วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การกำหนดระดับของมาตรการป้องกัน นชค. ในภารกิจ

การกำหนดระดับของมาตรการป้องกัน นชค. ในภารกิจ


เมื่อสวมชุดและอุปกรณ์ป้องกัน นชค. ทหารจะได้รับการป้องกันอันตรายจากสารเคมีทุกชนิดที่มีใช้อยู่, สารชีวภาพ และพิษปนเปื้อนต่าง ๆ แต่ชุดและอุปกรณ์ป้องกัน นชค. ไม่สามารถป้องกันกัมมันตภาพรังสีระยะแรกจากอาวุธนิวเคลียร์ หรืออันตรายจากกัมมันตภาพรังสีตกค้าง ซึ่งเป็นพิษปนเปื้อนจากรังสีแกมมา และการตกธุลี แต่อย่างไรก็ตาม ชุดและอุปกรณ์ป้องกันจะลดอันตรายจากกัมมันตภาพรังสีได้บ้าง เนื่องจากการปกปิดร่างกายทุกส่วน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่อนุภาคเบต้าจะเข้ามาสัมผัสและเผาไหม้ผิวหนัง และลดโอกาสที่ผู้สวมใส่จะกลืนสารอนุภาคเบต้าเข้าไปทางปาก การปกปิดร่างกายลักษณะนี้ยังจะช่วยป้องกันการปนเปื้อนพิษธรรมดา แต่จำเป็นต้องใช้งบประมาณส่วนหนึ่งในการจัดหาชุดและอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าว ทหารที่สวมชุดอุปกรณ์ป้องกันจะไม่สามารถทำงานได้รวดเร็วหรือยาวนาน เนื่องจากจะได้รับผลจากจิตใจจากความอึดอัดและความร้อนอบอ้าวเหนื่อยล้าจากอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงและการตรากตรำทำงาน ดังนั้นเมื่อภัยคุกคามจาก นชค.ลดลง จึงน่าจะพิจารณาลดระดับการป้องกันลงเพื่อมิให้ส่งผลเสียต่ออำนาจกำลังรบ

ความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่าง ภัยคุกคาม, อุณหภูมิ และความเร่งด่วนของภารกิจ จึงก่อให้เกิดแนวความคิดในการกำหนดระดับของมาตรการป้องกัน นชค. ในภารกิจขึ้น ผู้บังคับหน่วยสามารถเพิ่มหรือลดระดับในการป้องกัน นชค. ได้ถึง ๕ ระดับ คือตั้งแต่ระดับศูนย์จนถึงระดับ ๔ นอกจากนี้ยังอาจเลือกใช้วิธีการป้องกันโดยใช้เพียงหน้ากากป้องกัน นชค. เท่านั้น การป้องกันจะเพิ่มระดับขึ้นจากระดับศูนย์ไปจนถึงระดับ ๔, แต่ก็อาจลดระดับลงได้อย่างสอดคล้องกับเหตุการณ์ เพราะฉะนั้น การเลือกใช้ระดับของมาตรการป้องกันซึ่งทำให้เกิดความสมดุล จึงจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณด้วย (รายละเอียดเพิ่มเติม ให้ศึกษาจาก รส.๓ – ๔)

ฉ – ๑ ระดับของมาตรการป้องกัน

ระดับของมาตรการป้องกันที่เป็นมาตรฐานนี้ ทำให้ผู้บังคับหน่วยสามารถเพิ่มหรือลดระดับของการป้องกันหน่วยได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้เนื่องจากความเป็นมาตรฐานเดียวกัน และทหารทั้งหมดมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี ผู้บังคับหน่วยจึงสั่งการให้เพิ่มหรือลดการป้องกันได้โดยไม่ต้องใช้คำอธิบายในรายละเอียด ทหารจะเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันดับแรกที่ใช้เวลาสวมมากที่สุด โดยมีผลรบกวนการปฏิบัติภารกิจน้อยที่สุด และจะสวมใส่อุปกรณ์ที่สวมได้เร็วที่สุด แต่มีผลรบกวนการปฏิบัติภารกิจมากที่สุดเป็นอันดับสุดท้าย ความอ่อนตัวดังกล่าวนี้จะทำให้ทหารสามารถตัดสินใจใช้อุปกรณ์ป้องกันได้ถูกต้องและเหมาะสม

ก. มาตรการป้องกันระดับศูนย์ ทหารจะนำหน้ากากป้องกันติดไปกับเข็มขัดสนามและสายโยงบ่า, รวมทั้งมีอุปกรณ์ป้องกันอยู่ในบริเวณที่พร้อมใช้งาน (นั่นคืออยู่ภายในพื้นที่ปฏิบัติงาน, บนยานพาหนะ, หลุมบุคคลที่มั่นตั้งรับ หรือบริเวณอื่น ๆ ใกล้เคียง) มาตรการป้องกันระดับศูนย์จะมีความเหมาะสมในกรณีที่เราทราบว่าข้าศึกมีขีดความสามารถในการใช้ นชค. แต่สงคราม นชค. ยังไม่เกิดขึ้น หรือในกรณีที่หน่วยทหารถูกส่งออกไปปฏิบัติการนอกพื้นที่ยุทธบริเวณ มาตรการป้องกันระดับศูนย์ทำให้ทหารยังไม่ต้องผูกพันกับภาระในการที่จะต้องนำพาหรือสวมใส่ชุดป้องกันและหน้ากาก แต่ก็ยังมีชุดอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ใกล้ ๆ พร้อมที่จะนำมาใช้งานได้เมื่อมีความจำเป็น ชุดคลุมป้องกันจะต้องคงอยู่ในซองปิดสนิทป้องกันความชื้น จนกว่าจะต้องการใช้งาน แต่ทหารจะต้องนำชุดชำระล้างพิษแบบ เอ็ม ๒๕๘ เอ ๑, กระดาษทดสอบแบบ เอ็ม ๘/เอ็ม ๙ และชุดเวชภัณฑ์ป้องกันสารทำลายประสาทติดตัวไปด้วย

ข. มาตรการป้องกันระดับ ๑ เมื่อใช้มาตรการป้องกันระดับ ๑ ทหารจะสวมชุดคลุมป้องกัน แต่ถ้าในสภาพภูมิอากาศร้อน ทหารก็อาจใช้ชุดคลุมป้องกันนี้สวมทับชุดชั้นใน โดยตรงโดยไม่ต้องสวมใส่เครื่องแบบเสื้อผ้าสนามก็ได้ และอาจเปิดอกเสื้อไว้เพื่อระบายอากาศ แต่จะต้องสวมกางเกงป้องกันให้มิดชิด ทหารจะติดกระดาษทดสอบสภาพ นชค. ไว้ที่เสื้อคลุมป้องกัน และใส่ผ้าคลุมป้องกันหมวกเหล็ก ทหารที่อยู่ในมาตรการป้องกันระดับ ๑ จะใช้เวลาปรับสภาพไปสู่มาตรการป้องกันระดับ ๔ เมื่ออยู่ในระหว่างครึ่งหนึ่งของการโจมตีจากเวลา ๘ นาที ถึง ๔ นาที

ค. มาตรการป้องกันระดับ ๒ เมื่อใช้มาตรการป้องกันระดับ ๒ ทหารจะสวมรองเท้าสูงครึ่งน่องสำหรับป้องกันสารเคมี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๓ ถึง ๔ นาทีในการสวมใส่, เมื่อทหารอยู่พร้อมในมาตรการป้องกันระดับ ๒ แล้ว จะสามารถปรับสภาพไปสู่มาตรการป้องกันระดับสูงกว่าได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที, ในสภาพอากาศร้อน ทหารอาจเปิดอกเสื้อไว้เพื่อการระบายอากาศ แต่จะต้องสวมกางเกงป้องกันให้มิดชิด

ง. มาตรการป้องกันระดับ ๓ ทหารจะสวมหน้ากากป้องกันและชุดคลุมศีรษะในมาตรการป้องกันระดับ ๓, ซึ่งทำให้การป้องกันอยู่ในสภาพเกือบจะสมบูรณ์ แต่จะเริ่มเกิดความไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน หน้ากากและชุดคลุมศีรษะจะทำให้การมองเห็นถูกจำกัดลง, ความร้อนและความเครียดจะเริ่มกลายเป็นปัจจัยสำคัญ และเริ่มเกิดความเสี่ยงกับโอกาสของการเป็นโรคลมแพ้ร้อน, ในสภาพอากาศร้อนทหารอาจจะเปิดอกเสื้อไว้เพื่อระบายอากาศ และม้วนชุดคลุมศีรษะขึ้นไปเพื่อระบายความร้อนได้ แต่สำหรับกางเกงป้องกันจะต้องถูกสวมใส่อย่างมิดชิด

จ. มาตรการป้องกันระดับ ๔ เมื่อใช้มาตรการป้องกันระดับ ๔ ทหารจะสวมถุงมือยางป้องกัน นชค. ซึ่งมีรองในเป็นผ้าฝ้าย และจะสวมชุดคลุมป้องกันทั้งเสื้อและกางเกงปิดร่างกายอย่างมิดชิด รวมทั้งใช้ชุดคลุมศีรษะด้วย เพื่อการป้องกันเต็มรูปแบบ มาตรการป้องกันระดับ ๔ จะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก

ฉ – ๒ การป้องกันโดยใช้หน้ากากป้องกันเพียงอย่างเดียว

คำเตือน

จงอย่าใช้หน้ากากป้องกันเพียงอย่างเดียว ในเมื่อพบว่าข้าศึกมีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง



ในสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนพิษ ทหารอาจไม่จำเป็นต้องสวมชุดคลุมป้องกันหรือใช้ถุงมือยางป้องกัน ถ้าหากทหารได้มีการป้องกันผิวหนังของตนเองจากสารที่เป็นของเหลวหรือสารพิษ (ที่สามารถซึมผ่านทางผิวหนัง) รถถัง, ยานเกราะ, รถบรรทุกบางชนิด และอาคารบางหลัง เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่สามารถป้องกันทหารจากสารปนเปื้อนพิษเหล่านั้นได้ ภายในที่กำลังเหล่านี้ทหารอาจเปิดเผยผิวหนังต่อสารที่เป็นไอระเหย แต่จะไม่แตะต้องกับสารเหลวที่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง การปฏิบัติงานโดยใช้การติดต่อด้วยอุปกรณ์ภายในรถที่มีการป้องกันอย่างดีดังกล่าวแล้วนั้น จะทำให้ทหารสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้การป้องกันตนเองเพียงการสวมหน้ากากป้องกัน นชค.

ก. ผู้บังคับหน่วยจะต้องใช้วิจารณญาณในการเปรียบเทียบระหว่างค่าของความเสี่ยงอันตรายในการใช้เพียงหน้ากากป้องกันกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงานของกำลังพล หากที่กำบังถูกเจาะหรือทำลายด้วยอาวุธยิงแล้ว ทหารที่อยู่ภายในนั้นอาจจะเปิดเผยตนเองต่อสารพิษที่อยู่ภายนอกที่ผ่านเข้ามา ในกรณีดังกล่าว ทหารจะได้รับการป้องกันชั่วขณะในระยะสั้น ๆ จากเสื้อผ้าเครื่องแบบสนามที่สวมใส่อยู่

ข. ทหารที่ป้องกันตนเองโดยใช้เพียงหน้ากากป้องกันนั้น จะต้องรีบใช้มาตรการป้องกันตนในระดับที่เหมาะสมทันทีก่อนที่จะออกจากที่กำบังซึ่งเป็นยานพาหนะหรือตัวอาคาร และเมื่อจะกลับเข้ามาในที่กำบังและใช้เพียงหน้ากากป้องกันนั้น ทหารจะต้องหลีกเลี่ยงการนำพาเอาสารพิษที่เป็นของเหลวหรือฝุ่นผงหรือของแข็งติดตัวเข้ามาภายในที่กำบัง คำสั่งใช้ระดับการป้องกันด้วยหน้ากากเพียงอย่างเดียวจะมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ดังต่อไปนี้.-

• ทหารที่อยู่ภายนอกนั้นอยู่ในมาตรการป้องกันระดับ ๓ หรือระดับ ๔ และการโจมตีด้วยอาวุธเคมี ยังไม่เกิดขึ้น

• ทหารที่อยู่ภายนอกนั้น อยู่ในมาตรการป้องกันระดับ ๔ และหน่วยอยู่ในทิศทางใต้ลมจากพื้นที่ที่มีไอพิษ

• เกิดการโจมตีด้วยอาวุธเคมี และได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไอพิษที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีสถานะของอันตรายอย่างยาวนานเหนือสิ่งอื่นใด การตกลงใจจะขึ้นอยู่กับผู้บังคับหน่วยว่าจะให้กำลังใช้การป้องกันด้วย

หน้ากากเพียงอย่างเดียวหรือจะใช้ชุดป้องกันสารที่เป็นของเหลว แต่อย่างไรก็ตาม การใช้หน้ากากป้องกันเพียงอย่างเดียว จะไม่มีความเหมาะสมเมื่อเกิดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง

ฉ – ๓ ความอ่อนตัวของระบบ

ระดับของมาตรการป้องกัน นชค.จะไม่เป็นระบบที่กำหนดเป็นการตายตัว ความอ่อนตัวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาซึ่งการให้การป้องกันที่มากที่สุด ด้วยอัตราการเสี่ยงที่น้อยที่สุด โดยยังเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติให้บรรลุความสำเร็จในภารกิจ ความอ่อนตัวจะทำให้ผู้บังคับหน่วยรองสามารถปรับความจำเป็นในการใช้ระดับของมาตรการป้องกัน ในแต่ละสถานการณ์โดยยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการรบ นอกจากนี้ผู้บังคับหน่วยยังสามารถกำหนดให้หน่วยทุกหน่วย หรือบางหน่วยอยู่ในระดับของมาตรการป้องกันที่แตกต่างกัน หรืออาจมอบอำนาจการสั่งปรับเปลี่ยนระดับของมาตรการป้องกันให้กับหน่วยรองได้

ก. ความรับผิดชอบในการกำหนดระดับของมาตรการป้องกัน เป็นความรับผิดชอบของผู้บังคับหน่วยระดับกองทัพน้อยหรือสูงกว่าในการสั่งการให้ใช้ระดับการป้องกันที่ต่ำที่สุด และกำหนดสั่งการให้ใช้ระดับการป้องกันที่สูงกว่าที่เหมาะสมกับภัยคุกคาม โดยจะต้องเฝ้าติดตามข่าวกรองทางยุทธวิธีและข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ที่อาจเป็นสิ่งบอกเหตุของความเป็นไปได้ในการใช้อาวุธ นชค. ผู้บังคับหน่วยดังกล่าวจะมีความรับผิดชอบเป็นอันดับแรกในการกำหนดระดับการป้องกันที่สูงขึ้น การสั่งการให้ใช้ระดับของมาตรการป้องกันจากระดับ ๒ ถึงระดับ ๔ เป็นความรับผิดชอบของผู้บัญชาการกองพลและผู้บังคับหน่วยรองลงไป แต่อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบสูงสุดจะยังคงอยู่ที่ผู้บังคับกองร้อย, ผู้บังคับหมวด หรือผู้บังคับหมู่ ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าหน่วยมีขีดความสามารถจะปฏิบัติ และไม่สามารถปฏิบัติในสิ่งใดได้บ้าง ผู้นำหน่วยจะสั่งให้เพิ่มหรือลดระดับของมาตรการป้องกันให้กับหน่วยก็ด้วยการใช้การวิเคราะห์สถานการณ์ และการใช้แนวทางของผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่า ความรับผิดชอบในขั้นตอนสุดท้ายต้องการความอ่อนตัวของระบบ ผู้นำหน่วยจะต้องไม่กำหนดระดับของมาตรการป้องกันให้ต่ำไปกว่าระดับต่ำที่สุดที่หน่วยเหนือกำหนด

ข. การแปรเปลี่ยนของระดับของมาตรการป้องกัน ความอ่อนตัวของข้อพิจารณาในการกำหนดใช้ระดับของมาตรการป้องกันจะทำให้เกิดความอ่อนตัวไปตามสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีความอ่อนตัวจะทำให้ประสิทธิภาพของการปฏิบัติลดลง ซึ่งผู้บังคับหน่วยจะต้องพิจารณาใคร่ครวญถึงความเสี่ยงอันตราย และโอกาสที่จะบรรลุความสำเร็จของภารกิจควบคู่กันไป แล้วตกลงใจสั่งการให้ใช้ระดับของมาตรการป้องกันที่เหมาะสม คำแนะนำเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณา

(๑) ทหารอาจเปิดอกเสื้อคลุมป้องกันเมื่อใช้มาตรการระดับ ๑, ระดับ ๒ หรือระดับ ๓ เพื่อให้สามารถระบายอากาศและความร้อนได้ดียิ่งขึ้น และอาจม้วนชุดคลุมศีรษะขึ้นไปข้างบน ในมาตรการระดับ ๓ ผู้บังคับหน่วยจะใช้การตกลงใจปรับเปลี่ยนระดับการป้องกันโดยใช้ ภัยคุกคาม, อุณหภูมิ และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของหน่วยเป็นหลัก

(๒) ทหารอาจสวมชุดคลุมป้องกัน ทับไปบนเครื่องแบบสนาม หรืออาจไม่สวมเครื่องแบบสนาม แต่ใช้ชุดคลุมป้องกันนี้สวมทับชุดชั้นในเลยก็ได้ ทั้งนี้จากการพิจารณาเรื่องอุณหภูมิและขีดความสามารถในการปฏิบัติและจำนวนงานประกอบกัน

(๓) ทหารจะต้องสวมถุงมือป้องกันในมาตรการระดับ ๑ จนถึงระดับ ๓ เมื่อจะต้องจับถือยุทโธปกรณ์ที่ปนเปื้อนพิษ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวนี้จะช่วยป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับสารพิษที่อาจซึมผ่านทางผิวหนัง

(๔) ในกรณีที่อันตรายเกิดจากผลของสารนิวเคลียร์ตกค้างเพียงทางเดียว ผู้บังคับหน่วยอาจประยุกต์ระดับของมาตรการป้องกัน นชค. โดยใช้ข้อพิจารณาจากการประเมินสถานการณ์ และความวิกฤติของภารกิจตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า ชุดอุปกรณ์ป้องกัน นชค. ไม่สามารถป้องกันรังสีแกมม่าได้ ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นข้อพิจารณาหลักที่ผู้บังคับหน่วยพึงตระหนักเป็นสำคัญ แต่เมื่อได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจะมีอันตรายจากกัมมันตภาพรังสีน้อยมาก ผู้บังคับหน่วยอาจตัดสินใจประยุกต์ระดับมาตรการป้องกันของหน่วย เพื่อให้เป็นไปตามความจำเป็นของภารกิจ ซึ่งจะทำให้กำลังพลในหน่วยลดความเครียดที่เกิดจากอุณหภูมิและความร้อนได้

(๕) ความเสี่ยงอันตราย จะหมายรวมถึง การถูกเผาไหม้จากอนุภาคเบต้า หรือการเข้าสู่ร่างกายของอนุภาคอัลฟ่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ยุ่งยากยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ การกำจัดอนุภาคที่เป็นกัมมันตภาพรังสีออกจากส่วนที่เป็นเส้นผมและขนของร่างกาย ทั้งนี้เนื่องจากการอาบน้ำชำระร่างกายอาจไม่ใช่กรรมวิธีที่ใช้ได้ผลเสมอไปในการชำระล้างพิษ วิธีการสุดท้ายที่น่าจะได้ผลมากที่สุดก็คือ การใช้ชุดชำระล้างแบบ เอ็ม ๒๕๘ เอ ๑ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นใดก็ตาม ผู้บังคับหน่วยจะต้องพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบ ทั้งด้านความเสี่ยงและความสำเร็จ

(๖) วิธีการหนึ่งซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้มาตรการป้องกันก็คือ การให้ทหารได้สวมชุดเสื้อผ้าที่เป็นรองในของชุดป้องกัน ซึ่งจะช่วยปกปิดร่างกายได้มากตามความจำเป็น ทหารสามารถใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากหรือใช้สิ่งอื่นที่สามารถป้องกันฝุ่นผงได้แทนที่จะใช้หน้ากากป้องกัน สิ่งแรกที่พึงตระหนักก็คือ การลดโอกาสและจำนวนของสารปนเปื้อนพิษ หรือสารกัมมันตภาพรังสีที่จะสัมผัสถูกผิวหนัง หรือการกลืนกินสารดังกล่าวเข้าไปในร่างกาย แต่ถ้าหากทหารสามารถปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วงได้โดยการสวมชุดป้องกัน นชค. เต็มรูปแบบ ทหารก็จะสามารถลดอันตรายจากการถูกเผาไหม้จากอนุภาคเบต้า และการเข้าสู่ร่างกายของอนุภาคอัลฟ่า และสามารถหลีกเลี่ยงการที่จะต้องดำเนินกรรมวิธีชำระล้างพิษอีกด้วย



ฉ – ๔ การวิเคราะห์ระดับของมาตรการป้องกัน

ผู้บังคับหน่วยทุกระดับต่างก็มีความรับผิดชอบในการวิเคราะห์ระดับของมาตรการป้องกันโดยใช้พื้นฐานจากสถานการณ์ ซึ่งการวิเคราะห์นี้จะทำให้ค้นพบความสมดุล และความพอเหมาะ ระหว่างการลดอัตราการเสี่ยงอันตราย และการบรรลุความสำเร็จของภารกิจ การใช้ระดับของมาตรการป้องกันจะต้องยอมรับเกณฑ์การเสี่ยง แต่หนทางที่เหมาะสมที่สุด ก็คือ การที่ผู้บังคับหน่วยจะต้องวิเคราะห์ปัจจัยในทุกด้านซึ่งจะเป็นการควบคุมความจำเป็นของการป้องกัน การลดอัตราการเสี่ยงและการเพิ่มโอกาสของความสำเร็จ ก่อนที่จะตัดสินใจลงไปนั้นผู้บังคับหน่วยจะต้องพิจารณาถึงปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อการวิเคราะห์ :

• ภารกิจคืออะไร?

• ปริมาณงานมีมากเพียงใด?

• จำเป็นต้องใช้เวลามากเพียงใดในการปฏิบัติงาน?

• หน่วยตกเป็นเป้าหมายหรือไม่?

• เวลาแจ้งเตือนคือเวลาใด?

• สภาพภูมิอากาศเป็นอย่างไร?

• สิ่งที่จะช่วยป้องกันเพิ่มเติมมีหรือไม่?

• ระดับของมาตรฐานการฝึก และสมรรถภาพร่างกายอยู่ในระดับใด?

• ขณะนั้นเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน?

ก. ภารกิจ หน่วยได้รับมอบภารกิจแบบใด? ภารกิจเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อระดับของการป้องกันที่ทหารแต่ละคนจำเป็นต้องใช้ ภารกิจมีความสำคัญเพียงใด และจำเป็นต้องใช้การเสี่ยงมากน้อยเพียงใด?

ข. ปริมาณงาน ในภารกิจมีความต้องการปริมาณงานมากน้อยเพียงใด? ปริมาณงานที่ต้องใช้แรงงานจะถูกแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ เบา, ปานกลาง และหนัก งานของเสมียนและผู้บริหารและกำลังพลที่ปฏิบัติงานบนยานพาหนะ เป็นตัวอย่างของการใช้แรงงานเบา การยกขนสิ่งอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ และการดัดแปลงที่มั่นตั้งรับ เป็นตัวอย่างของการใช้แรงงานปานกลาง การสู้รบ หรือการเดินทางไกลเป็นตัวอย่างของการใช้แรงงานหนัก ทหารที่ต้องใช้แรงงานหนักจะมีความเหนื่อยล้าเร็วกว่าทหารที่ใช้แรงงานเบากว่า ชุดอุปกรณ์ป้องกันจะลดประสิทธิภาพในการทำงานทุกประเภท และการลดประสิทธิภาพจะเป็นไปอย่างรุนแรงในกรณีที่จำเป็นต้องใช้แรงงานหนัก หรือปริมาณงานมาก

ค. เวลาที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงาน จำเป็นต้องใช้เวลามากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะปฏิบัติภารกิจให้บรรลุความสำเร็จ ภายใต้ระดับของมาตรการป้องกันที่แตกต่างกัน? ผู้บังคับหน่วยสามารถประมาณเวลาที่ต้องการเพื่อสำเร็จภารกิจ และจะใช้แนวทางในการประมาณเวลาที่ต้องการเมื่อกำลังพล อยู่ในมาตรการป้องกันระดับ ๔ จาก ผนวก ก ของ รส.๓ – ๔ ซึ่งจะมีตารางแสดงเวลาสำหรับหน่วยแต่ละแบบ แต่ขอให้ระลึกเสมอว่าตารางนั้นเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ส่วนประสบการณ์จะเป็นเครื่องมือกำหนดเวลาที่ใกล้เคียงมากกว่า สำหรับเวลาที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติภารกิจเมื่อกำลังพลอยู่ในมาตรการป้องกันระดับ ๓ นั้น จะน้อยกว่าเวลาที่จำเป็นต้องใช้ในมาตรการป้องกันระดับ ๔ เล็กน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากความร้อนจากร่างกายได้ถูกระบายออกมาทางชุดคลุมศีรษะและชุดคลุมป้องกันที่เปิดระบายอากาศและความร้อนในมาตรการป้องกันระดับ ๓ แต่อย่างไรก็ตาม ทหารยังคงปฏิบัติงานได้ไม่เหมือนปกติ จนกว่าจะได้ถอดชุดคลุมป้องกันและชุดคลุมศีรษะออก ชุดคลุมศีรษะและพื้นที่บริเวณหัวไหล่จะระบายความร้อนส่วนใหญ่จากร่างกายออกมาได้ หากความร้อนไม่ถูกระบายออกมาแล้ว ความร้อนดังกล่าวก็จะเพิ่มเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงาน มีข้อยกเว้นอยู่เพียงประการหนึ่ง ก็คือ ไม่มีเวลาที่กำหนดไว้แน่นอนว่าจะเพิ่มเท่าใดเมื่อกำลังพลต้องปฏิบัติงานโดยใช้มาตรการป้องกันระดับ ๑ และระดับ ๒ แต่สำหรับการเดินทางด้วยเท้าในมาตรการป้องกันระดับ ๒ นั้น ทหารจะเดินได้ช้าลงเนื่องจากรองเท้าป้องกันที่สวมทับชั้นนอก

ง. เป้าหมาย หน่วยจะมีโอกาสถูกโจมตีด้วยอาวุธ นชค. มากน้อยเพียงใด? คำตอบจะถูกพิจารณาค้นหาโดยใช้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้อาวุธ นชค. ประการแรก จะต้องพิจารณาที่ตั้งของหน่วยที่อยู่ในสนามรบ หน่วยอยู่ใกล้กับแนวหน้าหรือไม่? เครื่องยิงลูกระเบิดและปืนใหญ่สามารถใช้ทำการยิงกระสุนเคมีได้อย่างแม่นยำ และถ้าหาก ผตน. ของข้าศึกเข้ามาใกล้หน่วยได้มากเพียงใด การยิงของข้าศึกก็จะแม่นยำและทันเวลาได้มากขึ้นเท่านั้น หน่วยถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายอันดับแรกของพื้นที่ส่วนหลังหรือไม่? สารเคมีที่มีพิษในระยะยาวน่าจะถูกนำมาใช้ยิงเข้ามาในพื้นที่ส่วนหลังเพื่อรบกวนขัดขวางการปฏิบัติภารกิจสนับสนุนแนวหน้า แต่ถ้าหากหน่วยอยู่ในแนวทางการเคลื่อนที่ที่ข้าศึกน่าจะใช้เข้ามาแล้ว ข้าศึกก็น่าจะใช้สารเคมีที่มีพิษในระยะสั้น

จ. เวลาแจ้งเตือน เราจะสามารถแจ้งเตือนหน่วยล่วงหน้าถึงการถูกโจมตีด้วยอาวุธ นชค.ได้แน่เนิ่นเพียงใด? ผู้บังคับหน่วยจะต้องนำข่าวกรองที่มีอยู่มาพิจารณา ขศ. เคยได้ใช้อาวุธ นชค.มาก่อนหรือไม่? ขศ.ได้นำระบบอาวุธหรือกระสุนเข้ามาหรือไม่? ทิศทางลมและความเร็วลมทำให้หน่วยตกอยู่ในสภาพอยู่ใต้ลมหรือไม่? หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้บังคับหน่วยจะต้องพิจารณาจัดวางเครื่องมือแจ้งเตือนของหน่วยว่าจะวาง ณ ที่ใด บนพื้นดินและในทิศทางใดของกระแสลม? เครื่องมือแจ้งเตือนได้ถูกวางไว้ในตำแหน่งที่สามารถแจ้งเตือนหน่วยได้แต่เนิ่นที่สุดหรือไม่? หน่วยทหารข้างเคียงได้เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุหรือไม่?

ฉ. ลมฟ้าอากาศ สภาพเงื่อนไขของลมฟ้าอากาศเป็นอย่างไร และจะมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติภารกิจของหน่วยหรือไม่? อุณหภูมิสูงและความชื้นจะก่อให้เกิดความยากลำบากแก่ร่างกายในการระบายความร้อน และเรื่องนี้จะยิ่งยุ่งยากมากขึ้นเมื่อทหารจำเป็นต้องสวมชุดอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งจะช่วยเก็บกักความร้อนไว้ได้อย่างมากมาย ยิ่งความร้อนถูกเก็บไว้มากเท่าใด ทหารก็จะสามารถปฏิบัติงานได้น้อยชั่วโมงลงเท่านั้นโดยใช้การลดโอกาสเป็นโรคลมร้อน หรือโรคลมแพ้ร้อนเป็นข้อพิจารณาหลัก และเมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับจำนวนปริมาณงานที่ต้องปฏิบัติแล้ว หน่วยก็ยิ่งจำเป็นต้องมีการหยุดพักบ่อยขึ้น และใช้เวลายาวนานขึ้น ซึ่งจะทำให้การสำเร็จภารกิจต้องเนิ่นนานออกไป ความเร็วของกระแสลมอาจจะต้องถูกนำมาพิจารณาประกอบ ความเร็วของกระแสลมจะช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกาย และจะช่วยลดโอกาสที่ข้าศึกจะใช้สารเคมีได้อย่างมีประสิทธิผลเช่นกัน

ช. การเสริมเพิ่มเติมการป้องกัน จะเสริมการป้องกันได้อย่างไร? เครื่องกำบังป้องกันเหนือศีรษะในรูปลักษณะใดก็ตาม จะช่วยเสริมเพิ่มเติมการป้องกันได้ทั้งสิ้น ผู้บังคับหน่วยสามารถลดระดับของมาตรการป้องกัน นชค. ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วของกระแสลมและชนิดของที่กำบัง รวมทั้งการฟังความคิดเห็นเป็นส่วนรวม หากความเป็นไปได้ของสารพิษที่ซึมเข้าสู่ทางผิวหนังยังคงมีอยู่, ทหารก็ยังคงต้องสวมเครื่องป้องกันให้มากพอเพียงสำหรับภารกิจ และความยอมรับได้ในส่วนของขีดความสามารถที่จะลดลง

ซ. ความพร้อมของกำลังพลและหน่วย กำลังทหารได้รับการฝึกมาดีเพียงใด และสภาพร่างกายของทหารเป็นอย่างไร? ทหารที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดีจะไม่รู้สึกอึดอัดทรมานมาก กว่าทหารที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี จะมีความคุ้นเคยกับชุดอุปกรณ์ป้องกันและมีสุขภาพร่างกายที่ดีด้วย ดังนั้นจึงไม่อาจมองข้ามความสำคัญของการฝึกทหารให้ใช้ชุดอุปกรณ์ป้องกัน จนถึงระดับ ๔ เป็นจำนวนชั่วโมงที่พอเพียง ทั้งนี้เนื่องจากเราไม่อาจสรุปได้ว่าทหารจะมีขีดความสามารถในการสู้รบเต็มที่เมื่อสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันเต็มรูปแบบ หากไม่ได้รับการฝึกให้คุ้นเคยมาก่อน ทหารราบจะได้รับการฝึกใช้ ปลย.เอ็ม ๑๖ มาอย่างช่ำชองในขณะเดียวกันทหารราบเหล่านั้นก็ยังจะต้องได้รับการฝึกใช้อาวุธดังกล่าวในขณะที่สวมชุดอุปกรณ์ป้องกัน นชค.เพื่อที่จะได้เรียนรู้การปรับวิธีการใช้อาวุธให้เข้ากับชุดอุปกรณ์ป้องกันการฝึกภายใต้มาตรการป้องกัน นชค.ระดับสูงสุดจะช่วยให้ทหารได้เข้าใจถึงปัญหาที่พวกตนจะได้ประสบเมื่อจำเป็นต้องเข้าทำการสู้รบในขณะสวมชุดอุปกรณ์ ป้องกัน

ด. ช่วงเวลาระหว่างวัน เป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการใช้อาวุธเคมี ก็คือ ช่วงระหว่างเวลาย่ำค่ำ และเวลาเช้าตรู่ ขณะที่อุณหภูมิปกติและคงที่ในสภาพการณ์ดังกล่าว สารพิษจะลอยตัวต่ำใกล้พื้นดินและเคลื่อนที่ไปในแนวนอนตามทิศทางของกระแสลม แต่ในช่วงเวลาที่มีอุณหภูมิสูงในตอนกลางวัน สารพิษจะลอยตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้อยู่ในบริเวณเป้าหมายได้ไม่นาน และลดขีดความสามารถในการสร้างความสูญเสียลงไปด้วย

ต. การตกลงใจของผู้บังคับบัญชา ภายหลังจากที่ตอบคำถามดังกล่าวข้างต้นได้แล้ว ผู้บังคับหน่วยก็จะสามารถตกลงใจว่าจะใช้มาตรการป้องกันระดับใด เพื่อความจำเป็นที่จะบรรลุความสำเร็จของภารกิจ ทั้งนี้จะต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ สถานการณ์ดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการใช้ระบบของมาตรการป้องกัน นชค.ได้อย่างอ่อนตัว









“รายงานข่าวกรองมีสิ่งบอกเหตุ แสดงว่ากำลังของฝ่ายข้าศึกกำลังรุกคืบหน้าเข้ามาในพื้นที่ของกองทัพน้อย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าข้าศึกได้ลำเลียงอาวุธกระสุนเคมีจำนวนมากขึ้นมาข้างหน้าพร้อมกับหน่วยทหารปืนใหญ่ ในพื้นที่สนับสนุนของกำลังรบระลอกแรก แม่ทัพน้อยได้กำหนดให้หน่วยทุกหน่วยในพื้นที่ปฏิบัติการ ใช้มาตรการป้องกัน นชค.ระดับ ๑ ผู้บังคับการกองพลและผู้บังคับการกรมได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าภัยคุกคามด้วยอาวุธเคมีไม่ได้มีต่อหน่วยรองทุกหน่วยของตนในพื้นที่รับผิดชอบ จึงระบุให้หน่วยรองของตนใช้มาตรการป้องกันระดับ ๒”

“ผู้บังคับกองร้อยทหารราบ ใช้การวิเคราะห์ระดับของมาตรการป้องกัน นชค. และแนวทางจากผู้บังคับบัญชา พิจารณาแล้วเห็นว่าหน่วยของตนเป็นเป้าหมายอันดับแรก และจะต้องเตรียมที่มั่นสู้รบให้แล้วเสร็จก่อนที่กำลังของฝ่ายข้าศึกจะเคลื่อนที่เข้ามาถึงภายในอีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้า หน่วยได้มีการจัดวางเครื่องมือแจ้งเตือนการถูกโจมตีด้วยอาวุธเคมีไว้พร้อมปฏิบัติงาน ผู้บังคับหน่วยได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจะต้องกำหนดระดับของมาตรการป้องกัน นชค. และเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตี ครึ่งหนึ่งของกำลังพลในหน่วยใช้มาตรการป้องกันระดับ ๒ และดำเนินการเตรียมที่มั่นสู้รบต่อไป ส่วนที่เหลือใช้มาตรการป้องกันระดับ ๓ และจัดการระวังป้องกัน หากเกิดการโจมตีขึ้น ทหารที่อยู่ในมาตรการป้องกันระดับ ๒ จะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการปรับเปลี่ยนใช้มาตรการป้องกันระดับสูงขึ้นไป ในการปฏิบัติลักษณะนี้ผู้บังคับหน่วยได้ประยุกต์ใช้ระบบมาตรการป้องกันอย่างอ่อนตัว และจะสามารถสำเร็จภารกิจได้ภายในเวลาที่ต้องการ ด้วยเกณฑ์ของการเสี่ยงที่น้อยที่สุด”

ฉ – ๕ ปัญหาอื่น ๆ

ปัญหาอื่น ๆ มากมายจะเกิดขึ้นตามมาเมื่อหน่วยทหารถูกโจมตีด้วยอาวุธ นชค. ถึงแม้ว่าปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่สำคัญเท่ากับปัญหาที่ได้อธิบายมาแล้วในข้างต้น แต่ผู้บังคับหน่วยก็จะต้องพิจารณาเช่นกัน

ก. การบังคับบัญชา, ควบคุม และการติดต่อสื่อสาร ในสภาพการณ์ นขค.นั้นการบังคับบัญชา, ควบคุมและการติดต่อสื่อสารจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก การปฏิบัติตามระบบการบังคับบัญชาในขณะที่อยู่ในชุดอุปกรณ์ป้องกันนั้น จะปรากฏปัญหาซึ่งผู้บังคับหน่วยจะต้องพิจารณา ซึ่งได้แก่

• ความเครียดจากความร้อนทำให้กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่เหนื่อยล้าได้ง่าย

• Voicemitter จะทำให้เสียงฟังไม่ชัด ยากต่อการเข้าใจ

• ชุดหน้ากากแบบ เอ็ม ๑๗ ทำให้การติดต่อสื่อสารด้วยเสียงทางวิทยุและโทรศัพท์ด้อยลงทั้งด้านความดังและความชัดเจน

• ชุดคลุมศีรษะทำให้การได้ยินลดลง

• เลนส์ตาของหน้ากากทำให้ทัศนวิสัยแคบลง

เพื่อลดปัญหา และความยากลำบากดังกล่าวให้เหลือน้อยที่สุด, ผู้นำหน่วยอาจมอบความรับผิดชอบในการลดความเครียดอันเกิดจากการสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันให้มากขึ้นได้ รปจ.ของหน่วยต้องมีรายละเอียดในเรื่องคำแนะนำ เฉพาะโดยอยู่บนพื้นฐานอันมาจากภารกิจ ในขณะที่ใช้วิทยุ ผู้นำหน่วยจะต้องประกันความมั่นใจว่าปากพูดหูฟังอยู่ใกล้ติดกับ Voicemitter หากเป็นไปได้ทหารที่เป็นพลวิทยุควรสวมหน้ากากแบบ เอ็ม ๒๔/เอ็ม ๒๕ ที่ประกอบด้วยเครื่องขยายเสียง และใช้ระบบการติดต่อสื่อสารที่ติดตั้งบนยานพาหนะ เพื่อให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างชัดเจนถูกต้อง ทหารควรจะพูดให้ช้าลงกว่าปกติ และทวนคำสั่งทุกครั้ง หากมีเวลาเพียงพอ ผู้นำหน่วยจะต้องแจกจ่ายคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อประกันว่าคำสั่งจะเป็นที่เข้าใจอย่างถูกต้อง ทหารควรจะใช้การป้องกันในลักษณะต่าง ๆ แบบบูรณาการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดภาระในการใช้ชุดอุปกรณ์ป้องกัน

ข. การพิสูจน์ทราบบุคคล หนทางหนึ่งที่จะช่วยพิสูจน์ทราบตัวทหารแต่ละคนในขณะที่สวมชุดอุปกรณ์ป้องกัน ก็คือ การใช้แผ่นเทปปิดป้ายบอกยศและชื่อของทหาร ทหารจะติดเทปนี้บนถุงใส่หน้ากากและกระเป๋าของชุดคลุมป้องกัน หากทหารอยู่ในมาตรการป้องกันระดับศูนย์ ป้ายเทปนี้ก็จะถูกติดอยู่บนถุงใส่ชุดคลุมป้องกัน เมื่อนำชุดคลุมป้องกันมาสวมใส่แล้ว ทหารก็จะดึงป้ายเทปออกจากถุงและนำมาติดบนชุดคลุมป้องกันเพื่อเป็นการแสดงตน

ค. MIOSIS สารพิษจำนวนเล็กน้อยที่ซึมผ่านเยื่อนัยน์ตา ทำให้รูม่านตาไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ลักษณะนี้อาจเรียกได้ว่าการเกิด MIOSIS ทั้งนี้อาจหมายรวมถึงอาการ เจ็บปวด, ปวดศีรษะ หรือทั้งสองอย่างผสมกัน รูม่านตาจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งจะมีผลทำให้ลดความสามารถในการมองเห็นในเวลากลางคืน รวมทั้งประสิทธิภาพในการใช้เครื่องช่วยมองเห็นในเวลากลางคืน MIOSIS ย่อมจะลดประสิทธิภาพของการปฏิบัติกิจอื่น ๆ ในเวลากลางคืน เช่น การนำทิศทางในความมืด การค้นหาเป้าหมายและการยิงต่อเป้าหมาย, การขับยานพาหนะในสภาพที่ไม่มีแสงสว่าง และการบิน ซึ่งนักบินจำเป็นต้องใช้การเปลี่ยนระยะโฟกัสของตาบ่อยครั้ง MIOSIS จะเริ่มตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นรุนแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนปริมาณของสารพิษที่ซึมผ่านเข้าไป ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกปวดศีรษะเมื่อพบกับแสงสว่างจ้า MIOSIS อย่างรุนแรงและอาการของความสามารถในการมองเห็นในที่มืดสลัวจะคงอยู่เป็นเวลาประมาณ ๔๘ ชั่วโมง หลังจากได้รับพิษ รูม่านตาจะกลับคืนสู่สภาพปกติหลังจากนั้นโดยใช้เวลาหลายวัน อาจมากถึง ๒๐ วัน จึงจะเป็นปกติ การเปิดเผยตนเองต่อสารพิษดังกล่าวภายในห้วงระยะเวลา จะทำให้เกิดผลต่อเนื่องซ้ำ ผู้บังคับหน่วยจะต้องพิจารณาเลือกกำลังพลที่จะใช้ปฏิบัติภารกิจเป็นอิสระ ภายใต้ทัศนวิสัยจำกัด และเน้นย้ำแจ้งเตือนข้อควรระวังเพื่อหลีกเลี่ยงและลดโอกาสที่จะเกิด MIOSIS :

(๑) ให้กำลังพลในตำแหน่งหลักสวมหน้ากากป้องกันทันทีเมื่อใดก็ตามที่เกิดความเสี่ยงต่อสารพิษที่จะก่อให้เกิดอาการของ MIOSIS

(๒) ให้กำลังพลสวมหน้ากากป้องกันเมื่อต้องลงปฏิบัติงานใกล้พื้นดิน, ยุทโธปกรณ์ หรือกำลังพลคนอื่นที่เราได้ทราบแล้วว่าถูกปนเปื้อนด้วยสารพิษที่มีผลต่อประสาท

(๓) ภายหลังจากการชำระล้างพิษอย่างละเอียดหมดจดแล้ว (รส.๓ – ๕) กำลังพลจะต้องถูกเคลื่อนย้ายออกไปให้ห่างไกลจากยุทโธปกรณ์ โดยให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดจากสารพิษปนเปื้อนและถอดหน้ากากป้องกันออกชั่วระยะเวลาสั้น ๆ กำลังพลเหล่านั้นควรจะกระจายกันออกไปในที่โล่ง และใช้ระบบคู่บัดดี้ในการเฝ้าสังเกตดูอาการเกิด MIOSIS ที่น่าจะเป็น

(๔) ใช้การป้องกันแบบบูรณาการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ง. ผลกระทบทางด้านจิตวิทยา ผู้บังคับหน่วยจะต้องตื่นตัว และระมัดระวังผลกระทบทางด้านจิตวิทยา ซึ่งจะมีต่อทหารในขณะที่สวมชุดอุปกรณ์ป้องกัน

(๑) จากประวัติศาสตร์การรบ แสดงให้เห็นว่า ร้อยละ ๑๐ ของการสูญเสียในสนามรบนั้นเกิดจากสาเหตุที่ด้านจิตวิทยา ในสภาพแวดล้อมของ นชค. ร้อยละ ๒๕ ของการสูญเสีย อาจเป็นผลจากด้านจิตวิทยาล้วน ๆ อาการเจ็บป่วยอาจประกอบด้วย อาการกลัวความมืดและที่แคบ, อาการหวาดวิตก, อาการหวาดกลัวอย่างไม่มีเหตุผล, อาการงุนงง, อาการประสาทสัมผัสบกพร่อง, อาการประสาทหลอน, อาการสับสน และตื่นตระหนก

(๒) เราสามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยเหล่านี้ได้โดยการเสริมเพิ่มเติมการฝึกในสถานการณ์ นชค.ไว้อย่างต่อเนื่อง และให้การอบรมในเรื่องมาตรการการอยู่รอดในสภาพการณ์ของ นชค.ให้กับทหาร ในระหว่างยามสงบทหารควรจะได้รับการฝึกใช้ชุดอุปกรณ์ป้องกัน นชค. เต็มรูปแบบอย่างกว้างขวางและทันเหตุการณ์ ทั้งนี้จะทำให้ทหารเกิดความเชื่อมั่นในยุทโธปกรณ์ และยังช่วยทำให้สามารถสวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันได้อย่างรวดเร็วขึ้นภายในสภาวะตึงเครียด

จ. อาหารปนเปื้อนพิษ ขีดความสามารถในการรับประทานอาหารของทหารในสภาพแวดล้อมของ นชค. ขึ้นอยู่กับชนิดและการปนเปื้อนของสารพิษ ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนพิษและยังมีไอพิษล่องลอยอยู่ในอากาศ, ผู้นำหน่วยควรเคลื่อนย้ายหน่วยทหารเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ที่มีการป้องกันแบบบูรณาการ แต่เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวมักจะมีความจุค่อนข้างน้อย จึงควรให้แบ่งทหารออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หมุนเวียนกันใช้เป็นวงรอบ

(๑) ในพื้นที่ปนเปื้อนพิษ ซึ่งไม่มีการป้องกันแบบบูรณาการ, ผู้นำหน่วยสามารถเคลื่อนย้ายหน่วยเข้าไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่ใช้สำหรับการเลี้ยงดูกำลังพล โดยใช้การหมุนเวียนกำลังพลเป็นพวกหรือใช้การเลี้ยงดูทีละหน่วยตามลำดับก็ได้ การเลือกวิธีการหมุนเวียนจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์, ระยะทางจากพื้นที่ปลอดภัย และพื้นที่ที่ปราศจากสารพิษปนเปื้อน

(๒) หากหน่วยทหารอยู่ในพื้นที่ที่ปนเปื้อนพิษ โดยไม่มีไอพิษลอยอยู่ในอากาศ หรืออยู่ในพื้นที่ที่สะอาดแต่มีภัยคุกคามจากการโจมตีด้วย นชค. ผู้นำหน่วยสามารถใช้การเลี้ยงดูแบบ หมุนเวียนครั้งละ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ กำลังพลจะต้องดูแลระวังรักษาอาหารมิให้ถูกปนเปื้อนพิษ

ฉ. การส่งกำลังและบริหารน้ำ ร่างกายของมนุษย์จำเป็นต้องใช้น้ำในการหล่อเลี้ยงและระบายความร้อนในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง ทหารที่อยู่ในมาตรการป้องกันระดับ ๔ อาจสูญเสียน้ำมากกว่า ๑ ควอท ในแต่ละชั่วโมง ซึ่งจำเป็นต้องทดแทนการสูญเสียน้ำนี้อย่างต่อเนื่อง

(๑) ผู้นำทุกระดับหน่วย ควรจะใช้การประมาณการสูญเสียน้ำจากอัตราปริมาณงานและอุณหภูมิ ตัวอย่างเช่น ในปริมาณงานที่ต้องใช้แรงงานหนัก และอุณหภูมิต่ำกว่า ๘๐ องศาฟาเรนไฮต์ (๒๗ องศาเซลเซียส) การสูญเสียของน้ำควรจะเพิ่มขึ้นมาถึงหนึ่งควอทในทุกสองชั่วโมง มิฉะนั้นแล้วทหารจะรู้สึกทรมานด้วยอุณหภูมิที่ขึ้นสูงในร่างกายและอาการเต้นของหัวใจ, ขีดความสามารถและแรงจูงใจในการปฏิบัติจะลดลง และสุดท้ายก็จะพบกับอาการอ่อนเพลียจากความร้อนอย่างรุนแรง

(๒) ทหารในหน่วยที่มีหน้ากากป้องกันแบบ เอ็ม ๑๗ เอ ๑/เอ็ม ๑๗ เอ ๒ อยู่ในอัตราการจัด จะสามารถดื่มน้ำจากกระติกได้ในขณะที่สวมหน้ากาก หากท่อดื่มน้ำไม่สามารถใช้การได้ หรือหน้ากากไม่มีท่อดื่มน้ำ ทหารก็ควรจะใช้ระบบบัดดี้ และปฏิบัติตามรายละเอียดในเรื่องการบริโภคน้ำและอาหาร ใน รส.๓–๔, บทที่ ๕

(๓) ผู้นำหน่วยควรจะต้องจัดเตรียมการส่งกำลังเพิ่มเติมน้ำ โดยใช้ระบบกระติกเปล่าแลกกระติกเต็ม หากน้ำและกระติกเพิ่มเติมเริ่มขาดแคลน ก็จะต้องเตรียมนำเอามาตรการประหยัดน้ำ มาใช้ มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การลดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงาน หรือนำไปปฏิบัติเฉพาะในช่วงเช้าตรู่, เย็นค่ำ หรือในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีอุณหภูมิไม่สูงมาก และการสูญเสียเหงื่อค่อนข้างน้อย การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้ปริมาณน้ำที่ต้องนำเข้ามาทดแทนในร่างกายลดน้อยลง แต่ยังคงไว้ซึ่งขีดความสามารถและประสิทธิภาพ อีกทั้งลดเกณฑ์การเสี่ยงอันตรายจากความร้อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น