ตั้งฝ่ายเรา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ลักษณะภูมิประเทศของผู้บังคับหมวด
ข) การใช้ลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัด คงเช่นเดียวกันกับเทคนิคแบบนาฬิกา คือผู้บังคับหมวดจะกำหนดทิศทางและเขตซ้าย – ขวาสุด โดยใช้ลักษณะภูมิประเทศที่เห็นได้เด่นชัด ไม่ว่าจะใช้เทคนิคใดต้องกำหนดเขตการยิงของหมู่ต่าง ๆ ให้ทาบทับกัน และให้สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ระหว่างหมวดของตนและหมวดข้างเคียงด้วย
๒) การจัดระเบียบใหม่ ปฏิบัติทันทีต่อจากการเสริมความมั่นคงเพื่อเตรียมการเข้าตีต่อไป การจัดระเบียบใหม่ประกอบด้วย


- การจัดระบบบังคับบัญชาและการควบคุมขึ้นใหม่

- จัดทดแทนพลประจำอาวุธหลัก แจกจ่ายกระสุนและยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติม

- ตรวจค้นที่หมายอย่างละเอียดเพื่อค้นหาผู้บาดเจ็บ และเชลยศึก

- สำรวจและรายงานสถานภาพกำลังพล กระสุน สิ่งอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์สำคัญ

๒ - ๑๔ การเข้าตีระหว่างทัศนวิสัยจำกัด

การเข้าตีระหว่างทัศนวิสัยจำกัดทำให้ได้มาซึ่งการจู่โจมหลีกเลี่ยงความสูญเสียอย่างหนัก สร้างความตื่นตระหนกแก่ข้าศึกส่วนที่อ่อนแอ ขยายผลความสำเร็จรักษาความหนุนเนื่องในการเข้าตี และดำรงความกดดันต่อฝ่ายข้าศึก การปฏิบัติการภายในสภาพทัศนวิสัยจำกัด เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของทหารราบ ทุกครั้งเมื่อสามารถทำได้ ทหารราบจะเข้าตีในระหว่างทัศนวิสัยจำกัดเสมอ
ก. การวางแผน ข้อพิจารณาในการวางแผน คงเป็นเช่นเดียวกับการวางแผนเข้าตีในเวลากลางวัน เพียงแต่ต้องมีมาตรการควบคุมมากขึ้นเพื่อป้องกันการสับสน และเพื่อให้กำลังที่เข้าตีมุ่งเฉพาะแต่การปฏิบัติต่อที่หมายเป็นหลัก เช่น เส้นแบ่งเขต แนวจำกัดการยิง และเขตจำกัดการรุก เป็นต้น


ข. การลาดตระเวน เป็นหัวใจของความสำเร็จในการเข้าตีเวลากลางคืน ควรปฏิบัติตั้งแต่เวลากลางวัน ทุกระดับจนถึงหน่วยระดับต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ หมวดปืนเล็กควรลาดตระเวนเส้นทางที่จะใช้ พื้นที่ที่จะวางตัวและที่หมายที่ได้รับมอบ แต่การลาดตระเวนเพื่อให้ได้ข่าวสารต้องไม่ทำให้ข้าศึกตรวจพบ

๑) ในแผนการลาดตระเวน ควรกำหนดให้มีการจัดส่วนระวังป้องกันเฝ้าตรวจที่หมายไว้ด้วย เพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหว กรณีที่ข้าศึกมีการปรับการวางกำลังใหม่ ปรับที่ตั้งยิงอาวุธใหม่ หรือมีการวางเครื่องกีดขวางเพิ่มเติมจากเดิมส่วนระวังป้องกันและเฝ้าตรวจนี้ ควรให้วางตัวบนพื้นที่ที่สำคัญยิงเช่นบริเวณที่มีแผนจะใช้เป็นฐานโจมตี ฐานยิงสนับสนุน แนวออกตี แนวปรับรูปขบวน เส้นทาง และจุดแยกหน่วย เพื่อป้องกันหมวดจากการถูกซุ่มโจมตี หรือถูกข้าศึกเข้าตีทำลายการเข้าตี ส่วนระวังป้องกันและเฝ้าตรวจนี้อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของกำลังที่แยกโดดเดี่ยวจากหมวดในระหว่างการเข้าตี

๒) หากไม่สามารถทำการลาดตระเวนจนได้ข่าวสารที่เพียงพอ เนื่องจากเวลาจำกัด ผู้บังคับหมวดอาจขออนุมัติเลื่อนเวลาการเข้าตีออกไปจนกว่าจะได้ข่าวสารเพียงพอ แต่ถ้าไม่สามารถเลื่อนเวลาเข้าตีออกไปได้ ควรพิจารณาการส่องสว่างสนามรบและการเข้าตีสนับสนุนร่วมด้วย การเข้าตีเวลากลางคืนซึ่งมีข่าวสารข้าศึกไม่กระจ่ายชัดพอนั้น เป็นการเข้าตีที่เสี่ยงและยากแก่การปฏิบัติ

ค. การใช้พลนำทาง จะช่วยให้ผู้บังคับหมวดสามารถควบคุมหน่วยได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในการเคลื่อนที่เข้าสู่ฐานโจมตี และแนวปรับรูปขบวน

๑) กองร้อยอาจจัดชุดลาดตระเวนเพื่อนำพลนำทางของหมวดจากแนวออกตีไปยังจุดแยกต่าง ๆ ทางเข้าฐานโจมตี และจุดต่าง ๆ บนแนวปรับรูปขบวน

๒) พลนำทางต้องได้รับคำชี้แจงอย่างละเอียดถึงแผนการเข้าตีและหน้าที่เฉพาะของตน ทั้งต้องมีการซักซ้อมการปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

- การลาดตระเวนเส้นทางเคลื่อนที่ที่ได้รับมอบและจุดแยก

- การนัดพบและการแยกจากหน่วยที่ตนจะนำทาง ต้องจำตัวผู้บังคับหน่วยที่ตนจะนำทางได้ (หรือทหารที่เดินนำหน้า) โดยการซักซ้อมสัญญาณบอกฝ่าย

๓) หมวดปืนเล็กต้องซักซ้อมการปฏิบัติเหมือนกับการปฏิบัติจริงตรงตามขั้นตอนที่จะใช้ในการเข้าตี เพื่อให้การนัดพบและแยกจากพลนำทางเป็นไปโดยราบรื่น

ง. เทคนิคการควบคุมการยิง เทคนิคที่ใช้ควบคุมการยิงในระหว่างทัศนวิสัยจำกัด มีดังนี้

๑) โดยใช้กระสุนส่องวิถี ผู้บังคับส่วนโจมตีจะใช้กระสุนส่องวิถีชี้เป้าให้กับกำลังพลภายในส่วนของตน ซึ่งกำลังพลภายในแต่ละส่วนโจมตีจะทำการยิงไปยังตำบลที่กระสุนส่องวิถีของผู้บังคับส่วนตกกระทบ ส่วนยิงสนับสนุนจะวางปืนกลติดตั้งบนขาหยั่งไว้บริเวณปีกที่ใกล้กับส่วนโจมตีให้มากที่สุด และทำการยิงกระสุนส่องวิถีทุก ๑๕ วินาที เพื่อให้ส่วนโจมตีทราบว่าอยู่ใกล้กับเขตการยิงสนับสนุนมากน้อยเพียงใด ส่วนอาวุธยิงสนับสนุนอื่น ๆ ทั้งหมดจะทำการยิงไปในทิศทางที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากกระสุนส่องวิถีของปืนกลดังกล่าว หากส่วนโจมตีต้องการใช้กระสุนส่องวิถีเป็นสัญญาณในการขอเลื่อนการยิงไปยังตำบลถัดไปหรือระยะที่กำหนดใหม่ ควรทำการยิงเหนือตำบลที่ส่วนโจมตีวางตัวอยู่เพื่อป้องกันการยิงเข้าใส่ฝ่ายเดียวกัน

๒) แถบเรืองแสงหรือแสงจากสารเคมี ผู้บังคับหน่วยโจมตีจะต้องทำเครื่องหมายกำลังพลในส่วนโจมตีทุกนาย เพื่อป้องกันการยิงเข้าใส่ฝ่ายเดียวกัน แต่การทำเครื่องหมายนี้จะต้องไม่ให้ข้าศึกมองเห็น เทคนิคการทำเครื่องหมายมี ๒ วิธีคือ การใช้แถบเรื่องแสงติดที่ด้านหลังหมวกเหล็กของกำลังพล หรือการใช้แสงอินฟราเรดจากสารเคมีแท่งเล็ก ๆ แต่วิธีนี้ต้องมั่นใจว่าข้าศึกไม่มีกล้องเล็ง/ตรวจการกลางคืน ส่วนสนับสนุนต้องรู้ตลอดเวลาว่าส่วนนำของส่วนโจมตีอยู่บริเวณใด หากเครื่องหมายเป็นบุคคลยังไม่เป็นที่เพียงพอสำหรับการเข้าตี อาจต้องใช้แสงจากสารเคมีเพิ่มเติม (ซึ่งอาจเป็นแสงอินฟราเรด หรือแสงธรรมดาก็ได้ ) เครื่องให้แสงจากสารเคมีเหล่านี้อาจวางไว้ตามพื้นดิน หรือโยนนำทางไปข้างหน้าขณะที่ส่วนโจมตีกำลังเคลื่อนที่ และในระหว่างกวาดล้างที่หมายอาจใช้สารเคมีดังกล่าวผูกติดปลายไม้ให้ทหารที่อยู่หน้าสุดของส่วนโจมตีถือเคลื่อนที่ไปด้วย เพื่อให้ส่วนสนับสนุนสังเกตเห็นได้ชัด ซึ่งจะง่ายแก่การเลื่อนหรือเปลี่ยนย้ายการยิงต่อไป

๓) มาตรการควบคุมเพื่อจำกัดการยิง เพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายจากการยิงของฝ่ายเดียวกันภายในส่วนโจมตี ผู้บังคับหมวดควรกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อจำกัดการยิง

ก) หมู่ปืนเล็กทางปีกขวาของส่วนโจมตีอาจได้รับมอบสถานะการยิง “ เสรี ” ทางปีกขวา เพราะไม่มีทหารฝ่ายเดียวกันอยู่ทางขวาอีกแล้ว แต่ในขณะเดียวกันหมู่ปืนเล็กทางปีกซ้ายอาจได้รับมอบสถานะการยิง “ จำกัด ” หรือ “ ควบคุม ” เมื่อมีทหารฝ่ายเดียวกันอยู่ทางด้านนั้น

ข) ณ บริเวณที่หมาย ส่วนโจมตีจะไม่ใช้อาวุธยิงอัตโนมัติ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่ทำการยิงแบบอัตโนมัติคือข้าศึก

๔) เทคนิคอื่น ๆ ที่ผู้บังคับหมวดอาจนำมาใช้เพื่อควบคุมการยิงมีดังต่อไปนี้

- ระงับใช้พลุส่องสว่าง ลูกระเบิดขว้าง หรือควัน บริเวณที่หมาย

- กำลังพลที่มีเครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืนเท่านั้น ที่จะให้ทำการยิง หรือทำลายเป้าหมายต่าง ๆ บนที่หมาย

- ใช้เข็มทิศรักษาทิศทางการเคลื่อนที่และการยิง

- ใช้ตำบลตกของกระสุน ป. และ ค. บอกทิศทางในการเข้าตี

- ใช้พลนำทาง

- ใช้หมู่หลักหรือชุดยิงหลักในรูปขบวนการเคลื่อนที่ในการนับก้าว และรักษาทิศทางให้กับหมู่หรือชุดยิง

- ลดระยะต่อ ระยะเคียงระหว่างบุคคล และหมู่

- ติดแถบเรืองแสงที่แขนเสื้อหรือหมวกเหล็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น