การกระชับวงล้อม
เป็นการปฏิบัติการต่อเนื่องจากการโอบล้อมขั้นต้น, การจับกุมหรือสังหารกำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบจะดำเนินการตามขั้นตอนของยุทธวิธีและต่อเนื่องโดยตลอด การยิงและการดำเนินกลยุทธ์จะถูกใช้ผสมผสานกันไปภายใต้การควบคุมการปฏิบัติการโอบล้อม ในขณะที่กระชับวงล้อมเข้ามาเส้นรอบวงจะมีความยาวน้อยลง, ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ, อาจมีการเคลื่อนย้ายกำลังบางส่วนกลับมาเพิ่มเป็นกองหนุน; อย่างไรก็ตาม หากเป็นการปฏิบัติต่อกลุ่มข้าศึกขนาดใหญ่แล้ว อาจต้องมีการเพิ่มเติมการปฏิบัติบางอย่าง นอกเหนือไปจากการกระชับวงล้อม (รูป ค – ๑)
การกระชับวงล้อม
ค – ๓ วิธีการฆ้อนและทั่ง
เทคนิคการปฏิบัติแบบฆ้อนและทั่งจะถูกนำมาใช้ภายหลังจากที่ได้ปฏิบัติการกระชับวงล้อมไปบ้างแล้ว เทคนิคแบบนี้จะประกอบด้วยการใช้กำลังส่วนปิดกั้นหนึ่งหรือสองด้านของวงล้อม ซึ่งจะปฏิบัติการในขณะที่กำลังส่วนโอบล้อมใช้การรุกบีบบังคับให้ฝ่ายข้าศึกถอยเข้าหากำลังส่วนปิดกั้น ส่วนโอบล้อมหรือส่วนปิดกั้นส่วนใดส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่ทำลายกำลังของข้าศึกก็ได้, แต่โดยทั่วไปแล้วภารกิจจะสำเร็จด้วยการปฏิบัติของส่วนโอบล้อมเข้าโจมตี เทคนิคการปฏิบัตินี้จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อส่วนปิดกั้นได้วางกำลังอยู่ทางด้านหลัง ซึ่งมีเครื่องกีดขวางตามธรรมชาติ เทคนิควิธีการนี้จะใช้หน่วยหนึ่งหรือสองหน่วยเป็นส่วนตรึงอยู่กับที่ในขณะที่ใช้ส่วนอื่นผลักดันขับไล่ข้าศึกให้ถอยเข้าหาส่วนตรึงนั้น (รูป ค – ๒) เทคนิคนี้อาจถูกนำมาใช้ในระหว่างการกระชับวงล้อมหรือในขณะใดก็ได้ ที่สถานการณ์ทางยุทธวิธีเอื้ออำนวยให้ หน่วยทหารราบส่งทางอากาศหรือหน่วยเคลื่อนที่โจมตีทางอากาศ สามารถนำมาใช้เพื่อยึดภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยสำหรับการปฏิบัติการลึกไปทางด้านหลังของข้าศึก เทคนิคนี้มีประโยชน์มากในการทำลายกำลังของฝ่ายข้าศึก ซึ่งเป็นพวกก่อความไม่สงบ ทั้งนี้เพราะพวกก่อความไม่สงบมักจะทำการสู้รบก็ต่อเมื่อเงื่อนไขเอื้ออำนวยให้เท่านั้น
วิธีการฆ้อนและทั่ง
ค – ๔ วิธีการตอกลิ่ม
วิธีการนี้จะถูกนำมาใช้ในระหว่างการกระชับวงล้อม โดยใช้หน่วยทหารเข้าตัดขาดข้าศึกออกเป็นส่วน ๆ ในขณะที่กำลังของส่วนโอบล้อมทั้งหมดยังตรึงอยู่กับที่ เมื่อข้าศึกถูกตัดออกเป็นส่วน ๆ ที่มีขนาดเล็กแล้วฝ่ายเราก็จะใช้วิธีการกระชับวงล้อม หรือวิธีการฆ้อนและทั่งอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป
การรบกวนและการตรวจค้น
หน่วยที่เหมาะสำหรับปฏิบัติภารกิจการควบคุมการตรวจค้นพลเรือนก็คือ กำลังฝ่ายปราบปรามของประเทศเจ้าบ้านนั่นเอง แต่กองกำลังของต่างชาติก็อาจถูกบีบบังคับด้วยสถานการณ์ให้เข้าร่วมในการปฏิบัติการตรวจค้น (ประเภทของการปฏิบัติการที่ต้องรบกวนพลเรือน จำเป็นต้องใช้แนวทางปฏิบัติในการต่อต้านการขัดขืน; รายละเอียดเพิ่มเติมจะอยู่ใน รส.๑๙ - ๑๕)
ค – ๕ เทคนิคการตรวจค้น
การตรวจค้นมักจะใช้ในการปฏิบัติการควบคุมประชาชนและทรัพยากร ซึ่งประกอบด้วยการใช้จุดตรวจและจุดปิดกั้นถนนเพื่อควบคุมการจราจร และลดขีดความสามารถในการเคลื่อนที่ของกำลังพล และการเคลื่อนย้ายสิ่งอุปกรณ์ของฝ่ายก่อความไม่สงบได้อย่างเสรี
ก. ยุทโธปกรณ์พิเศษที่จำเป็น ในการจัดตั้งจุดตรวจจำเป็นต้องใช้ยุทโธปกรณ์พิเศษเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ป้ายสัญญาณแบบเคลื่อนย้ายได้ซึ่งประกอบด้วยภาษาท้องถิ่นและภาษาอังกฤษ เป็นสิ่งที่ต้องนำมาใช้ ป้ายสัญญาณจะต้องแจ้งเตือนถึงการจำกัดความเร็วของยานพาหนะเมื่อเคลื่อนเข้ามาใกล้จุดตรวจ, พื้นที่ตรวจค้นยานพาหนะ, พื้นที่จอดยานพาหนะ, พื้นที่ตรวจค้นบุคคลเพศชายและเพศหญิง และจุดลงรถ แสงสว่างเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในพื้นที่ตรวจค้นในเวลากลางคืน และต้องใช้การติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนปฏิบัติการตามจุดตรวจ กำลังพลที่ประจำจุดตรวจจำเป็นต้องจัดวางเครื่องกีดขวางลวดหนามขวางถนน และรอบ ๆ พื้นที่ตรวจค้น หน่วยทหารจะต้องมีอำนาจการยิงที่เพียงพอสำหรับต่อต้านการเข้าโจมตี หรือหยุดยั้งยานพาหนะที่พยายามหลบหลีกหรือหลบหนีการตรวจค้น หรือพุ่งเข้าชนเพื่อผ่านจุดตรวจ
ข. วิธีการ การจัดตั้งจุดตรวจดำเนินการโดยการวางเครื่องกีดขวางสองแห่งในทิศทางขนานกัน (โดยเว้นช่องว่างระหว่างเครื่องกีดขวาง) และขวางถนน ระยะห่าง (เป็นเมตร) ระหว่างเครื่องกีดขวางนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนยานพาหนะที่สัญจรผ่านไปมาในพื้นที่ตรวจค้น ส่วนของถนนที่ถูกปิดกั้นนี้ สามารถใช้เป็นพื้นที่ตรวจค้นและหากเป็นไปได้ควรจะมีพื้นที่ (ใกล้ ๆ กับถนน) สำหรับตรวจค้นยานพาหนะขนาดใหญ่ โดยไม่ทำให้การจราจรต้องหยุดชะงัก หรือกีดขวางการเคลื่อนตัวเข้ามาของยานพาหนะคันอื่น ๆ (ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น) ในการนี้จำเป็นต้องจัดพื้นที่สำหรับตรวจคั้นบุคคลเพศหญิง และบุคคลที่ต้องกักกันตัวไว้เพื่อการซักถามต่อไป หากเป็นไปได้ กำลังพลที่ปฏิบัติการ ณ จุดตรวจควรประกอบด้วยกำลังพลจาก ตำรวจ, ล่าม และผู้ตรวจค้นเพศหญิงที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว เมื่อทำการตรวจค้นยานพาหนะ ผู้ที่อยู่ในยานพาหนะจะต้องออกมาข้างนอกและอยู่ในระหว่างห่างพอสมควร อนุญาตให้คนขับสังเกตดูการตรวจค้นได้ ผู้ที่ทำการตรวจค้นจะต้องได้รับการคุ้มกันจากกำลังพลที่เหลือ และต้องแสดงออกถึงความเกรงใจและความสุภาพ มีมารยาทตลอดเวลานอกจากนี้ยังสามารถทำการตรวจค้นบุคคลที่โดยสารมาได้ในขณะเดียวกัน หากมีกำลังพลพอเพียงที่จะปฏิบัติหน้าที่ (รูป ค – ๔)
รูป ค – ๔ เทคนิคการจัดพื้นที่ตรวจค้น
ค – ๖ การตรวจค้นบุคคล
การตรวจค้นบุคคล ประกอบด้วยวิธีการดังต่อไปนี้.-
ก. การตรวจค้นตามร่างกาย การตรวจค้นนี้กระทำเพื่อค้นหาอาวุธ, หลักฐาน หรือสิ่งของผิดกฎหมายจากตัวบุคคล ซึ่งควรต้องกระทำโดยมีผู้ช่วยสังเกตการณ์และพยาน ในการตรวจค้นร่างกายของบุคคล ให้ผู้ตรวจค้นยืนอยู่ด้านหลังของผู้ต้องสงสัย ผู้ช่วยของผู้ตรวจค้นจะยืนอยู่ในตำแหน่งที่สามารถคุ้มกันผู้ตรวจค้นได้ด้วยอาวุธของตน ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ถูกตรวจค้นจะต้องถูกบังคับให้ยกแขนขึ้น ผู้ตรวจค้นจะใช้มือคลำไปตามร่างกายของผู้ถูกตรวจค้นโดยตลอดและใช้ลักษณะของการขยี้เสื้อผ้าเพื่อค้นหาวัสดุแปลกปลอม
ข. การตรวจค้นโดยใช้กำแพง จากหลักการพื้นฐานที่ต้องทำให้ผู้ต้องสงสัย หรือผู้ก่อความไม่สงบอยู่ในลักษณะอาการที่ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ตรวจค้นได้ก็คือ ทำให้ผู้ถูกตรวจค้นอยู่ในท่าที่ตึงเครียดและขยับร่างกายได้ไม่สะดวก การตรวจค้นโดยใช้กำแพงทำให้ผู้ตรวจค้นมีความปลอดภัยค่อนข้างมาก การตรวจค้นลักษณะนี้จะถูกนำมาใช้มากในโอกาสที่ผู้ตรวจค้นสองคนจะต้องทำการตรวจค้นผู้ต้องสงสัยหลายคน ซึ่งอาจใช้สิ่งอื่น ๆ ที่มีแนวตั้งตรงและมีพื้นที่พอเพียง เช่น กำแพง, ยานพาหนะ หรือต้นไม้
(๑) ท่ายืนของผู้ต้องสงสัย ให้ผู้ต้องสงสัยยืนหันหน้าเข้าหากำแพง (หรือสิ่งอื่น ๆ) และให้เอนเข้าหากำแพง ใช้มือทั้งสองข้างพยุงตัวโดยยันกำแพงไว้ ให้มือทั้งสองแยกห่างออกจากกันมาก ๆ และแยกนิ้วให้ห่างจากกันด้วย เท้าทั้งสองก็จะต้องแยกห่างจากกันให้มาก ปลายเท้าแบะออก ขนานไปกับกำแพง และห่างจากกำแพงให้มากเท่าที่จะทำได้ แล้วก้มศีรษะลงมองพื้น
(๒) ตำแหน่งยืนของผู้ช่วยผู้ตรวจค้น ผู้ช่วยผู้ตรวจค้นยืนอยู่ทางด้านตรงข้ามของผู้ต้องสงสัย (ห่างจากผู้ตรวจค้น) ไปทางด้านหลัง และใช้การควบคุมผู้ต้องสงสัยด้วยอาวุธในมือ เมื่อผู้ตรวจค้นเคลื่อนตัวจากตำแหน่งเดิมที่ยืนอยู่ไปยังอีกด้านหนึ่ง, ผู้ช่วยผู้ตรวจค้นจะต้องเปลี่ยนตำแหน่งด้วย ผู้ตรวจค้นจะใช้การเดินรอบผู้ช่วยในขณะเปลี่ยนตำแหน่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้ามาบังทางระหว่างผู้ช่วยและผู้ต้องสงสัย
(๓) ตำแหน่งยืนของผู้ตรวจค้น ผู้ตรวจค้นจะเข้าหาผู้ต้องสงสัยจากทางด้านขวามือ และจะต้องเก็บรักษาอาวุธไว้ในตำแหน่งที่ผู้ต้องสงสัยไม่สามารถหยิบฉวยได้ เมื่อตรวจค้นจากทางขวามือ ผู้ตรวจค้นจะวางเท้าขวาของตนอยู่ทางด้านหน้าเท้าขวาของผู้ต้องสงสัย และพยายามให้ข้อเท้าสัมผัสข้อเท้าไว้ จากท่ายืนนี้ หากผู้ถูกตรวจค้นมีอาการต่อต้าน ผู้ตรวจค้นก็จะใช้เท้าเตะเท้าของผู้ถูกตรวจค้นให้แยกออกไปอีก และเมื่อทำการตรวจค้นจากทางซ้ายมือ ผู้ตรวจค้นก็จะวางเท้าซ้ายของตนไว้ทางด้านหน้าเท้าซ้ายของผู้ถูกตรวจค้น และเช่นเดียวกัน ให้ใช้ข้อเท้าสัมผัสข้อเท้าไว้
(๔) ตำแหน่งแรกของการยืน ในการเข้ายืนในตำแหน่งแรก ผู้ตรวจค้นจะต้องระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกตรวจค้นเข้าแย่งอาวุธในทันทีหรือทำร้ายร่างกายผู้ตรวจค้นได้ อันดับแรกให้ตรวจค้นหมวกหรือสิ่งที่สวมบนศีรษะของผู้ถูกตรวจค้น แล้วตรวจค้นมือ, แขน, ด้านขวาของร่างกาย และขาซ้ายตามลำดับ จากนั้นให้ทำซ้ำในขั้นตอนที่กล่าวมาแล้วในการตรวจค้นทางด้านซ้าย ใช้มือขยี้ตามเสื้อผ้าของผู้ถูกตรวจค้น ไม่ใช่เพียงแต่ตบเท่านั้น และต้องเพ่งเล็งบริเวณใต้วงแขน, หลัง, เอว, ขา และขอบด้านบนของรองเท้าหุ้มข้อหรือรองเท้าหุ้มส้น สิ่งใดก็ตามที่พิจารณาแล้วว่าไม่ใช่อาวุธ หรือหลักฐาน ก็ให้ใส่คืนไว้ในกระเป๋าของผู้ถูกตรวจค้น หากผู้ถูกตรวจค้นมีการต่อต้านหรือพยายามหลบหนี และจำเป็นต้องผลักหรือกระแทกลงไปกับพื้นก่อนที่จะตรวจค้นเสร็จแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องเริ่มการตรวจค้นจากขั้นแรกอีกครั้ง
(๕) การเปลี่ยนตำแหน่งไปค้นผู้ต้องสงสัยคนอื่น เมื่อต้องทำการตรวจค้นผู้ต้องสงสัย หรือผู้ก่อความไม่สงบสองคนหรือมากกว่า จะต้องแยกบุคคลเหล่านั้นให้อยู่ห่างจากกัน เพื่อป้องกันมิให้เคลื่อนที่เข้ามาหากันได้โดยง่าย และจับให้อยู่ในท่าพิงกำแพงหันหลังให้ ผู้ช่วยผู้ตรวจค้นยืนอยู่ในตำแหน่งที่ห่างประมาณสองสามก้าวไปทางด้านหลัง อาวุธในมือเตรียมพร้อม ผู้ตรวจค้นจะเริ่มตรวจค้นบุคคลทางด้านขวาของแถวก่อน เมื่อตรวจค้นคนแรกเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เคลื่อนย้ายผู้ที่ถูกตรวจค้นเสร็จไปทางซ้ายของแถว และให้ยืนอยู่ในท่าเดิม ทั้งนี้ในการเคลื่อนที่เข้าตรวจค้นบุคคลต่อไป ผู้ตรวจค้นจะได้ไม่อยู่ระหว่างผู้ช่วยและผู้ถูกตรวจค้น
ค. การตรวจค้นแบบแยกกลุ่ม จะใช้การตรวจค้นแบบนี้เมื่อมีผู้ต้องสงสัยว่าน่าจะเป็นผู้นำของพวกก่อความไม่สงบ หรือน่าจะเป็นผู้ที่นำข่าวสารสำคัญ การตรวจค้นจะดำเนินการในที่ที่ปกปิด เช่น ในห้องหรือในเต็นท์กระโจม อาจใช้เทคนิคได้หลายวิธี วิธีการที่หนึ่งก็คือ การใช้ผู้ตรวจค้นที่ไม่ถืออาวุธสองคน และให้ผู้ช่วยที่ถืออาวุธนั้นยืนระวังป้องกัน ผู้ตรวจค้นจะถอดเสื้อผ้าและรองเท้าของผู้ถูกตรวจค้นออกและตรวจค้นอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องตรวจในปาก, จมูก, หู, ผม, รักแร้, ง่ามขา และจุดหรือพื้นที่อื่น ๆ ที่น่าจะใช้ซุกซ่อนได้
ง. การตรวจค้นบุคคลเพศหญิง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจะใช้ประโยชน์จากบุคคลเพศหญิงอย่างสูงสุดในกรณีที่คาดว่าจะต้องถูกตรวจค้น กองกำลังฝ่ายปราบปรามก็จะต้องใช้ประโยชน์สูงสุดจากผู้ตรวจค้นที่เป็นเพศหญิงเช่นเดียวกัน หากไม่สามารถจัดหาผู้ตรวจค้นเพศหญิงได้ ก็อาจใช้นายแพทย์หรือบุรุษพยาบาลเป็นผู้ตรวจค้นผู้ก่อความไม่สงบเพศหญิง การตรวจค้นผู้หญิงเป็นการปฏิบัติที่มีความละเอียดอ่อนและล่อแหลมอย่างมากที่สุด เมื่อทหารชายต้องทำการตรวจค้นผู้หญิง จำเป็นต้องนำมาตรการที่สามารถใช้ได้ทุกอย่างมาใช้เพื่อป้องกันกรณีการถูกกล่าวหาว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศ
ค – ๗ การตรวจค้นในพื้นที่ชุมชน
มีหลักการพื้นฐานอยู่ ๔ ประการ ที่จะต้องนำมาใช้ กล่าวคือ.-
ก. การเคลื่อนที่เข้าใกล้ ในการปฏิบัติการบางครั้ง กำลังที่อยู่บนยานยนต์สามารถเคลื่อนที่เข้าไปถึงที่หมายที่จะทำการตรวจค้นได้โดยตรง แต่ในบางครั้งสถานการณ์ก็อาจบังคับให้ต้องลงจากยานยนต์ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่จะต้องเน้นก็คือ ความรวดเร็ว และการประสานการปฏิบัติขณะเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่
ข. การปิดล้อมพื้นที่ ในระหว่างเวลาค่ำมืด กำลังทหารจะเคลื่อนที่เข้าไปอย่างเงียบที่สุด โดยใช้เส้นทางหลายเส้นทางเท่าที่จะทำได้ เมื่อเริ่มแสงสว่าง พื้นที่จะต้องถูกยึดครองโดยใช้ระบบของยามคอยเหตุเฝ้าตรวจที่เชื่อมต่อกันด้วยสายตา ในลักษณะวงรอบ ซึ่งช่องว่างที่มีอยู่จะถูกควบคุมด้วยการลาดตระเวนเฝ้าตรวจ ตามปกติแล้วพื้นที่ที่มีขนาดกว้างใหญ่จะไม่ถูกปิดล้อมไว้ได้ด้วยกำลังทหารเป็นเวลานาน ๆ ทั้งนี้เนื่องจากจำเป็นต้องใช้กำลังทหารจำนวนมาก หากจำเป็นแล้วทหารจะใช้การขุดหลุม และใช้ประโยชน์จากที่กำบังตามธรรมชาติ รวมทั้งใช้ลวดหนามเพื่อช่วยในการปิดล้อมพื้นที่
ค. กองหนุน หากเกิดกรณีที่กำลังของฝ่ายตรงข้ามจากภายนอกพื้นที่จะเข้าแทรกแซง ฝ่ายเราจะต้องใช้มาตรการเพื่อป้องกันการรวมตัวของฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ภายนอก และส่วนที่ถูกปิดล้อมอยู่ภายในพื้นที่ อาจใช้การตรวจการณ์ทางอากาศเพื่อช่วยค้นหาและแจ้งเตือนแต่เนิ่นถึงการเคลื่อนไหวของกำลังฝ่ายตรงข้ามที่มีจำนวนมากที่จะเคลื่อนตัวเข้ามายังพื้นที่
ง. พวกตรวจค้น นายทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชาการปฏิบัติ จะแจ้งข่าวสารให้บุคคลที่อยู่ภายในพื้นที่ว่าจะมีการตรวจค้นเกิดขึ้น ดังนั้นจึงให้ชาวบ้านและบุคคลทั้งหมดหยุดการเคลื่อนไหว และอยู่ภายในบ้านเรือนหรือตัวอาคารเท่านั้น หรืออาจใช้วิธีการให้บุคคลทั้งหมดมารวมกันอยู่ที่จุดศูนย์กลาง แล้วให้พวกตรวจค้นเคลื่อนที่เข้าไปทำการตรวจค้น พวกตรวจค้นจะประกอบด้วยชุดตรวจค้นจำนวนหลายชุด
(๑) เมื่อได้ตัดสินใจให้บุคคลทั้งหมดมารวมกันอยู่ที่จุดศูนย์กลางแล้ว เจ้าของบ้านจะต้องร่วมเข้าไปกับชุดตรวจค้น เมื่อบ้านของตนจะถูกตรวจค้น หากไม่ปฏิบัติเช่นนี้ เจ้าของบ้านอาจจะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นกับสิ่งของที่ถูกตรวจพบภายในบ้าน หรืออาจกล่าวหาว่าทหารที่เข้าไปตรวจค้นได้หยิบฉวยเอาสิ่งของภายในบ้านไปโดยพลการ ในการตรวจค้นขนาดเล็ก เป็นการดีที่สุดที่จะให้เจ้าของบ้านได้ลงลายมือชื่อรับรองว่าไม่มีสิ่งของภายในบ้านได้ถูกหยิบฉวยหรือลักขโมยไป แต่อย่างไรก็ตามในการตรวจค้นขนาดใหญ่อาจทำเช่นนั้นไม่ได้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลักขโมย ควรจัดให้มีชาวบ้านเป็นพยานรู้เห็นในระหว่างการตรวจค้น สมาชิกที่เป็นที่ยอมรับนับถือของชุมชนควรจะร่วมไปกับชุดตรวจค้นแต่ละชุด
(๒) อาคารจะต้องถูกตรวจค้นจากชั้นบนลงมาชั้นล่าง ชุดตรวจค้นจะใช้เครื่องมือ
ตรวจค้นทุ่นระเบิด เพื่อตรวจหาที่ซุกซ่อนอาวุธและกระสุน พยายามทำทุกวิถีทางที่จะหลีกเลี่ยงการทำความเสียหาย บ้านหรืออาคารที่ถูกตรวจค้นแล้วจะต้องถูกทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เป็นรหัสที่แสดงให้ฝ่ายเดียวกันรู้ และเครื่องหมายหรือสัญลักษณะเดียวกันนี้อาจนำไปใช้เพื่อบันทึกรายการอื่น ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจค้น การทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์นี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่า ไม่มีบ้านหรืออาคารหลังใดถูกหลงลืมหรือมองข้ามไป
(๓) หากบ้านถูกปิดไว้ หรือหากเจ้าของบ้านไม่ยินยอมให้ชุดตรวจค้นผ่านเข้าไป ก็จำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อเข้าไปตรวจค้น เมื่อได้ทำการตรวจค้นในบ้านที่มีทรัพย์สินขณะที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ก็จำเป็นต้องปิด หรือล็อกบ้านไว้อย่างเดิม หรือระวังป้องกันเพื่อมิให้เกิดการถูกลักขโมย ก่อนที่ทหารจะออกจากบ้านไป ผู้บังคับหน่วยควรจะจัดการป้องกันบ้านหลังดังกล่าว โดยมอบหมายให้ชุมชนเป็นผู้ดูแล จนกว่าเจ้าของบ้านจะกลับมา
จ. ชุดตรวจค้น ชุดพิเศษอาจถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติการตรวจค้น ในการตรวจค้นพื้นที่ขนาดเล็ก (อาคารสองสามหลัง) หน่วยทหารขนาดเล็กสามารถปฏิบัติการตรวจค้นได้โดยไม่ต้องใช้ชุดพิเศษในแต่ละงาน ชุดตรวจค้นอาจจำเป็นต้องใช้.-
• การลาดตระเวน
• การตรวจค้นทางกายภาพหรือด้วยสายตา
• การควบคุม
• การตรวจสอบเชลยศึก
• สารปราบจลาจล, เครื่องฉีดไฟ และระเบิดทำลาย
• การทำงานด้านเอกสาร
และอาจเพิ่มเติมด้วย.-
• การยิงสนับสนุน
• ชุดตรวจค้นทุ่นระเบิด
• ชุดสุนัขสงคราม
• ชุดลาดตระเวนอุโมงค์
• ชุดซักถาม
• ชุดปฏิบัติการจิตวิทยา/ ชุดปฏิบัติงานกิจการพลเรือน
ฉ. การตรวจค้นบ้าน พวกตรวจค้นแต่ละพวกจะได้รับมอบหมายให้เข้าทำการตรวจค้นในแต่ละอาคาร ควรจะประกอบด้วย ตำรวจท้องถิ่นอย่างน้อยหนึ่งคนประจำอยู่ในพวก, ผู้ชำนาญทางหนึ่งคน และผู้ตรวจค้นเพศหญิงหนึ่งคน หากมีบุคลากรพร้อมและพอเพียง พวกตรวจค้นจะต้องเรียกบุคคลทั้งหมดเข้ามารวมกันก่อนอื่น จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจออกคำสั่งกำชับให้ปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วเริ่มลงมือตรวจค้น วัตถุประสงค์ของการตรวจค้นนี้ก็คือ การค้นหาบุคคลผู้ต้องสงสัย บุคคลที่มีพิรุธและถูกจับกุมจะถูกส่งกลับไปอย่างรวดเร็ว หน่วยทหารสามารถปฏิบัติกิจเฉพาะกิจนี้ได้ พวกคุ้มกันนำทางและการขนส่งจะต้องปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้
ช. การตรวจค้นหมู่บ้าน บ้านที่เริ่มปฏิบัติการตรวจค้นหมู่บ้าน ชุดลาดตระเวนจะถูกส่งออกไปเพื่อหาข่าวสารเกี่ยวกับหมู่บ้าน และประชากรในหมู่บ้าน ชุดลาดตระเวนนี้จะต้องหลีกเลี่ยงมิให้ชาวบ้านพบเห็นหรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ตรวจการณ์พบ
(๑) ส่วนหนึ่งของชุดลาดตระเวนจะทำการเฝ้าตรวจหมู่บ้านต่อไป ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลับมาให้ข่าวสาร ซึ่งชุดที่ดำรงการเฝ้าตรวจอยู่นั้นอาจตรวจพบบางสิ่งบางอย่างที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติ ก่อนที่ส่วนระวังป้องกันจะเข้าวางตัว ข่าวสารที่มีคุณค่าสำหรับผู้บังคับหน่วยประกอบด้วย :
• ขนาดและที่ตั้งที่แน่นอนของหมู่บ้าน
• การดัดแปลงพื้นที่เป็นป้อมสนาม (กับดักบุคคล, หลุมขวาก)
• ระบบการแจ้งเตือน
• ระบบอุโมงค์
• บริเวณที่ผู้ก่อความไม่สงบพักอาศัยอยู่ บุคคลเหล่านี้สามารถหลบซ่อนอยู่ในป่าในเวลากลางคืน และเข้ามาพักอาศัยในหมู่บ้านในช่วงเวลากลางวัน หรืออาจจะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน โดยอยู่ในบ้านหลังเดียวหรือหลายหลังก็ได้
• จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ภายในหมู่บ้าน
(๒) ระวังป้องกันและส่วนตรวจค้น ใช้การเคลื่อนที่หนึ่งวิธี หรือสองวิธี
(ก) วิธีแรก : รวมพวกชาวบ้านไว้ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลาง (หากมีการส่อว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้าม) วิธีการนี้จะให้การควบคุมได้สูงสุด, อำนวยความสะดวกให้สามารถตรวจค้นได้อย่างทั่วถึง, ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบไม่มีโอกาสที่จะซุกซ่อนสิ่งของให้พ้นจากการตรวจค้น และเอื้ออำนวยให้ใช้การซักถามได้อย่างละเอียด แต่มีข้อเสียอยู่บางประการก็คือ การนำชาวบ้านออกมาจากที่อยู่อาศัยของตนนั้น ทำให้มีโอกาสที่ชาวบ้านจะกล่าวหาว่าส่วนตรวจค้นไปหยิบฉวย หรือลักขโมยของออกมาจากบ้าน
(ข) วิธีที่สอง : จำกัดพวกชาวบ้านให้อยู่แต่ในบ้านของตน วิธีการนี้จะห้ามการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน เมื่อต้องอยู่ในบ้านของตน ก็ไม่มีโอกาสที่จะกล่าวหาในเรื่องการลักขโมย ข้อเสียของวิธีการนี้ก็คือ ทำให้ยากต่อการควบคุมและการซักถาม นอกจากนี้ยังอาจปล่อยโอกาสให้ผู้ก่อความไม่สงบที่อยู่ในบ้านได้มีโอกาสซุกซ่อนของที่ไม่ต้องการให้ตรวจค้นพบได้
(ค) วิธีที่สาม : ควบคุมหัวหน้าหรือเจ้าของบ้าน โดยบอกให้เจ้าของบ้านยังคงยืนรออยู่หน้าบ้าน ในขณะที่ลูกบ้านคนอื่น ๆ ถูกนำมารวมกันที่พื้นที่ศูนย์กลาง ในระหว่างการตรวจค้น เจ้าของบ้านแต่ละบ้านหรือหัวหน้าบ้านจะร่วมเข้าไปกับชุดตรวจค้นในบ้านของตนเอง ปัญหาเรื่องการหยิบฉวยลักขโมยก็จะลดน้อยลง และเจ้าของบ้านก็ได้มีโอกาสมองเห็นการตรวจค้นว่าไม่มีการหยิบฉวยลักขโมย วิธีการนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการควบคุมชาวบ้าน
(๔) ชุดตรวจค้นต้องทำการตรวจค้นอย่างละเอียดโดยตลอด เพื่อค้นหาพวกก่อความไม่สงบ, อาวุธยุทโธปกรณ์, อุโมงค์หลบหนี หรือที่ซ่อนสิ่งของ คอกปศุสัตว์, บ่อน้ำ, กองฟาง, สวน, แนวรั้ว และสุสาน จะต้องถูกตรวจสอบ ชุดตรวจค้นจะต้องระมัดระวังตลอดเวลาในเรื่องกับระเบิด
(๕) ภายหลังจากที่ได้ตรวจค้นบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้วบริเวณโดยรอบ และพื้นที่ระหว่างส่วนระวังป้องกันและหมู่บ้านจะถูกตรวจค้น มีวิธีการ ๒ วิธี คือ.-
(ก) วิธีที่หนึ่ง - หากส่วนระวังป้องกันยังไม่ถูกชาวบ้านหรือบุคคลอื่นค้นพบ ส่วนระวังป้องกันอาจจัดกำลังออกเป็นตอน ๆ แต่ละตอนจะตรวจค้นส่วนต่าง ๆ ของพื้นที่โดยรอบ หากผู้ก่อความไม่สงบหลบหนีออกมาจากพื้นที่ส่วนใด ซึ่งอาจเป็นป่าทึบหรืออุโมงค์หลบหนี, ส่วนระวังป้องกันที่เหลือจะจับกุม หรือทำการยิง, หากผู้ก่อความไม่สงบยังพยายามที่จะหลบหนีต่อไป
(ข) วิธีที่สอง - หากส่วนระวังป้องกันได้ถูกค้นพบแล้ว ก็จะทำการตรวจค้น พื้นที่โดยรอบ โดยส่วนหนึ่งจะทำให้หมู่บ้านถูกโดดเดี่ยว, ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเริ่มดำเนินการตรวจค้น การตรวจค้นนี้อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง หากพื้นที่เป็นที่รกทึบมาก โดยไม่คำนึงถึงภูมิประเทศ หน่วยตรวจค้นจะตรวจบริเวณที่คาดว่าน่าจะเป็นที่ซุกซ่อนสิ่งอุปกรณ์ หรือที่ซ่อนตัวของพวกก่อความไม่สงบ
(๖) ในพื้นที่ที่มีการรายงานการตรวจพบอุโมงค์, หน่วยตรวจค้นจะต้องจัดให้มีชุดลาดตระเวนตรวจค้นในอุโมงค์มาขึ้นสมทบ ชุดนี้ควรจะประกอบด้วย กำลังพลอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกปฏิบัติการลักษณะนี้มาโดยเฉพาะ และจะต้องมียุทโธปกรณ์พิเศษตลอดจนขีดความสามารถพิเศษ เช่น ไฟฉาย หรือหมวกที่ใช้ในเหมืองแร่, หน้ากากป้องกัน และการติดต่อสื่อสารกับหน่วยที่อยู่บนพื้นดิน กำลังพลในชุดควรจะมีความสามารถในการเขียนภาพระบบอุโมงค์ และควรจะสามารถเก็บกู้สิ่งของต่าง ๆ ภายในอุโมงค์ที่คาดว่าจะใช้เป็นแหล่งข่าวขึ้นมาได้
ตอนที่ ๓
การระวังป้องกันในการเคลื่อนที่
การระวังป้องกันการเคลื่อนที่ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ : การคุ้มกันขบวนยานยนต์ที่มีการระวังป้องกันอย่างแข็งแรง และการคุ้มกันขบวนยานยนต์ที่มีการระวังป้องกันอย่างเบาบาง
ค – ๘ การคุ้มกันขบวนยานยนต์ที่มีการระวังป้องกันอย่างแข็งแรง
กำลังพลชุดผสมเหล่าที่จัดขึ้นพิเศษ สามารถจัดขึ้นและทำการฝึกปฏิบัติการคุ้มกันร่วมกับขบวนยานยนต์ ส่วนคุ้มกันจะจัดกำลังโดยให้มีอำนาจกำลังรบอย่างพอเพียงที่จะยิงกด หรือข่มการซุ่มโจมตีของฝ่ายก่อความไม่สงบ ขนาดและการประกอบกำลังจะขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่, ขีดความสามารถของกำลังข้าศึก ขนาดและการประกอบกำลังของขบวนยานยนต์
ก. หน่วยระวังป้องกันส่วนแยก ควรจะประกอบด้วยหน่วยรองหลักดังต่อไปนี้.-
(๑) ส่วนบังคับบัญชา เพื่อทำหน้าที่บังคับบัญชา ควบคุม และติดต่อสื่อสาร
(๒) ส่วนสนับสนุนด้านการแพทย์
(๓) หน่วยยานเกราะ เพื่อจัดให้มีอำนาจการยิงและอำนาจการทำลายขวัญ
(๔) หน่วยทหารราบยานเกราะ หรือทหารราบยานยนต์
(๕) หน่วยทหารช่างสนาม เพื่อดำเนินซ่อมแซมสะพานและถนนในขั้นต้น, รวมทั้งการตรวจค้น และรื้อถอนทุ่นระเบิด รวมทั้งเครื่องกีดขวาง
ข. สำหรับขบวนยานยนต์ขนาดใหญ่ หน่วยระวังป้องกันที่มาขึ้นสมทบควรจะมีหน่วยทหารปืนใหญ่ให้การสนับสนุนด้วย ในทางอุดมคติแล้ว ครึ่งหนึ่งของหน่วยทหารปืนใหญ่จะถูกวางไว้ทางด้านหน้าของรูปขบวน และอีกครึ่งหนึ่งของรูปขบวนจะถูกวางไว้ทางด้านหลังของรูปขบวน ส่วนบังคับบัญชาและควบคุมของทหารปืนใหญ่จะเคลื่อนที่ไปกับ หรือใกล้ ๆ กับส่วนบังคับบัญชา และควบคุมของหน่วยระวังป้องกัน การจัดดำเนินการในลักษณะนี้เป็นแบบที่มีความอ่อนตัวมากที่สุดในการจัดการยิงสนับสนุนด้วยปืนใหญ่ให้กับส่วนต่าง ๆ ภายในขบวน หากเกิดการซุ่มโจมตี
ค. หน่วยระวังป้องกันที่มีการจัดผสมเหล่า มักจะถูกกระจายกำลังกันอยู่ทั่วไป ตลอดขบวนยานยนต์ ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ส่วนต่าง ๆ ปฏิบัติการได้ในลักษณะของส่วนตรึง หรือส่วนเข้าโจมตี รูปขบวนของหน่วยระวังป้องกัน และการแทรกเข้าไปอยู่ในขบวนจะเป็นไปได้หลายลักษณะ ดังนั้นข้าศึกที่จะซุ่มโจมตีขบวนยานยนต์จึงน่าจะต้องใช้การสังเกตการณ์ดูลักษณะการจัดของขบวน และเตรียมการเพื่อปฏิบัติการซุ่มโจมตีโดยใช้ข้อมูลที่ได้เป็นหลัก รถถังจะเป็นส่วนนำของขบวนยานยนต์ ทั้งนี้เพื่อใช้ข้อดีจากความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่และอำนาจการยิง หากไม่มีรถถังมาร่วมด้วย ก็อาจพิจารณาใช้รถยนต์บรรทุกขนาดหนักเสริมด้วยกระสอบทราย เพื่อป้องกันกำลังพลที่อยู่ในรถจากทุ่นระเบิด เป็นส่วนนำขบวนแทนรถถัง
ง. ส่วนโจมตีที่มีกำลังเข้มแข็งจะถูกวางไว้ท้ายขบวน ทั้งนี้เพื่อให้มีความอ่อนตัวอย่างสูงสุดในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เพื่อเข้าปฏิบัติการต่อกำลังของข้าศึกที่ซุ่มโจมตีหัวขบวน หรือส่วนกลางของขบวน
จ. กำลังของฝ่ายข้าศึกอาจปล่อยให้ส่วนระวังป้องกันข้างหน้าของฝ้ายเราผ่านพื้นที่ซุ่มโจมตีหลักไปก่อน จากนั้นจึงเข้าปิดกั้นถนนและเข้าโจมตีส่วนหลักของขบวน โดยแยกออกจากส่วนระวังป้องกันข้างหน้าเมื่อได้รับสัญญาณแจ้งให้ทราบถึงการซุ่มโจมตี ยานยนต์ทั้งหมดจะต้องพยายามเคลื่อนที่ออกจากพื้นที่สังหารหากจำเป็นต้องหยุดก็จะหยุดอยู่ ณ ตรงนั้น โดยไม่พยายามขับลงข้างทางหรือไหล่ทาง ซึ่งอาจมีการวางทุ่นระเบิดของฝ่ายข้าศึกไว้
ฉ. กำลังพลที่ได้กำหนดหน้าที่ไว้ (ตาม รปจ.ของหน่วย) ต้องทำการยิงโต้ตอบทันทีอย่างรวดเร็ว จากภายในตัวรถเพื่อคุ้มกันให้กับกำลังพลที่ลงจากรถ และพวกที่ลงจากรถแล้วจะต้องทำการยิงคุ้มกันให้พวกที่ลงจากรถตามมาจนถึงคนสุดท้าย ในขณะที่ลงจากรถ กำลังพลที่อยู่ในพื้นที่สังหารจะเปิดฉากการยิงพร้อมทั้งเคลื่อนที่โจมตีตรงไปที่ฝ่ายข้าศึกที่ซุ่มโจมตีอยู่นั้น สักระยะหนึ่งจึงหยุดเพื่อจัดตั้งฐานยิง รถถังจะทำการยิงและเคลื่อนที่ดำเนินกลยุทธ์เข้าหาข้าศึกที่ซุ่มโจมตีอยู่ หรือเคลื่อนที่ไปยังภูมิประเทศที่ได้เปรียบที่อยู่ใกล้ที่สุด
ช. ในขณะที่ส่วนที่ปะทะข้าศึกดำเนินการป้องกันขบวนยานยนต์ต่อไปนั้น ผู้บังคับหน่วยจะทำการสำรวจสถานการณ์อย่างรวดเร็ว จากนั้นจะออกคำสั่งมอบหมายให้ส่วนโจมตีเริ่มดำเนินกลยุทธ์ตามที่ได้ฝึกเตรียมการมา เพื่อเข้าโจมตีข้าศึก การยิงของกำลังส่วนระวังป้องกันที่ปะทะกับข้าศึกอยู่นั้นจะตรึงกำลังของข้าศึกไว้ และจะประสานการปฏิบัติกับส่วนเข้าตีอย่างแน่นแฟ้น
ซ. ภายหลังจากที่กำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบได้พ่ายแพ้ หรือหมดสภาพในการต่อสู้แล้ว ส่วนระวังป้องกันจะวางกำลังเพื่อคุ้มกันขบวนยานยนต์ในการจัดระเบียบใหม่ ผู้บังคับขบวนจะใช้เครื่องมือสื่อสารที่รวดเร็วที่สุดที่มีอยู่ รายงานการปะทะให้กับผู้บังคับบัญชาของตน เชลยศึกที่ถูกจับได้จะต้องถูกนำมาซักถามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแผนการถอนตัว และการไปรวมกำลังกันภายหลังจากการถอนตัวตามแผน เมื่อได้ข่าวสารแล้ว จะต้องรีบรายงานให้หน่วยเหนือได้ทราบทันที
ด. ภายหลังจากการซุ่มโจมตี หน่วยลาดตระเวนจะถูกส่งออกไปเพื่อซักถามหรือหาข่าวสาร หรือกักกันพลเรือนที่ต้องสงสัยที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ หรืออยู่ตามเส้นทางการเคลื่อนที่เข้ามายังที่ซุ่มโจมตี
ค – ๙ การคุ้มกันขบวนยานยนต์ที่มีการระวังป้องกันอย่างเบาบาง
หน่วยระวังป้องกันที่จัดแยกมาร่วมกับขบวนยานยนต์อาจมีกำลังน้อยเกินไปสำหรับการปฏิบัติการขั้นแตกหักกับกำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบที่ซุ่มโจมตี
ก. หลักการต่อไปนี้จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในกรณีที่การระวังป้องกันค่อนข้างเบาบาง :
(๑) กำลังทหารบางส่วนจะถูกจัดไว้ข้างหน้าของขบวนยานยนต์ และส่วนที่เหลือจะจัดให้อยู่ถัดจากท้ายขบวนขึ้นมาเล็กน้อย
(๒) จัดให้มีการดำรงรักษาการติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุ ระหว่างกำลังทหารทั้งสองส่วน
(๓) จะต้องจัดกำลังทหารลงรถเพื่อทำการลาดตระเวนด้วยการเดินเท้าก่อนที่ขบวนยานยนต์จะผ่านพื้นที่ หรือจุดอันตราย เช่น โค้งหักข้อศอก, ถนนที่ลาดชัน หรือพื้นที่อื่น ๆ ที่บังคับให้ขบวนจำเป็นต้องใช้ความเร็วต่ำ
ข. ในทันทีที่ได้รับสัญญาณว่ามีการซุ่มโจมตี ยานพาหนะค้นที่นำขบวนจะต้องเพิ่มความเร็วสูงสุดที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย เพื่อผ่านพื้นที่การซุ่มโจมตีออกไปให้ได้ กำลังพลที่อยู่บนยานพาหนะที่ถูกหยุดอยู่ในพื้นที่การซุ่มโจมตีจะต้องรีบลงรถ และทำการยิงโต้ตอบอย่างทันที ส่วนกำลังพลที่ประจำอยู่บนยานพาหนะที่ผ่านพ้นพื้นที่การซุ่มโจมตีออกไปแล้วนั้น ก็จะต้องรีบลงจากรถ และเข้าโจมตีทางปีกของฝ่ายซุ่มโจมตี แต่ทั้งนี้การปฏิบัติดังกล่าวของกำลังทั้งสองส่วนจะต้องได้รับการฝึกอย่างระมัดระวังมาแล้วเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ยิงฝ่ายเดียวกันเอง
ค. หากกำลังของฝ่ายข้าศึกปล่อยให้ส่วนหลักของขบวนยานยนต์ผ่านพื้นที่การซุ่มโจมตีไป แล้วใช้วิธีการซุ่มโจมตีส่วนระวังป้องกันด้านหลัง, กำลังจากส่วนหลักของขบวนจะต้องย้อนกลับและใช้การเข้าโจมตีทางปีกของฝ่ายซุ่มโจมตี
ตอนที่ ๔
การปฏิบัติการใต้ดิน
ในตอนที่ ๔ นี้ จะอธิบายถึงวิธีการที่ฝ่ายก่อความไม่สงบจะใช้ถ้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือใช้การขุดอุโมงค์ลงไปใต้ดินเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการ ถ้ำและอุโมงค์สามารถใช้เป็นศูนย์การบังคับบัญชาและควบคุม, เป็นพื้นที่พักรอของการส่งกำลังบำรุง, เป็นสถานที่รักษาพยาบาล หรือใช้เป็นป้อมสนาม อุโมงค์ใต้ดินที่มีขนาดใหญ่สามารถใช้ประโยชน์ได้มาก โดยอาจมีการต่อสายไฟฟ้าเพื่อนำพลังงานไฟฟ้าเข้าไปใช้ และใช้ประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ยังอาจติดตั้งเครื่องสูบอากาศเพื่อนำอากาศลงไปยังชั้นล่างใต้ดิน สำหรับถ้ำก็อาจมีพื้นที่กว้างเป็นแห่ง ๆ โดยมีเส้นทางเชื่อมต่อภายใน เช่นเดียวกับระบบอุโมงค์ก็อาจประกอบด้วยห้องใต้ดินขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อด้วยทางเดินอุโมงค์
ค – ๑๐ การใช้อุโมงค์
อุโมงค์อาจถูกขุดแบบซิกแซก และมีหลุมบ่อภายในเพื่อลดผลกระทบจากการยิงของอาวุธเบา, วัตถุระเบิด และแก๊ส อุโมงค์บางแห่ง หรือห้องใต้ดิน หรือทางเดินภายในอาจประกอบด้วยทางหลบหนีที่ซ่อนพรางไว้ เพื่อให้พวกก่อความไม่สงบได้ใช้ซ่อนตัว หรือหลบหนีในกรณีที่อุโมงค์ถูกตรวจพบและกำลังฝ่ายปราบปรามบุกเข้ามา อุโมงค์อื่น ๆ อาจมีการวางกับระเบิดไว้เพื่อสังหารผู้บุกรุก อุโมงค์และถ้ำเป็นสถานที่ที่ยากต่อการค้นหาและตรวจพบจากทางอากาศ หรือทางพื้นดิน การก่อสร้างภายในมีโครงสร้างที่สามารถป้องกัน การทำลายด้วยอาวุธของกำลังตามแบบ อุโมงค์อาจถูกขุดภายในห้องใต้ดิน หรือชั้นล่างของบ้านที่ใช้เป็นแหล่งซ่อนตัว เพื่อเป็นเส้นทางสำหรับหลบหนีในกรณีที่มีการตรวจค้นพบบ้านนั้น เส้นทางผ่านเข้าสู่อุโมงค์มักจะถูกวางการยิงคุ้มกันเอาไว้จากจุดอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง
ก. ฝ่ายก่อความไม่สงบสามารถใช้อุโมงค์ในการปฏิบัติการเจาะเข้าสู่พื้นที่เขตหวงห้ามของฝ่ายเราในพื้นที่ที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง พวกก่อความไม่สงบสามารถใช้การแทรกซึมผ่านทางเดินใต้ดินหรืออุโมงค์ไปยังที่หมายของตนจากชั้นใต้ดินของอาคารที่อยู่ใกล้เคียง, ท่อลอดหรือทางใต้ดิน เมื่อเดินทางมาอยู่ด้านล่างของที่หมายแล้วก็อาจใช้วิธีการสร้างทางเข้า และเจาะเข้าสู่ที่หมายจากด้านล่างขึ้นมา หรืออาจใช้การวางระเบิดในอุโมงค์เพื่อทำลายที่หมายก็ได้
ข. อุโมงค์จะถูกใช้สำหรับการเดินทางเคลื่อนที่เข้าและออกเพื่อหลบหนี หรือใช้เพื่อเป็นเส้นทางเข้าไปยังถ้ำและบังเกอร์ใต้ดินที่ใช้เป็นที่มั่นสู้รบ และใช้ป้องกันอันตรายจากการยิงแบบเล็งจำลอง ในบางครั้งอาจใช้เป็นที่เก็บซ่อนเสบียงและสิ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ถ้าหากอุโมงค์มีขนาดใหญ่พอก็อาจดัดแปลงใช้เป็นที่อยู่อาศัย โรงพยาบาลใต้ดิน หรือฐานที่มั่นใต้ดินก็ได้ (ดูรายละเอียดใน รส.๙๐–๑๐-๑)
ค – ๑๑ การค้นหาอุโมงค์
ขั้นตอนแรกในการค้นหาหรือกำหนดที่ตั้งของอุโมงค์ ก็คือการลดพื้นที่ขนาดกว้างใหญ่ที่เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ ให้เล็กลงจนกลายเป็นพื้นที่ขนาดเล็กที่น่าจะเป็นที่ตั้งของอุโมงค์ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะบรรลุความสำเร็จก็โดยการศึกษาวิเคราะห์สิ่งบอกเหตุต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดที่ตั้งของอุโมงค์
ก. สิ่งบอกเหตุที่แสดงว่าฝ่ายก่อความไม่สงบจะใช้อุโมงค์ในการปฏิบัติการ ก็คือ.-
(๑) การเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อความไม่สงบในทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดยเฉพาะภายหลังจากที่ถูกค้นพบจากอากาศยาน
(๒) มีการยิงของพลซุ่มยิงจากพื้นที่ที่ไม่ปรากฏเส้นทางการเข้ามาหรือเส้นทางการถอนตัว
(๓) มีพืชพันธุ์บางอย่างปรากฏขึ้นในสถานที่ที่ไม่น่าเกิด หรือห่างไกลแหล่งกำเนิดของมัน
(๔) การปฏิบัติการในที่ซึ่งฝ่ายก่อความไม่สงบมีผู้บาดเจ็บ ซึ่งอยู่ในระยะห่างไกล และหายไปโดยฝ่ายปราบปรามไม่สามารถเข้าประชิด หรือตรวจค้นพบได้
(๕) มีกลิ่นของการเผาไหม้ของไม้ หรือการประกอบอาหารในพื้นที่ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
ข. การนำภาพถ่ายภูมิประเทศจากทางอากาศมาเปรียบเทียบกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของพืชพันธุ์ไม้ที่อยู่บนผิวดิน ซึ่งในเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญในการตีความภาพถ่ายทางอากาศ แต่ในสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่เป็นป่าทึบ อาจจำเป็นต้องงดใช้การถ่ายภาพทางอากาศ ทั้งนี้เนื่องจากความหนาทึบของพืชพันธุ์ไม้จะปิดบังพื้นผิวดิน
ค. เมื่อดำเนินการพิจารณาแล้ว มีการส่อเค้าว่าน่าจะมีระบบอุโมงค์อยู่ในพื้นที่นั้น ก็อาจใช้สิ่งบอกเหตุต่าง ๆ มาเป็นตัวช่วยในการสืบค้นหาอุโมงค์ การตรวจสอบด้วยการใช้สายตา มักจะใช้ได้ผลในพื้นที่กว้าง ๆ ทั่วไป แต่ก็ไม่อาจเจาะจงลงไปเป็นที่ตั้งที่แน่นอนได้ กุญแจสำคัญในการตรวจค้นระบบอุโมงค์ก็คือ การใช้สามัญสำนึกประยุกต์เข้ากับแต่ละสถานการณ์ หน่วยทหารระดับหมวดและกองร้อยควรจะได้รับมอบพื้นที่ในการตรวจค้นไม่มากนัก ซึ่งไม่ควรมากกว่า ๑ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ขนาดเล็กดังกล่าวนี้จะถูกกำหนดเลือกขึ้นจากการพิจารณารายงานข่าวกรองที่เกี่ยวกับการปฏิบัติของกำลังฝ่ายก่อความไม่สงบที่ผ่านมา หน่วยจะเข้าทำการตรวจค้นทุกตารางเมตรของพื้นที่ สิ่งบอกเหตุทางสายตาที่มักจะพบ ได้แก่.-
(๑) รอยบากตามต้นไม้ซึ่งพวกก่อความไม่สงบใช้เป็นที่จับยึดเหนี่ยว
(๒) รอยทางเดินเล็ก ๆ ผ่านแนวกอไม้เข้าไปยังกลุ่มต้นไม้ขนาดเล็ก
(๓) ต้นไม้ที่ถูกตัด, ถือเป็นสิ่งบอกเหตุที่ไม่ชี้ชัดนัก
(๔) กิ่งไม่ใหญ่ที่ถูกรวบเข้ามาใกล้ ๆ บริเวณยอดไม้ เพื่อซ่อนพรางการใช้อุโมงค์จากการตรวจการณ์ทางอากาศ
(๕) มีรอยหลืบหลุมตื้น ๆ ในบริเวณกลุ่มต้นไม้เล็ก ๆ
(๖) ปล่องระบายอากาศ – เป็นสิ่งบอกเหตุที่ชี้ชัด
(๗) การค้นพบบุคคลที่อยู่โดดเดี่ยว, โดยเฉพาะเพศหญิงอยู่ในพื้นที่
(๘) อาหารที่ถูกปรุงหรือประกอบขึ้นใหม่ ๆ โดยปราศจากผู้คนอยู่ในบริเวณนั้น
(๙) อุจจาระในบริเวณพื้นที่
ง. สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งบอกเหตุที่ดี แต่อย่างไรก็ตามสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวอาจแปรเปลี่ยนไปตามสภาพของพื้นที่ เราจะค้นหาสิ่งบอกเหตุได้ตามสถานที่ เช่น แนวรั้ว, ทางเดิน และลำธาร ศัตรูมักจะซ่อนตัวอยู่ตามสถานที่เหล่านี้ โดยใช้การตรวจการณ์ในขณะที่ไม่มีผู้ใดค้นพบตน นอกจากนี้การซ่อนตัวในบริเวณดังกล่าว ยังเป็นการเอื้ออำนวยให้ผู้ที่ทำการพรางตัวเป็นอย่างดี สามารถหลบหนีไปได้โดยไม่ถูกค้นพบ พวกก่อความไม่สงบจะระมัดระวังเป็นอย่างมากในอันตรายที่เกิดขึ้นจากการสร้างร่องรอยและหลักฐาน อย่างไรก็ตามพวกก่อความไม่สงบก็จะต้องมีสถานที่ที่ใช้เป็นที่ตรวจการณ์ได้ดีพอ ๆ กับการซ่อนพราง ทหารจะต้องพยายามค้นหาที่ฟังการณ์หรือที่ตั้งยามคอยเหตุของฝ่ายตรงข้าม ที่สามารถใช้เป็นตำบลหรือช่องทางเข้า-ออกในพื้นที่ได้โดยไม่ถูกตรวจพบ
จ. ในบางครั้ง เราอาจได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพิกัดที่แน่นอนของอุโมงค์ จากการสอบถามหรือซักถามประชาชนในพื้นที่ หรือการซักถามเชลยศึก ที่อาจเคยหลบซ่อนอยู่หรือเคยช่วยขุดอุโมงค์นั้น ๆ โดยปกติแล้ว บุคคลหนึ่ง ๆ ย่อมไม่สามารถกำหนดตำบลที่เป็นช่องทางเข้า-ออก อุโมงค์ได้อย่างแน่ชัด หากไม่เคยใช้หรือมองเห็นระบบอุโมงค์นั้นโดยตลอด ทั้งนี้เนื่องจากสภาพภายในอุโมงค์ที่ประกอบด้วยพื้นที่ภายในที่ซับซ้อน
ค – ๑๒ การปฏิบัติการตรวจค้นอุโมงค์
กำลังรบที่จะผ่านเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีระบบอุโมงค์ของฝ่ายตรงข้ามนั้น จำเป็นต้องใช้วิธีการเคลื่อนที่เข้าไปอย่างมีเทคนิค อันดับแรกที่สำคัญก็คือ การระวังป้องกันทางด้านปีกและทางด้านหลังถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ขนาดของที่หมายในพื้นที่ปฏิบัติการจะเป็นตัวกำหนดขนาดของกำลังที่จะเข้าปฏิบัติการตรวจค้นหน่วย, กองร้อย หรือหมวด จะถูกจัดเป็นกำลังเฉพาะกิจ เพื่อปฏิบัติการตรวจค้นอุโมงค์
ก. กองร้อยจะถูกแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน : ส่วนระวังป้องกัน, ส่วนตรวจค้น และกองหนุน (กองบังคับการกองร้อยจะอยู่ในส่วนระวังป้องกัน)
(๑) ส่วนระวังป้องกัน - หนึ่งหมวดและกองบังคับการกองร้อย ทำหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่
(๒) ส่วนตรวจค้น – หนึ่งหมวดทำหน้าที่ตรวจค้นพื้นที่อย่างรวดเร็ว เพื่อค้นหาอุโมงค์ ส่วนตรวจค้นจะถูกแบ่งย่อยออกไปอีกเป็น ชุดตรวจค้น และชุดระวังป้องกัน
(๓) กองหนุน – หนึ่งหมวดจะช่วยเหลือในการปิดล้อม และเสริมกำลัง ตามความจำเป็น
ข. หมวดจะถูกแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน : ส่วนระวังป้องกัน, ส่วนตรวจค้น และกองหนุน
(๑) ส่วนระวังป้องกัน – หนึ่งหมู่ และกองบังคับการหมวดจะทำหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่
(๒) ส่วนตรวจค้น – หนึ่งหมู่ ทำหน้าที่ตรวจค้นในพื้นที่เพื่อค้นหาอุโมงค์ ส่วนตรวจค้นจะถูกแบ่งย่อยออกไปเป็น ชุดตรวจค้น และชุดระวังป้องกัน
(๓) กองหนุน – หนึ่งหมู่ จะทำหน้าที่ช่วยเหลือในการปิดล้อมและเสริมกำลังตามความจำเป็น
ค. เทคนิคในการตรวจค้นอย่างประณีต คือ การตรวจค้นบริเวณรอบศูนย์กลางโดยใช้หมู่ปืนเล็ก แต่ละหมู่จะถูกแบ่งออกเป็นชุดตรวจค้นและชุดระวังป้องกัน
ง. การตรวจค้นอย่างเป็นระบบช้า ๆ จะเป็นไปในพื้นที่ปฏิบัติการ เมื่อได้รับมอบพื้นที่ตรวจค้นแล้ว หมู่จะทำการตรวจค้นอย่างเป็นระบบทุกตารางเมตร ส่วนระวังป้องกันเคลื่อนที่ตรงไปยังจุดจำกัดเขตของพื้นที่ตรวจค้น เมื่อตรวจพบอุโมงค์แล้ว ส่วนระวังป้องกันก็จะกระจายกำลังล้อมรอบพื้นที่ในขณะที่ชุดตรวจค้นเตรียมการที่จะทำลายอุโมงค์
ค – ๑๓ ยุทโธปกรณ์พิเศษ
หมวดหรือกองร้อยอาจจำเป็นต้องใช้ยุทโธปกรณ์พิเศษดังต่อไปนี้ในการตรวจค้นอุโมงค์ :
ก. เครื่องตรวจค้นทุ่นระเบิด - ใช้เพื่อตรวจค้นที่ซ่อนของอาวุธและกระสุน
ข. ลูกระเบิด – สังหาร, เคมี, แก๊ส หรือควัน ฟอสฟอรัสขาว และแก๊สทำลายระบบประสาท แต่จะต้องไม่ใช้ลูกระเบิดขว้างภายหลังจากที่ฝ่ายเดียวกันได้ผ่านเข้าไปในอุโมงค์แล้ว
ค. วัตถุระเบิด – ใช้เพื่อทำลายระบบภายในอุโมงค์ แต่เนื่องจากการใช้วัตถุระเบิดทำลายมีความละเอียด จึงควรใช้ชุดทหารช่างเป็นส่วนสนับสนุนหน่วยตรวจค้น นอกจากนี้ความต้องการใช้วัตถุระเบิดเป็นจำนวนมากในการปฏิบัติการบางครั้งอาจสร้างปัญหาให้กับระบบการส่งกำลังบำรุงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่า (ดูรายละเอียดใน รส.๙๐ - ๑๐ - ๑ สำหรับเรื่องการตรวจค้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นเมือง)
ง. เครื่องอัดอากาศ – ใช้เพื่อบังคับให้ควันลอยเข้าไปในอุโมงค์
จ. ไฟฉาย – ใช้เพื่อตรวจค้นภายในอุโมงค์
ฉ. อาวุธประจำกาย – อาจใช้ปืนพกทำการยิงภายในอุโมงค์ ปืนพกมีอำนาจการหยุดยั้งที่ดี และมีประสิทธิภาพในการใช้ระยะประชิด
ช. เครื่องขยายเสียง – ใช้เพื่อส่งข้อความให้ข้าศึกยอมออกมาจากอุโมงค์
ค – ๑๔ ลำดับขั้นตอน ๔ ขั้น
ขั้นตอนการทำลายอุโมงค์ มีลำดับขั้นการปฏิบัติ 4 ขั้นตอน เริ่มต้นด้วย (ขั้นที่ ๑) ทหารทำการยิงอาวุธประจำกายด้วยกระสุน 1 หรือ 2 ซอง เข้าไปตรงช่องทางเข้าอุโมงค์ ซึ่งจะทำให้ข้าศึกไม่กล้าอยู่ใกล้บริเวณช่องทาง
ก. ภายหลังจากที่ได้เตือนให้พวกก่อความไม่สงบได้รู้แล้ว ฝ่ายเราก็จะบอกให้ฝ่ายก่อความไม่สงบออกมาจากอุโมงค์ มิฉะนั้นจะต้องถูกสังหาร พวกก่อความไม่สงบอาจยอมจำนนโดยปราศจากการต่อสู้ ซึ่งจะเป็นการสงวนชีวิตและกำลังของทหารที่จะต้องทำการขุดค้นหาอาวุธ และเอกสารสำคัญ
ข. หากขั้นที่ ๑ ไม่ประสบความสำเร็จ, ก็จำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการเจาะ (ขั้นที่ ๒) โดยใช้ลูกระเบิดขว้างวางไว้บนที่กำบังของช่องทางเข้า-ออก เพื่อทำลายและเปิดช่องทางเข้า-ออก เหตุที่ใช้วิธีการนี้ก็เพื่อลดอำนาจและผลของกับระเบิดที่วางไว้ตรงช่องทางเข้า-ออก
(๑) การขว้างลูกระเบิดเข้าไป (ขั้นที่ 3) โดยใช้ลูกระเบิดสังหาร หรือทำลายระบบประสาท เพื่อสังหารและทำให้ข้าศึกบาดเจ็บ ผู้ขว้างต้องมั่นใจว่า ลูกระเบิดถูกดึงสลักออก และพร้อมที่จะทำงานก่อนที่จะขว้างเข้าไปในอุโมงค์
(๒) ใช้ลูกระเบิดควันเคมีและลูกระเบิดแก๊สเคมีขว้างเข้าไปในอุโมงค์ ด้วยวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ : ลูกระเบิดควันเคมีใช้เพื่อแสดงให้เห็นช่องทางเข้า-ออกช่องทางอื่น ๆ และลูกระเบิดแก๊สเคมีสามารถทำให้ผู้ก่อความไม่สงบต้องหลบหนีออกมาจากอุโมงค์ ผู้ก่อความไม่สงบที่ถูกจับเป็นเชลยจะต้องถูกซักถามเพื่อค้นหาช่องทางหรืออุโมงค์แห่งอื่น ๆ
ง. ทหารจะเข้าไปในอุโมงค์เพื่อตรวจค้นให้มั่นใจว่าไม่มีอาวุธ และเอกสารสำคัญหลงเหลืออยู่ และข้าศึกทั้งหมด (ที่ตายหรือบาดเจ็บ) ได้ถูกนำออกไปแล้ว (ขั้นที่ ๔) ทหารจะตรวจค้นภายในอุโมงค์เพื่อค้นหาห้องเล็ก ๆ ที่ใช้ซุกซ่อนอาวุธและกระสุน แต่ถ้าหากค้นพบว่าอุโมงค์นั้นมีความกว้างพอที่จะสร้างบังเกอร์และห้องขนาดกว้างได้ ก็จะต้องใช้การตรวจค้นอย่างเป็นระบบ หลังจากนั้นแล้วจะต้องทำลายบังเกอร์ หรือทำการยึดครองไว้ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายข้าศึกกลับเข้ามาใช้เป็นทางผ่านไปยังอุโมงค์อื่น ๆ และจงอย่าตรวจค้นอุโมงค์ให้เป็นจำนวนเกินกว่าที่กำลังฝ่ายเราจะทำการยึดครองไว้ได้
จ. เทคนิคการตรวจค้นอย่างประณีต จะเน้นถึงการค้นหาข้าศึก (จุดที่ข้าศึกสามารถตรวจการณ์, กำบัง, ซ่อนพราง และเส้นทางหลบหนี) เมื่อทหารได้เรียนรู้ว่าจะต้องค้นหาอะไรแล้ว สิ่งบอกเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวจะเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ทหารมีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาว่า ข้าศึกอยู่ไม่ไกลจากตนนัก ภายหลังจากที่ได้ตรวจค้นอุโมงค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำลายเสียด้วยวัตถุระเบิด
ค – ๑๕ ระเบียบปฏิบัติในการทำลาย – ทำให้ใช้ประโยชน์ไม่ได้
การตรวจค้นและการทำให้อุโมงค์ใช้การไม่ได้นั้น เป็นระเบียบปฏิบัติที่มีความประณีต และใช้เวลามาก ซึ่งอาจจะยังผลให้เกิดการสูญเสียกำลังพลได้เช่นเดียวกัน
ก. อุโมงค์ เนื่องจากอุโมงค์แต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันในเรื่องขนาดและโครงสร้าง ดังนั้นความต้องการในเรื่องปริมาณวัตถุระเบิด และการใช้วางในตำแหน่งต่าง ๆ จึงมีความแตกต่างกันไปด้วย
(๑) การใช้ดินระเบิดแท่งเพื่อทำลายอุโมงค์นั้นมีข้อเสียอยู่ก็คือ ดินระเบิดทั้งหมดจะถูกวางเพื่อเน้นการทำลายไปที่จุดเดียว ดังนั้นการทำลายจึงได้เพียงบางแห่ง และมีหลายครั้งที่ผลของการระเบิดไม่มากพอเพียงตามต้องการ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ดินระเบิดแท่งขนาดใหญ่ (๑๐ ถึง ๑๒ ปอนด์) วางไว้เพื่อทำการระเบิดเพดานอุโมงค์ ก็อาจทำให้อุโมงค์ทั้งระบบยุบตัวลงมา หรือถล่มลงมาได้
(๒) ข้อดีของการใช้ดินระเบิดแท่งก็คือ มีความสะดวกและฝ่ายต่อการลง, ง่ายต่อการเก็บรักษา และสะดวกในการส่งกำลังทางอากาศ นอกจากนี้ดินระเบิดแท่งหรือดินระเบิดถุง จะมีประสิทธิภาพในการใช้ทำลาย บังเกอร์, ที่ซ่อนใต้ดิน, ห้องใต้ดิน และอุโมงค์สั้น ๆ ดินระเบิดโพรงก็สามารถใช้ได้กับห้องใต้ดิน
(๓) การใช้ดินระเบิดโพรงในการทำลายอุโมงค์นั้น จะได้ผลเฉพาะในพื้นที่และสถานการณ์บางสถานการณ์ การวางดินระเบิดโพรงในตอนกลางของอุโมงค์ และหันทิศทางไปทางด้านล่างจะทำลายพื้นที่โดยรอบ และด้านบนของดินระเบิดโพรง เช่นเดียวกับการวางระเบิดโพรงในทางส่วนลึกของอุโมงค์ และหันทิศทางขึ้นด้านบนก็จะทำให้เกิดผลในการทำลายได้อย่างมาก
(๔) วิธีการอื่นที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการทำลายอุโมงค์ก็คือ การใช้บังกาโลตอร์ปิโดวางไปตลอดความยาวของอุโมงค์ (โดยไม่คำนึงถึงความลึก) การระเบิดตามความยาวของอุโมงค์จะส่งผลให้เกิดการทำลายได้อย่างสมบูรณ์ โดยการใช้บังกาโลตอร์ปิโด ขนาดยาว ๕ ฟุต วางต่อกัน ข้อเสียของการใช้บังกาโลตอร์ปิโดก็คือ ปัญหาทางด้านการส่งกำลังบำรุง เพราะบังกาโลตอร์ปิโดมีจำนวนขนาดและน้ำหนักมาก การทำลายอุโมงค์ในครั้งหนึ่ง ๆ จึงมักจะมีปัญหาในด้านการส่งกำลังดังกล่าว
ข. บังเกอร์ ที่พักอาศัยใต้ดิน และที่หลบซ่อนตัว และบังเกอร์ อาจถูกทำลายด้วยการใช้ดินระเบิดแท่ง หรือดินระเบิดถุงวางไว้ในจุดที่สำคัญภายในห้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น