วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การยิง ป. ค. และอาวุธต่อสู้รถถัง

การยิง ป. ค. และอาวุธต่อสู้รถถัง ป. ค. และอาวุธต่อสู้รถถังคงวางแผนการยิงเช่นเดียวกันกับการเข้าตีเวลากลางวัน อาวุธเหล่านี้จะไม่ทำการยิงจนกว่าการเข้าตีจะถูกเปิดเผย หรือเมื่อพร้อมเข้าโจมตี อาวุธบางชนิดอาจทำการยิงก่อนการเข้าตีเพื่อคงรูปแบบการยิงที่เคยปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอเพื่อลวงข้าศึกหรือเพื่อกลบเกลื่อนเสียงการเคลื่อนของหมวด แต่การยิงดังกล่าวนี้จะระงับหากเสี่ยงต่อการเปิดเผยการเข้าตีแต่เนิ่น


๑) การปรับการยิงอาวุธเล็งจำลองทำได้ยากลำบากในสภาพทัศนวิสัยจำกัด ในกรณีที่ไม่มั่นใจในการปรับการยิงเนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อฝ่ายเรา ให้ปรับการยิงต่อที่ตั้งข้าศึกที่อยู่เลยที่หมายออกไปก่อนแล้วจึงย้ายการยิงมายังที่หมาย อาจยิงกระสุนส่องแสงให้ตกบนที่หมาย โดยคำนวณให้กระสุนยังคงลุกไหม้ต่อไปบนพื้นดินเพื่อให้ทราบตำแหน่งของที่หมาย ทำให้หมวดปืนเล็กสามารถรักษาทิศทางได้ง่าย แต่จะมีผลกระทบต่อการใช้เครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืน

๒) วางแผนการใช้ควัน เพื่อลดการมองเห็นของข้าศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้าศึกใช้เครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืน การใช้ควันอาจใช้บริเวณใกล้ ๆ หรือ ณ ที่ตั้งของข้าศึกก็ได้ โดยที่จะไม่เป็นการจำกัดการเคลื่อนที่หรือการเจาะเครื่องกีดขวางของฝ่ายเรา หากใช้ควันบริเวณที่หมายอาจทำให้ส่วนโจมตีมีความลำบากในการค้นหาหลุมบุคคลของข้าศึก เว้นแต่จะมีกล้องเล็งหรือกล้องตรวจการณ์ชนิดตรวจจับด้วยรังสีความร้อนอย่างเพียงพอ และทหารได้รับการฝึกมาอย่างดี การใช้ควันลักษณะนี้จะยิ่งทำให้ได้เปรียบข้าศึกอย่างสูงสุด

๓) มีการวางแผนการยิงส่องสว่างเอาไว้ทุกครั้งในการเข้าตี โดยให้ผู้บังคับหมวดสามารถร้องขอได้เมื่อต้องการ โดยปกติผู้บังคับกองพันเป็นผู้ควบคุมการยิงส่องสว่าง แต่อาจมอบหมายให้ผู้บังคับกองร้อยเป็นผู้ควบคุมก็ได้ หากผู้บังคับกองพันตกลงใจให้มีการยิงส่องสว่างสนามรบ ทุกหน่วยจะไม่ร้องขอการยิงจนกว่าส่วนโจมตีจะเริ่มการโจมตี หรือเมื่อการเข้าตีถูกเปิดเผย เมื่อทำการยิงควรยิงไปยังหลาย ๆ ตำบล ครอบคลุมพื้นที่กว้างเพื่อสร้างความสับสนแก่ฝ่ายข้าศึก จนไม่ทราบว่าฝ่ายเราจะเข้าตีแน่นอนบริเวณใด และให้สามารถยิงไปหลังที่หมายเพื่อให้ส่วนโจมตีมองเห็นและยิงข้าศึกที่กำลังถอนตัว หรือกำลังตีโต้ตอบได้ด้วย

๔) หากข้าศึกใช้การยิงส่องสว่างเพื่อขัดขวางการตรวจการณ์ด้วยเครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืนของฝ่ายเรา อาจจำเป็นต้องต่อต้านด้วยการยิงส่องสว่างเช่นเดียวกัน แต่ต้องยิงส่องสว่างอย่างต่อเนื่อง เพราะหากไม่ต่อเนื่องจะทำให้การมองเห็นของทหารที่กำลังเข้าตีนั้นสูญเสียไป ขณะที่ไม่ส่องสว่างจะส่งผลถึงอำนาจการยิง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเข้าตี ผู้บังคับหมู่จะไม่ใช้พลุส่องสว่างจนกว่าผู้บังคับหน่วยเหนือจะตกลงใจให้ทำการส่องส่วาง ณ ที่หมายได้

๕) กล้องเล็งชนิดตรวจจับด้วยรังสีความร้อน (Thermal Sight) อาจนำมาใช้เพื่อการตรวจการณ์โดยตรงเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ค้นหาเป้าหมายให้กับอาวุธต่อสู้รถถังขนาดกลาง โดยการใช้กล้องเล็งดังกล่าวนี้นอกบริเวณพื้นที่ที่หมาย ความมุ่งหมายเพื่อให้ได้ข่าวสารล่าสุด ตัวอย่างของการใช้เช่นใช้กับส่วนสนับสนุนในการควบคุมการยิง หรือเพื่อแจ้งข่าวสารความเคลื่อนไหวของข้าศึกบริเวณที่หมายให้ส่วนโจมตีทราบ เป็นต้น

๖) เมื่อมีเครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืนจำกัด จะต้องพิจารณาใช้ ณ บริเวณที่มีความสำคัญยิ่ง เช่น ใช้กับทหารคนสำคัญในส่วนเจาะที่หมาย (breach element) ผู้บังคับหน่วยในส่วนโจมตี ทหารคนสำคัญอื่นๆ ในส่วนโจมตีและผู้บังคับหน่วยกับอาวุธหลักๆ ในส่วนสนับสนุน

ฉ. การเสริมความมั่นคงและจัดระเบียบใหม่ หมวดปืนเล็กดำเนินการทันทีหลังจากยึดที่หมายได้ ซึ่งปฏิบัติเหมือนกับเวลากลางวัน เว้น

๑) แผนการเสริมความมั่นคงควรง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในการจัดระเบียบใหม่ควรหลีกเลี่ยงการจัดเฉพาะกิจใหม่

๒) ที่วางตัวของหมู่ปืนเล็กต่าง ๆ ควรอยู่ใกล้กันเพื่อง่ายแก่การควบคุม และช่วยเหลือซึ่งกันและกันสะดวกขึ้น เมื่อทัศนวิสัยดีขึ้นจึงค่อยปรับระยะห่างระหว่างหมู่ปืนเล็กใหม่

๓) ใช้เวลาในการรวบรวมและส่งกลับผู้ป่วยเจ็บ และเชลยศึกมากกว่าเวลากลางวัน สำหรับเชลยศึกนั้นอาจจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายลงไปข้างหลัง และควบคุมอยู่บริเวณนั้นจนกว่าทัศนวิสัยดีขึ้นจึงส่งกลับต่อไป

ช. การติดต่อสื่อสาร ผู้บังคับหมวดจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการติดต่อสื่อสารที่เหมาะสม ซึ่งแตกต่างจากเวลากลางวัน เช่น ทัศนสัญญาณมือและแขน อาจมองไม่เห็นในเวลากลางคืน วิธีการต่าง ๆ ที่อาจนำมาใช้เพื่อการสื่อคำสั่งและข่าวสาร การกำหนดจุดนัดพบระหว่างทาง การควบคุมรูปขบวนหรือเพื่อกำหนดเวลาเริ่มต้นการปฏิบัติต่าง ๆ เป็นต้น หัวใจสำคัญของการติดต่อสื่อสารในเวลากลางคืนคือ ความง่าย สามารถเข้าใจได้ตรงกันและปฏิบัติได้จริง สัญญาณต่าง ๆ ควรกำหนดไว้ใน รปจ. ของหมวด ควรให้ง่ายที่สุดเพื่อป้องกันความสับสน ผู้บังคับหมวดและผู้บังคับหมู่ต้องให้ความสำคัญและมั่นใจว่าทหารทุกคนเข้าใจและมีการฝึกสัญญาณพื้นฐาน รวมทั้งสัญญาณอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้อยู่เสมอ เทคนิคที่จะช่วยให้ผู้บังคับหน่วยต่าง ๆ และพลวิทยุทำการติดต่อสื่อสารในเวลากลางคืนได้สะดวกรวดเร็ว อย่างหนึ่งคือการปิดแถบเรืองแสงบริเวณเครื่องมือสื่อสารหรือพกพาไว้ในกระเป๋า ซึ่งผู้บังคับหน่วยหรือพลวิทยุสามารถเขียนหมายเลขบัญชีเป้าหมาย นามเรียกขาน ความถี่ รหัสลับ จุดตรวจสอบ และอื่น ๆ ลงบนแถบเรืองแสงด้วยดินสอดำ สามารถอ่านได้ง่ายในเวลากลางคืน และแกะออกได้ง่ายเมื่อจำเป็น

๑) สัญญาณที่ใช้ในเวลากลางคืนส่วนใหญ่จะอาศัยระบบการรับรู้ต่าง ๆ เช่น เสียง ความรู้สึก และการเห็น สัญญาณเสียงประกอบด้วย วิทยุ โทรศัพท์ พลนำสาร และการใช้วัตถุกระทบหรือเสียดสีกัน เป็นต้น การใช้พลนำสาร ควรให้ส่งข่าวที่เป็นข้อเขียนเพื่อป้องกันความสับสนและเข้าใจผิด แต่เมื่อไม่สามารถทำได้ หากจำเป็นต้องส่งข่าวด้วยวาจา ผู้บังคับหมวดควรให้พลนำสารทำความเข้าใจในข่าวและให้ทวนข่าวทุกคำ

๒) การควบคุมในเวลากลางคืน ยังคงจำเป็นต้องใช้คำพูดแต่ควรพูดแบบกระซิบ วิทยุและโทรศัพท์ โดยปกติไม่ควรใช้แต่หากจำเป็นต้องใช้ควรใช้อย่างระมัดระวัง ในเวลากลางคืนเสียงจะเดินทางได้ไกลเช่น เสียงสัญญาณวิทยุ เสียงการสื่อคำสั่งและข่าวสาร และเสียงกริ่งโทรศัพท์ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นการละเมิดวินัยการใช้เสียง – เสียง วิธีการลดและหลีกเลี่ยงคือ มีการวางแผนการใช้สัญญาณและเสียงสัญญาณ การใช้หูฟังครอบศีรษะจะช่วยลดเสียงจากวิทยุและโทรศัพท์ แต่หากไม่มีหูฟังครอบศีรษะ ควรปรับสวิทซ์ไว้ในตำแหน่ง “ ON ” ไม่ควรใช้ตำแหน่ง “ SQUELCH ON ” และปรับระดับเสียงแต่พอได้ยินเท่านั้น

๓) หินและวัตถุอื่น ๆ สามารถนำมาใช้ทำสัญญาณเสียงได้ โดยการเจาะหรือสีกัน หรือกับต้นไม้ หรือกับพานท้ายปืน เสียงสัญญาณที่จะใช้สื่อกัน ควรมีการซักซ้อมความเข้าใจ และในการส่งสัญญาณแต่ละครั้งควรให้มีสัญญาณตอบรับด้วย การใช้เครื่องมือส่งสัญญาณเสียงอื่น ๆ อาจประกอบด้วย นกหวีด กระดิ่ง ไซเรน ประทัด หรือเครื่องเป่าให้เกิดเสียงอื่น ๆ การเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ ยึดถือหลักความง่ายและความปลอดภัยเป็นสำคัญ

๔) ผู้บังคับหน่วยระดับต่าง ๆ อาจเลือกใช้เครื่องมือให้แสงสำหรับส่งสัญญาณแทนการใช้เสียงก็ได้ โดยใช้ได้ทั้งส่งและรับ แต่การใช้แสงสัญญาณต้องง่ายแก่การสังเกต และง่ายแก่การพิสูจน์ฝ่ายด้วย แสงสัญญาณอาจใช้บอกตำแหน่ง ชุมทาง ทางแยก สำหรับเริ่มการเข้าตี แสดงจุดที่รวมรวม สป. หรือเพื่อแสดงให้ทราบว่าพื้นที่นั้นปลอดภัยแล้ว ตัวอย่างเช่น การใช้ปูนขาวโรยเป็นแนวบอกทิศทางบริเวณที่มีทางแยกหลายทาง พลุสัญญาณใช้บอกการขอเลื่อนการยิงสนับสนุนในการเข้าตีหรือในการตีโฉบฉวย เป็นต้น นอกจากนี้สารเคมีเรืองแสง อาจใช้บอกจุดที่รวบรวม สป.ของหน่วย หน้าปัดเข็มทิศซึ่งเรืองแสงใช้แสดงว่าบริเวณพื้นที่อันตรายที่กำลังจะเคลื่อนที่ข้ามนั้นปลอดภัยแล้ว เครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้เป็นแสงสัญญาณได้นั้นมีมากมายหลายชนิด แต่การที่จะนำเครื่องมือชนิดใดมาใช้นั้น ต้องทำความเข้าใจกับทหารทุกคนเป็นอย่างดี ตัวอย่างเครื่องมือให้แสงสัญญาณต่าง ๆ เช่น

- ไม้ชี้บอกทิศทาง

- การใช้แสงที่เป็นสีต่าง ๆ

- แถบเรืองแสง

- หินวางเรียงเป็นแนว

- ทำเครื่องหมายบนพื้นดิน

- แป้งฝุ่นโรยเท้าหรือทาตัว

- พลุส่องสว่าง

- ไฟฉาย

- กระสุนส่องแสงจากเครื่องยิง ลข. ค. หรือปืนใหญ่

- สารเคมีเรืองแสง

- แสงอินฟราเรด

- กล้องตรวจการณ์กลางคืน

- ตะเกียงน้ำมัน

- หน้าปัดเข็มทิศ

๕) ในระหว่างการเข้าตี ควรดำรงการติดต่อสื่อสารทางสายระหว่าง ผบ.หมู่ ผบ.มว. และ ผบ.ร้อย. เอาไว้ให้ได้ หากทำได้ควรให้ส่วนลาดตระเวนทำการวางสายไว้ล่วงหน้า หากทำไม่ได้ต้องทำการวางสายพร้อมกับการเคลื่อนที่เข้าตี การวางสายล่วงหน้าอาจทำให้เปิดเผยการเข้าตี หากวางไม่เหมาะสมกับการพรางหรือวางในระยะทางไกลเกินไป การติดต่อสื่อสารทางสาย สามารถกระทำได้ตลอดเวลาในขณะเคลื่อนที่

ก) ข่ายทางสายของหมวด เริ่มวางจากจุดแยกหมวดถึงจุดแยกหมู่และถึงตัว ผบ.หมู่ทุกหมู่ บนแนวปรับรูปขบวน

ข) ลวดนำทางเข้าโจมตี ( assault wire ) ใช้นำทางจากจุดแยกกองร้อยถึงจุดแยกหมวดและจุดแยกหมู่

ค) วิทยุ วิทยุของหน่วยใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารสำรอง

ซ. การค้นหาเป้าหมาย ความสามารถค้นหาเป้าหมายในเวลากลางคืนขึ้นอยู่กับความอดทน ความตื่นตัว ความสนใจต่อรายละเอียดและการฝึกซ้อม แม้ว่าลักษณะตามธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ มีรูปแบบที่หลากหลายไม่แน่นอนก็ตาม แต่หากถูกคนเข้าไปดัดแปลง หรือทำให้เสียลักษณะธรรมชาติเดิมแล้ว ย่อมง่ายแก่การสังเกตพบได้ การรับรู้ความเคลื่อนไหวของข้าศึกได้ในเวลากลางคืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยความอดทน ความมั่นใจ และความมีสติมั่นคง ทั้งผู้บังคับหน่วยและทหารทุกคน

๑) ความสามารถในการเคลื่อนที่แบบลักลอบในเวลากลางคืน และความสำเร็จในการปฏิบัติต่อเป้าหมายในเวลากลางคืน ขึ้นอยู่กับความรู้ในเรื่องข้าศึกว่า ข้าศึกเข้าตี ตั้งรับ และใช้ภูมิประเทศอย่างไร การศึกษาเทคนิคต่าง ๆ ของข้าศึก แล้วนำมาจำลองแบบเทคนิคเหล่านั้น จะช่วยให้ค้นหาเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

๒) ความอดทนและความมั่นใจ เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับการค้นหาเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทหารควรพิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยรูปร่างลักษณะเป็นสำคัญ กล่าวคือต้องมองสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบคอบ สงบ ไม่ตื่นเต้น และมองอย่างเป็นระบบทั่วทั้งพื้นที่ ไม่สนใจมองแต่เฉพาะส่วนผิวเท่านั้น แต่ต้องมองทั้งรูปร่างลักษณะโดยรวมทั้งหมดโดยสังเกตลักษณะแนวเส้น รูปทรงที่ผิดแปลกธรรมชาติ และลักษณะความเข้มของแสงด้วย

๓) ทหารแต่ละคนต้องเพ่งเล็งบริเวณที่น่าจะมียาม หรือจุดตรวจของข้าศึก สะพาน หรือสิ่งกีดขวาง และสันเนินทางทหารบนภูมิประเทศสำคัญ (บริเวณที่ซึ่งจะเป็นที่ตรวจการณ์ได้ดีที่สุด) รวมทั้งพิจารณาที่ตั้งสำหรับอาวุธยิงสนับสนุนกับพิจารณาระยะยิงของอาวุธสนับสนุนจากจุดเหล่านั้นด้วย นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงการใช้เครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืนของอาวุธเหล่านั้นหากมีการใช้จะใช้อย่างไร และมีระดับเส้นสายตา (line of sight) อย่างไร เมื่อพิจารณาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แล้วก็ค้นหาที่ตั้งและการปฏิบัติต่าง ๆ ของข้าศึกตามนั้นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น