วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประเภทของหลุมบุคคล

ประเภทของหลุมบุคคล หลุมบุคคลมีหลายประเภท เช่น หลุมบุคคลตามจำนวนทหารที่จะประจำอยู่ ตามประเภทของอาวุธที่จะตั้งยิง เวลาที่มีอยู่ และลักษณะภูมิประเทศ เป็นปัจจัยหลักในการเลือกหลุมบุคคลประเภทต่าง ๆ


๑) หลุมบุคคลเร่งด่วน ใช้เมื่อมีเวลาน้อยหรือไม่มีเวลาพอที่จะเตรียมหลุมบุคคลอื่นๆ

(รูปที่ ๒ - ๔๘) จะใช้พื้นที่ด้านหลังของสิ่งใดก็ตามที่สามารถให้การกำบังได้ ซึ่งควรกำบังด้านหน้าจากการยิงเล็งตรง และยังคงสามารถทำการยิงด้านหน้าหรือทางเฉียงได้ หลุมบุคคลเร่งด่วนอาจใช้เพียงเป้สนามวางไว้ข้าง ๆ ต้นไม้หรือก้อนหินใหญ่ เพื่อป้องกันสะเก็ดระเบิดจากกระสุนอาวุธวิถีโค้งกับควรอยู่ในหลุม หรือแอ่งเล็ก ๆ ตามธรรมชาติลึกอย่างน้อย ๑๘ นิ้ว คำว่าหลุมบุคคลเร่งด่วนมิได้หมายความว่าไม่ต้องทำการขุด ถึงแม้จะมีเวลาเพียงไม่กี่นาทีก็ต้องจัดทำหลุมหรือแอ่งสำหรับนอนยิงหรือหาที่กำบังในลักษณะนอนยิง หลุมบุคคลเร่งด่วนเหมาะสำหรับการซุ่มโจมตีหรือสำหรับเป็นที่วางตัวของส่วนระวังป้องกันระหว่างการตีโฉบฉวยหรือการเข้าตี และเป็นขั้นแรกของการเตรียมหลุมบุคคลที่จะเพิ่มความแข็งแรงมากขึ้น
๒) หลุมบุคคลเดี่ยว เป็นหลุมบุคคลที่สามารถทำที่กำบังเหนือศีรษะได้สะดวก เนื่องจากมีความกว้างเพียงสำหรับทหารคนเดียวพร้อมเครื่องสนามเท่านั้น แต่ไม่มีการระวังป้องกันที่ดีเท่ากับหลุมบุคคลคู่ หลุมบุคคลเดี่ยวต้องอำนวยให้ทหารสามารถยิงด้านหน้าและทางเฉียงได้จากหลังมูนดินหน้าหลุมบุคคล
๓) หลุมบุคคลคู่สามารถใช้ได้ในภูมิประเทศรกทึบ บริเวณที่ทำการยิงกวาด หรือยิงช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้เพียงระยะใกล้ไม่เกินระยะห่างระหว่างหลุมข้างเคียง หรืออาจใช้เพื่อครอบคลุมพื้นที่อับกระสุนด้านหน้าขอบข้างด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้านของหลุมบุคคล สามารถขยายออกไปถึงขอบมูนดินด้านหน้าเพื่อให้ทหารตรวจการณ์ได้ดีขึ้น และขยายเขตการยิงได้กว้างมากขึ้น สำหรับหลุมบุคคลคู่ขณะที่ทหารคนหนึ่งกำลังพักผ่อนหรือรับประทานอาหาร ทหารอีกคนหนึ่งสามารถเฝ้าตรวจได้ทั่วทั้งเขตการยิง ในกรณีถูกยิงจากด้านหน้าทหารสามารถถอยกลับเข้าที่กำบังได้ ทหารในหลุมบุคคลคู่สามารถค้นหาและยิงเป้าหมายด้านหน้าได้อย่างต่อเนื่องในระหว่างที่ข้าศึกหยุดทำการยิงเพียงการเคลื่อนที่ไป – มา ไม่เกิน ๑ เมตรเท่านั้น แต่ต้องทำการขุดมากกว่าหลุมบุคคลเดี่ยวและทำการพรางยากกว่า รวมทั้งถูกโจมตีด้วยลูกระเบิดขว้างได้ง่ายกว่าด้วย
๔) หลุมบุคคลแบบสามคน เป็นหลุมบุคคลที่มีข้อได้เปรียบมากกว่าหลุมบุคคลประเภทอื่น ๆ สามารถกำหนดทหารคนใดคนหนึ่งเป็นหัวหน้า เพื่อให้ง่ายแก่การบังคับบัญชามากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่อง และให้การระวังป้องกันได้ดีกว่าหลุมบุคคลประเภทอื่น คือทหารคนหนึ่งทำการระวังป้องกัน คนหนึ่งปฏิบัติงานตามที่กำหนด ส่วนอีกคนหนึ่งสามารถพักผ่อน รับประทานอาหารหรือปรนนิบัติบำรุงอาวุธได้ ทำให้งานต่าง ๆ ในการตั้งรับดำเนินการได้เสร็จเร็วกว่าการใช้หลุมบุคคลประเภทอื่น นอกจากนี้ยังทำให้หมวดสามารถดำรงความพร้อมรบตลอดเวลา โดยไม่มีการเปลี่ยนตัวทหารหรือทิ้งให้หลุมใดหลุมหนึ่งว่างเปล่า สามารถตรวจการณ์และยิงได้รอบตัว และยากแก่การถูกทำลายโดยฝ่ายข้าศึก เพราะข้าศึกต้องสังหารทหารถึง ๓ คน จึงจะทำลายหลุมบุคคลนี้ได้


ก) เมื่อเลือกใช้หลุมบุคคลแบบสามคน ผู้บังคับหมวดต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

(๑) ระยะห่างระยะหลุมที่ต้องมากขึ้น และเขตรับผิดชอบของหมู่ที่จะต้องเล็กลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนวิสัยและพื้นการยิงเป็นหลัก

(๒) เนื่องจากผู้บังคับหมู่ปืนเล็ก ต้องอยู่ในหลุมบุคคลซึ่งคาดว่าจะถูกทำลายมากที่สุดในระหว่างรบ เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมการปฏิบัติต่อหลุมอื่น ๆ ด้วยตนเองได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นผู้บังคับหมู่ปืนเล็กจึงควรใช้วิธีดำรงการควบคุมหมู่ในระหว่างการรบโดย

- มีแผนและเจตนารมณ์ที่ชัดเจน รวมทั้งมาตรการควบคุมต่าง ๆ และแผนการยิงอาวุธต่าง ๆ

- ใช้สัญญาณที่นัดหมายกันไว้ล่วงหน้า เช่น พลุ นกหวีด หรือกระสุนส่องวิถี

- ตั้งยิงอาวุธหลักสำคัญต่าง ๆ ไว้ ในหลุมของตน

- เลือกที่ตั้งหลุมของตนไว้ ณ บริเวณที่สามารถควบคุมภูมิประเทศสำคัญ หรือบริเวณพื้นที่รบแตกหัก

- เลือกที่ตั้งหลุมของตนไว้ ณ บริเวณที่สามารถปฏิบัติการเป็นกองหนุนได้

ข) หลุมบุคคลแบบสามคน จะมีลักษณะรูปตัว T แต่สามารถดัดแปลงโดยการเพิ่มหรือลดขนาดที่กำบัง ปรับทิศทางของตัว T หรือเปลี่ยนจุดที่อยู่ของทหารคนกลางจากตัว T เปลี่ยนเป็นตัว L (รูปที่ ๒ - ๕๑)

- การวางทิศทางยิงของหลุมบุคคล ขั้นต้นจะวางไปยังทิศทางใดก็ได้ที่คาดว่าจะเป็นแนวทางเคลื่อนที่ของข้าศึก

- สามารถเพิ่มขนาดที่กำบังได้ตามปัจจัย METT – T แต่ต้องไม่บังการตรวจการณ์หรือการยิงไปยังเขตการยิงหลักและรอง และควรให้ง่ายแก่การสร้างที่กำบังเหนือศีรษะ

- ที่กำบังเหนือศีรษะควรทำด้วยท่อนไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ ถึง ๖ นิ้ว หรือใช้ไม้ปลายแหลมขนาดยาวตอกตรึงช่วยยึดไว้ขอบหลุม ห่างประมาณ ๑ ฟุต หรือ ๑/๔ ของความลึกของหลุมแล้วแต่ว่าอย่างใดจะแน่นหนากว่า

- การเตรียมหลุมจะแล้วเสร็จต่อเมื่อได้ทำการพรางด้วยวัสดุธรรมชาติ และเสริมความแข็งแรงเรียบร้อยแล้ว
๕) หลุมปืนกล เขตการยิงหลักของปืนกลควรเป็นแนวเฉียงเพื่อให้สามารถยิงพาดผ่านด้านหน้าของหมวดได้ โดยปกติจะใช้ขาหยั่งตรงด้านที่จะยิงครอบคลุมเขตการยิงหลักและขาทรายตรงด้านที่จะยิงครอบคลุมเขตการยิงรอง เพื่อเวลาต้องการเปลี่ยนทิศทางยิงจากเขตการยิงหลักไปยังเขตการยิงรองจะทำการเคลื่อนย้ายเฉพาะตัวปืนเท่านั้น บางครั้งอาจจำเป็นต้องวางการยิงเฉพาะตรงหน้าเท่านั้น ในกรณีนี้จะมีจุดอ่อนเมื่อย้ายการยิงไปทำการยิงทางเฉียง คือ การกำบังทางด้านหน้าจะไม่ดีพอ (รูปที่ ๒ - ๕๒)


ก) หลังจากผู้บังคับหมวดได้กำหนดที่ตั้งยิงปืนกลแล้ว จะกำหนดจุดที่วางขาหยั่งให้ด้วย รวมทั้งแนวซ้าย – ขวา สุดของเขตการยิง หลังจากนั้นพลยิงจะเริ่มขีดแนวเส้นโครงขอบของหลุม และที่กำบังด้านหน้า ( ถ้าจำเป็นต้องมี )

ข) พลประจำปืนเริ่มขุดหลุมเตรียมแท่นตั้งปืนก่อน เพื่อลดการปรากฏตัวของพลยิงเอง ในกรณีที่จำเป็นต้องทำการยิงก่อนที่หลุมปืนจะแล้วเสร็จ แท่นวางปืนต้องไม่ต่ำกว่าเกินไปจนไม่สามารถส่ายทางข้างให้ครอบคลุมเขตการยิงได้ แต่ต้องเพียงพอสำหรับลดการปรากฏตัวของพลยิงขณะทำการยิง และลดความสูงของที่กำบังด้านหน้าลง

ค) หลังจากเตรียมแท่นวางปืนแล้ว ทำการขุดหลุมสำหรับบุคคลต่อไป โดยรวมมูนดินไว้ทางด้านหน้าก่อน หลุมต้องลึกพอที่จะป้องกันบุคคลได้ และพลยิงสามารถทำการยิงได้สะดวก โดยปกติจะลึกประมาณแนวระดับยืนกางแขนสองข้าง เมื่อเตรียมที่กำบังด้านหน้าได้ขนาดสูงและหนาพอแล้วทำการเตรียมที่กำบังด้านข้างและด้านหลังต่อไป

ง) หลุมดักลูกระเบิดขว้าง ควรขุดไว้หลาย ๆ จุดเพื่อพลประจำปืนสามารถใช้เท้าเขี่ยลูกระเบิดขว้างลงหลุมใดหลุมหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว

จ) ในกรณีที่ปืนกลไม่ได้รับมอบเขตการยิงรอง จะทำการขุดหลุมปืนกลเพียงครึ่งเดียว

ฉ) ที่กำบังเหนือศีรษะสำหรับหลุมปืนกล คงสร้างด้วยวิธีการเดียวกันกับหลุมบุคคลคู่

ช) หากเตรียมหลุมปืนกลในลักษณะหลุมบุคคลแบบสามคน พลกระสุน ๑ คน จะขุดหลุมบุคคลเดี่ยวอีก ๑ หลุม ทางปีกเพื่อให้สามารถยิงทางด้านหน้าและด้านเฉียง โดยปกติจะให้ยิงในแนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย หรือทิศทางยิงหลักและให้สามารถตรวจการณ์และยิงปืนเล็กไปยังเขตการยิงรองของปืนกล รวมทั้งให้มองเห็นพลยิงและพลยิงผู้ช่วยด้วย หลุมของพลกระสุนควรให้เชื่อมต่อกับหลุมปืนด้วยคูติดต่อ (ด้วยการคลาน)
๖) หลุมอาวุธต่อสู้รถถังนำวิถีดรากอน อาวุธต่อสู้รถถังนำวิถีดรากอนสามารถทำการตั้งยิงจากหลุมเร่งด่วนหรือประณีตก็ได้ (รูปที่ ๒ - ๕๓) อย่างไรก็ตามควรมีการปรับปรุงลักษณะของหลุมตามลักษณะเฉพาะของอาวุธดังนี้


ก) ทันทีที่ลูกจรวดพ้นจากเครื่องยิง ครีบการทรงตัวของลูกจรวดจะกางออก พลยิงต้องรักษาระดับแนวยิงให้สูงจากพื้นอย่างน้อย ๖ นิ้ว เพื่อให้ครีบพ้นพื้นความลึกของหลุมควรประมาณระดับเอว เพื่อให้พลยิงสามารถเคลื่อนไหวสะดวกขณะรักษาการเล็งตาม ณ เป้าหมาย

และเนื่องจากลำตัวของพลยิงพ้นจากปากหลุมสูงมาก ดังนั้นต้องทำที่กำบังด้านหน้าให้สูงกว่าระดับศีรษะของพลยิง และถ้าทำได้ให้สูงพอที่จะบังแสงจากเปลวเพลิงท้ายเครื่องยิงได้ด้วย ทางด้านหน้าของหลุมปืนให้ขุดหลุมสำหรับวางขาหยั่งเครื่องยิงด้วย

ข) ในกรณีที่จะสามารถทำการยิงได้เพียงทิศทางเดียว หลุมปืนต้องทำการปรับปรุงให้มีการกำบังและซ่อนพรางได้รอบทิศ

ค) หากจะทำการยิงเพียงทิศทางเดียว ควรยิงไปทางเฉียงเพื่อป้องกันหลุมปืนจากการถูกยิงด้านหน้า และเพื่อทำการยิงต่อเป้าหมายทางด้านข้าง ปลายทั้งสองข้างของเครื่องยิงจะต้องเลยพ้นขอบหลุมยิง

ง) ที่กำบังเหนือศีรษะควรสร้างไว้ทางข้างและกว้างพอสำหรับพลยิงเครื่องยิง และจรวด หากด้านหลังเครื่องยิงไม่มีสิ่งกีดขวางเปลวเพลิงจากท้ายเครื่องยิง อาจสร้างให้สูงพอที่จะทำการยิงใต้ที่กำบังได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีการซ่อนพรางที่ดี
จ) การเลือกและเตรียมหลุมสำรองเป็นงานที่เร่งด่วนสูง เนื่องจากอาวุธต่อสู้รถถังนำวิถีดรากอนเป็นอาวุธที่ถูกตรวจจับที่ตั้งยิงได้ง่าย ในการเตรียมหลุมสำรองควรเตรียมเส้นทางที่มีการกำบังไปยังหลุมดังกล่าวด้วย เพื่อให้พลยิงสามารถเคลื่อนที่ได้ภายใต้การยิง


อันตราย

เปลวเพลิงทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเครื่องยิง เป็นอันตรายสำหรับกำลังพลในการยิงจากหลุมปืนแบบประณีต ด้านหน้าสุดของเครื่องยิงต้องเลยขอบหน้าของหลุมออกไปไม่น้อยกว่า ๖ นิ้ว และท้ายสุดของเครื่องยิงต้องเลยขอบหลังของหลุมปืนด้วย

๗) หลุม ปรส. คงดัดแปลงคล้ายหลุมอาวุธต่อสู้รถถังนำวิถีดรากอน เพียงแต่มีขนาดกว้างกว่าเนื่องจากต้องใช้พลประจำ ๒ คนในการยิง และต้องเพิ่มความยาวของหลุมมากขึ้น หากต้องทำการยิงทางด้านขวาของที่กำบังด้านหน้า พลยิงผู้ช่วยสามารถเข้าประจำที่ทางด้านขวาของอาวุธ (รูปที่ ๒ - ๕๔) การเตรียมหลุมที่ตั้งยิงสำรองคงคล้ายกับอาวุธนำวิถีดรากอน
อันตราย


ในการใช้อาวุธต่อสู้รถถังขนาดเบาทั้งแบบครบนัดหรือเครื่องยิงถาวรยิงจากหลุมปืน จะต้องพิจารณาความปลอดภัยพื้นที่ด้านหลังของอาวุธโดยต้องไม่มีทหารหรือหลุมบุคคลอื่น ๆ อยู่ข้างหลัง รวมทั้งต้องไม่มีสิ่งใดที่ขวางอยู่ในระยะที่สามารถสะท้อนกลับเปลวเพลิงท้ายอาวุธมาเป็นอันตรายต่อพลยิงหรือพลกระสุน เช่น ต้นไม้ กำแพง เป็นต้น

๘) หลุมอาวุธต่อสู้รถถังขนาดเบาทั้งแบบครบนัดและแบบเครื่องยิงถาวร สามารถทำการยิงได้จากหลุมบุคคลทหารราบแบบต่าง ๆ หากทำการยิงจากหลุมบุคคลคู่ พลยิงจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีทหารอีกคนหนึ่งอยู่ข้างหลัง ด้านหน้าหลุมบุคคลควรมีพื้นที่วางศอกของพลยิง เพื่อให้อาวุธมีความมั่นคงและยิงได้แม่นยำในการยิงอาวุธต่อสู้รถถังขนาดเบา (LAW) หรืออาวุธ Flashพลยิงจะเอนตัวไปข้างหน้า ให้ลำตัวพิงกับด้านหน้าหรือด้านข้างของหลุม เพื่อให้การยิงมีความมั่นคงยิ่งขึ้น สำหรับการยิงอาวุธ AT-4 พลยิงจะเอนตัวพิงขอบหลุมด้านหลัง และข้อศอกจะไม่วางกับสิ่งใด (รูปที่ ๒ - ๕๕)

ฉ. คูติดต่อ กรณีที่มีเวลาหรือได้รับความช่วยเหลือ ควรทำการขุดคูติดต่อเพื่อเชื่อมโยงหลุมบุคคลต่าง ๆ ให้ทหารสามารถเคลื่อนที่ภายใต้การกำบัง ความลึกของคูติดต่อขึ้นอยู่กับชนิดของความช่วยเหลือที่ได้รับและเครื่องมือที่มีอยู่ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากทหารช่างสนาม ควรขุดคูติดต่อแบบคลาน (ลึกประมาณ ๓ ฟุต กว้าง ๒ ฟุต) แนวคูติดต่อควรเป็นเส้นหักเพื่อไม่ให้ข้าศึกสามารถยิงไปตามทางยาวตามแนวคูได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น