การปฏิบัติการทางยุทธวิธีของหมวด และหมู่ปืนเล็ก ใน ๓ รูปแบบหลัก คือ การเคลื่อนที่ การรบด้วยวิธีรุก และการรบด้วยวิธีรับ นอกจากนั้นจะกล่าวถึงการระวังป้องกัน ซึ่งหมวดปืนเล็กจะต้องปฏิบัติในทุกรูปแบบของการปฏิบัติ ยุทธวิธีของทหารราบ มีพื้นฐานมาจาก หลักสำคัญ ๕ ประการ คือ
๑. เมื่อปะทะกับข้าศึก หมู่และหมวดปืนเล็ก จะเข้าทำการรบ เอาชนะข้าศึกด้วยกำลังของหน่วยระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
๒. หมู่ปืนเล็กที่ปะทะจะต้องรีบทำการยิงกดต่อฝ่ายข้าศึกให้ได้ผลก่อน จึงจะดำเนินกลยุทธ์ หรือให้หมู่ปืนเล็กอื่น ๆ ดำเนินกลยุทธ์ หากหมู่ปืนเล็กไม่สามารถเคลื่อนที่ภายใต้การยิงคุ้มครองจากอาวุธภายในหมู่เองได้ หมวดปืนเล็กต้องทำการยิงกดให้ และดำเนินกลยุทธ์ต่อที่มั่นของข้าศึกทันที
๓. หมวดและหมู่ปืนเล็กทำการรบเป็นหน่วย โดยการดำรงความเป็นชุดยิงและหมู่ ชุดบุคคลคู่ (buddy team) เช่น ผู้บังคับหมู่คู่กับพลยิงอาวุธกล และพลยิงเครื่องยิงลูกระเบิดคู่กับพลปืนเล็ก เป็นต้น
๔. ความสำเร็จของภารกิจ ขึ้นอยู่กับการที่ทหารทุกคนรู้ว่า หมวดของตนกำลังมุ่งที่จะทำอะไรอยู่ และรู้ขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติจนบรรลุภารกิจนั้น ๆ
๕. ผู้บังคับหมวดปืนเล็กจะต้องพัฒนาสถานการณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องคอยผลการปฏิบัติของหมู่ปืนเล็กที่กำลังปะทะ เมื่อใดก็ตามที่ชุดยิงใดชุดยิงหนึ่งเกิดการปะทะ หมวดปืนเล็กจะเริ่มการปฏิบัติที่จำเป็นโดยทันที ด้วยวิธีนี้จะทำให้หมวดปืนเล็กสามารถให้การสนับสนุนเพิ่มเติมหรือดำเนินกลยุทธ์เพื่อช่วยเหลือในการโจมตี หรือทำการขยายผลแห่งความสำเร็จ แก่หมู่ปืนเล็กที่กำลังปะทะนั้นได้ทันที
๑ - ๖ การเคลื่อนที่
การเคลื่อนที่หมายถึงการโยกย้าย (shifting) กำลังในสนามรบ หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการเคลื่อนที่คือ ความสามารถของผู้บังคับหน่วยที่จะผสมผสานใช้ทั้งรูปขบวนและเทคนิคในการเคลื่อนที่ที่ดีที่สุด ในแต่ละสถานการณ์ โดยพิจารณาปัจจัย ภารกิจ ข้าศึก ภูมิประเทศ กำลังและเวลาที่มีอยู่ (METT-T) ในการเลือกเส้นทางที่ดีที่สุด กับเลือกรูปขบวนและเทคนิคการเคลื่อนที่ที่เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตามการตกลงใจเลือกวิธีการเคลื่อนที่ของผู้บังคับหน่วยจะต้องอำนวยให้การเคลื่อนที่ของหมวดเป็นไปในลักษณะดังนี้
- ดำรงไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของหน่วย
- ดำรงไว้ซึ่งแรงหนุนเนื่อง
- สามารถพิทักษ์หน่วยได้มากที่สุด
- เมื่อปะทะข้าศึก สามารถปรับเปลี่ยนการรบเป็นวิธีรุก หรือรับได้สะดวกและรวดเร็ว
ก. รูปขบวน หมายถึง การจัดลักษณะตำแหน่ง ที่อยู่ ระยะ และทิศทางของหน่วย / ส่วนต่างๆ และตัวทหารให้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หมวดและหมู่ปืนเล็กใช้รูปขบวนในการเคลื่อนที่ เพื่อประโยชน์ในการควบคุม การระวังป้องกันและเพื่อความอ่อนตัว
๑) การควบคุม หมู่ปืนเล็กทุกหมู่และทหารทุกคน มีตำแหน่งที่อยู่ในแต่ละรูปขบวนเป็นมาตรฐานแน่นอน ทหารแต่ละคนมองเห็นหัวหน้าชุดของตน หัวหน้าชุดยิงแต่ละคนมองเห็นผู้บังคับหมู่ของตน ผู้บังคับหน่วยสามารถควบคุมหน่วยด้วยทัศนสัญญาณ (มือและแขน)
๒) การระวังป้องกันรูปขบวนต่าง ๆ สามารถทำการระวังป้องกันรอบตัวได้รอบตัว และยังเอื้ออำนวยให้หน่วยสามารถวางน้ำหนักอำนาจการยิงทั้งทางด้านปีก หรือด้านหน้าแล้วแต่จะคาดการณ์ว่าการปะทะน่าจะเกิดขึ้นทางด้านใด
๓) ความอ่อนตัว รูปขบวนการเคลื่อนที่จะไม่กำหนดระยะและรูปร่างที่แน่นอน ตายตัวหมวดและหมู่ปืนเล็กต้องมีความอ่อนตัวในการเลือกใช้รูปขบวนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การใช้รูปขบวนที่เหมาะสมจะช่วยให้ทหารแต่ละคนสามารถปฏิบัติเป็นอัตโนมัติตามที่ได้ฝึกซ้อมมา ตามแบบฝึกทำการรบ (Battle drill) ได้อย่างรวดเร็ว และมั่นใจได้ว่าตัวผู้บังคับหน่วยและทหารแต่ละคนจะอยู่ ณ ตำแหน่งที่เหมาะสมเป็นที่รู้กัน และสามารถปฏิบัติการได้อย่างถูกต้องตามที่จะบรรลุภารกิจ
ข. เทคนิคการเคลื่อนที่ หมายถึง การจัดความสัมพันธ์ของตำแหน่งที่ตั้งหน่วยต่าง ๆ เช่น หมู่ปืนเล็กและชุดยิงในระหว่างการเคลื่อนที่ เทคนิคการการเคลื่อนที่ของหมวด และหมู่ปืนเล็ก มี ๓ ลักษณะ คือ เทคนิคการเคลื่อนที่แบบเดินทาง เดินทางเฝ้าตรวจ และเฝ้าตรวจเคลื่อนที่สลับ
๑) เทคนิคการเคลื่อนที่ ใช้เพื่อการควบคุมหน่วย การระวังป้องกัน และเพื่อความอ่อนตัวในการเคลื่อนที่ของหน่วย เช่นเดียวกับรูปขบวนการเคลื่อนที่
๒) เทคนิคการเคลื่อนที่ แตกต่างจากรูปขบวนการเคลื่อนที่ ๒ ประการ คือ
ก) รูปขบวนการเคลื่อนที่ นั้นค่อนข้างจะแน่นอนกว่า เทคนิคการเคลื่อนที่ โดยเฉพาะในเรื่องของระยะห่างระหว่างบุคคล หรือหน่วยต่าง ๆ ตัวอย่าง เช่น ในการใช้เทคนิคการเคลื่อนที่แบบเฝ้าตรวจเคลื่อนที่สลับนั้น ระยะห่างระหว่างส่วนที่เฝ้าตรวจกับส่วนที่เคลื่อนที่ จะไม่กำหนดแน่ชัด ขึ้นอยู่กับปัจจัย METT-T
ข) รูปขบวน ทำให้หมวดปืนเล็กสามารถวางน้ำหนักการยิงไปยังทิศทางที่ต้องการ ส่วนเทคนิคการเคลื่อนที่ ทำให้หมู่ปืนเล็กสามารถเข้าปะทะกับข้าศึกด้วยกำลังส่วนที่เล็กที่สุด ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ทำให้ผู้บังคับหมวดสามารถจัดตั้งฐานยิงเริ่มยิงกดข้าศึกได้ก่อน และสามารถดำเนินกลยุทธ์ได้ โดยไม่ต้องผละจากการรบก่อน หรือต้องรอการเพิ่มเติมกำลังเสียก่อน
๓) ผู้บังคับหมวด จะเลือกใช้เทคนิคการเคลื่อนที่แบบใดขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเกิดการปะทะกับข้าศึก และความเร็วที่ต้องการเป็นหลัก
ค. ข้อพิจารณาอื่น ๆ ในการวางแผนการเคลื่อนที่ทางยุทธวิธี ผู้บังคับหมวดควรพิจารณาถึงปัจจัยที่สำคัญต่าง ๆ ด้วย ดังนี้
- การลาดตระเวน
- การกระจายกำลัง
- การระวังป้องกัน
- การกำบัง และการซ่อนพราง
- ความเร็ว
- การตรวจการณ์ และพื้นยิง
- พื้นที่ดำเนินกลยุทธ์
- การบังคับบัญชา และการควบคุม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น