๒ - ๑๖ การระวังป้องกัน
ในการตั้งรับ หมวดปืนเล็กจะพยายามใช้การจู่โจมข้าศึก และจะเริ่มการปะทะในลักษณะขัดขวางแผนการปฏิบัติของข้าศึกแต่แรกเพื่อให้มาซึ่งการจู่โจม ทหารราบในแนวที่มั่นตั้งรับต้องไม่ถูกตรวจพบ หากข้าศึกรู้แนวตั้งรับข้าศึกอาจเคลื่อนที่อ้อมผ่าน หรือเข้าโจมตีด้วยกำลังที่มากกว่า หมวดปืนเล็กต้องซ่อนพรางที่ตั้งและความเคลื่อนไหวในการดัดแปลงที่มั่นด้วยเทคนิคการพราง และวินัยการใช้เสียง – แสง หมวดปืนเล็กต้องรับผิดชอบจัดการระวังป้องกันตนเองนับตั้งแต่จบการลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศของผู้บังคับหมวดจนกระทั่งถึงดำเนินการตั้งรับ โดยการลาดตระเวน จัดตั้งที่ตรวจการณ์ และกำหนดจำนวนกำลังพลที่เข้าประจำที่มั่นเร่งด่วน ในขณะที่กำลังส่วนใหญ่ดัดแปลงที่มั่นตั้งรับ (บทที่ ๓ จะกล่าวถึงรายละเอียดการลาดตระเวน ตอนที่ ๗ กล่าวถึงเทคนิคการจัดตั้งที่ตรวจการณ์ ส่วนเทคนิคการเข้าประจำที่มั่นเร่งด่วนขณะดัดแปลงภูมิประเทศเตรียมตั้งรับ อาจกำหนดไว้ใน รปจ. ของหน่วยก็ได้)
๒ - ๑๗ ที่บังคับการและการติดต่อสื่อสาร
ผู้บังคับหมวดจัดตั้งที่บังคับการ ณ จุดที่สามารถมองเห็นและควบคุมหมวดได้ดีที่สุด ผู้ตรวจการณ์หน้าและพลวิทยุ/โทรศัพท์อยู่ประจำ ณ ที่บังคับการด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถเห็นและควบคุมทั้งหมดจากจุดเดียว ผู้บังคับหมวดจะจัดตั้งที่บังคับการ ณ จุดที่สามารถเห็นและควบคุมการปฏิบัติหลักได้ และจัดตั้งที่บังคับการสำรองสำหรับให้รองผู้บังคับหมวดควบคุมส่วนที่เหลือของหมวด พลเสนารักษ์โดยปกติจะอยู่กับรองผู้บังคับหมวด ที่บังคับการสำรองอาจได้รับการดัดแปลงให้กว้างขวางพร้อมด้วยที่กำบังเหนือศีรษะสำหรับผู้ป่วยเจ็บ และเก็บกระสุนอัตรามูลฐานเพิ่มเติมจากที่ทหารนำติดตัว ที่รวบรวมเชลยศึก สิ่งอุปกรณ์พิเศษ เครื่องมือสร้างเครื่องกีดขวาง และที่รวบรวมศพ (ที่ซ่อนพรางแล้ว) โดยปกติก็จะตั้งอยู่ใกล้ ๆ ที่บังคับการสำรองด้วย การติดต่อสื่อสารจากที่บังคับการหมวดไปยังกองร้อยใช้โทรศัพท์ (หากมีใน อจย.) และวิทยุ จากที่บังคับการสำรองไปยังที่บังคับการหมวดใช้โทรศัพท์เป็นหลัก ภายในหมวดปืนเล็กมีข่ายการติดต่อสื่อสารของตนเองทั้งทางวิทยุและโทรศัพท์
๒ - ๑๘ การใช้อาวุธในการตั้งรับ
ความสำเร็จของการตั้งรับขึ้นอยู่กับการวางกำลังทหาร และระบบอาวุธต่าง ๆ การที่จะสามารถวางระบบอาวุธต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้บังคับหน่วยทุกระดับจะต้องทราบคุณลักษณะ ขีดความสามารถ และขีดจำกัดของอาวุธที่มีอยู่ ผลของลักษณะภูมิประเทศที่มีต่อระบบอาวุธและยุทธวิธีของข้าศึก ผู้บังคับหน่วยควรวางอาวุธยิงไว้ ณ บริเวณที่มีการป้องกันฝ่ายข้าศึกไม่สามารถตรวจการณ์เห็น และสามารถจู่โจมข้าศึกได้ด้วยการยิงที่แม่นยำและอำนาจการทำลายสูง ในการกำหนดที่ตั้งยิงผู้บังคับหมวดต้องรู้ก่อนว่าต้องการทำลายข้าศึก ณ บริเวณใด และต้องการผลการทำลายระดับใด นอกจากนี้ควรรู้ก่อนว่า กำลังหลักของข้าศึกจะเป็นยานเกราะหรือทหารราบเดินเท้า หากเป็นยานเกราะผู้บังคับหมวดต้องวางอาวุธต่อสู้รถถังตามเส้นทางที่คาดว่าข้าศึกน่าจะใช้มากที่สุดเป็นลำดับแรก หากเป็นทหารราบเดินเท้าต้องวางการยิงปืนกลตามแนวทางเคลื่อนที่ที่คาดว่าข้าศึกน่าจะใช้มากที่สุดเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตามผู้บังคับหมวดต้องพิจารณาทั้งสองทางและวางแผนวางอาวุธยิงครอบคลุมทั้งยานเกราะและทหารราบเดินเท้า โดยให้เป็นแผนเผชิญเหตุซึ่งกันและกันได้ ผู้บังคับหมู่วางอาวุธยิงอื่น ๆ ทั้งหมดเพื่อสนับสนุนอาวุธหลักเหล่านี้ โดยให้ครอบคลุมตำบลอับกระสุนและให้ความคุ้มครองอาวุธดังกล่าวเป็นต้น
ก. ปืนกล เป็นอาวุธหลักของหมวดปืนเล็กที่ใช้ยิงต่อทหารราบเดินเท้าของข้าศึก เป็นอาวุธที่มีความเร็วในการยิงสูงพร้อมด้วยความแม่นยำและอำนาจการทำลายรุนแรงพอที่จะสามารถหยุดการเข้าตีของข้าศึกได้ และสามารถกดดันต่อยานเกราะขนาดเบาทำให้พลประจำรถต้องปิดฝาป้อม และต้องปฏิบัติการในสภาพจำกัด ผู้บังคับหมวดวางการยิงปืนกลเพื่อ
- รวมการยิงไปยังบริเวณที่ต้องการสังหารข้าศึก
- ยิงผ่านหน้าแนวตั้งรับของหมวด
- คุ้มครองเครื่องกีดขวางด้วยการยิง
- ประสานการยิงกับหน่วยข้างเคียง
๑) คำจำกัดความที่เกี่ยวกับการใช้ปืนกลในการตั้งรับ
ก) การยิงกวาด หมายถึงการยิงซึ่งกึ่งกลางของกรวยกระสุนวิถีสูงจากพื้นดินไม่เกิน ๑ เมตร หรือประมาณระดับเอวคนยืน เมื่อทำการยิงเหนือพื้นซึ่งมีระดับเรียบ หรือเหนือพื้นที่ลาดซึ่งมีค่าความลาดสม่ำเสมอ จะสามารถยิงกวาดได้ถึงระยะ ๖๐๐ เมตร
ข) พื้นที่อับกระสุน หมายถึง พื้นที่ภายในระยะหวังผลสูงสุดของอาวุธ เครื่องมือเฝ้าตรวจ หรือผู้ตรวจการณ์หน้า ซึ่งไม่สามารถทำการยิง เฝ้าตรวจ หรือตรวจการณ์ได้จากตำบลใดตำบลหนึ่งซึ่งอาวุธ เครื่องมือตรวจการณ์ หรือผู้ตรวจการณ์หน้านั้น ๆ ตั้งอยู่ เนื่องจากมีสิ่งกีดขวาง ลักษณะพื้นดิน ลักษณะของกระสุนวิถี หรือขีดจำกัดในการเล็งของระบบอาวุธ เป็นต้น หมวดปืนเล็กวางการยิงให้ครอบคลุมพื้นที่อับกระสุนด้วยอาวุธยิงเล็งตรงอื่น ๆ M.203 อาวุธยิงเล็งจำลอง หรือเคลย์โมแบบกดระเบิดตามเหตุการณ์ ( Command – detonated Claymores ) นอกจากนี้ผู้บังคับหมวดควรสนธิแผนการยิงเข้ากับระบบเครื่องกีดขวาง (ทั้งลวดหนามและเคลย์โม) บริเวณพื้นที่อับกระสุน และอาจจัดตั้งที่ตรวจการณ์เพื่อเฝ้าตรวจพื้นที่อับกระสุนให้กับที่มั่นข้างเคียงด้วยก็ได้
ค) แนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย (final protective Line – FPL) หมายถึงแนวที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อการยิงสกัดการเข้าโจมตีของข้าศึก หากลักษณะภูมิประเทศอำนวย ผู้บังคับหมวดจะกำหนดให้ปืนกล ๑ กระบอก ทำการยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย ๑ แนว ทันทีที่นำปืนกลเข้าที่ตั้งยิงต้องทำการตรวจแนวยิง เพื่อหาพื้นที่อับกระสุน และพื้นที่ยิงกวาด โดยให้ทหาร ๑ คน เดินตามแนวยิงจากปากกระบอกปืนออกไปจนสุดระยะ (รูปที่ ๒ - ๓๔ )
ง) ทิศทางยิงหลัก (principle direction of fire PDF ) หมายถึงทิศทางที่มีลำดับความเร่งด่วนในการยิงสูง กำหนดให้ทำการยิงไปยังพื้นที่ซึ่งมีพื้นการยิงดี หรือไปยังแนวทางเคลื่อนที่ซึ่งคาดว่าข้าศึกน่าจะใช้ รวมทั้งให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยข้างเคียงด้วย หากไม่สามารถกำหนดแนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้ายได้ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศไม่อำนวย อาวุธจะวางการยิงตามแนวทิศทางยิงหลัก และในระหว่างที่ยังไม่มีเป้าหมายอื่นใดเกิดขึ้นนอกแนวทิศทางยิงหลักนี้อาวุธจะยังคงวางการยิงตามแนวนี้ตลอดเวลา
๒) ปืนกลแต่ละกระบอกจะได้รับมอบเขตการยิงหลักและเขตการยิงรอง ซึ่งเขตการยิงของแต่ละกระบอกต้องทาบทับกัน และทาบทับกับปืนกลของหมวดข้างเคียงด้วย พลยิงจะทำการยิงในเขตการยิงรองต่อเมื่อไม่มีเป้าหมายยิงในเขตการยิงหลักหรือเมื่อสั่งเท่านั่น ในการเขตการยิงหลักของปืนกลแต่ละกระบอกจะมีแนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย และทิศทางยิงหลักของปืนกลอยู่ในนั้นด้วย ปืนกลจะวางการยิงตามแนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย หรือทิศทางยิงหลักตลอดเวลา เว้นแต่จะต้องหันไปทำการยิงเป้าหมายอื่น เมื่อได้รับคำสั่งให้ยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้ายปืนกลต้องหันกลับมาอยู่ในแนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้ายหรือทิศทางยิงหลักทันที
ข. อาวุธต่อสู้รถถัง โดยปกติหมวดปืนเล็กจะใช้อาวุธต่อสู้รถถังขนาดกลาง หมวดปืนเล็กในหน่วยทหารราบบางหน่วยอาจมีอาวุธต่อสู้รถถังอยู่ในอัตรา และบางครั้งหมวดปืนเล็กอาจได้รับอาวุธต่อสู้รถถังซึ่งเป็นอาวุธต่อสู้รถถังขนาดหนักมาให้การสนับสนุน ในขั้นการวางแผนผู้บังคับหมวดพิจารณาภัยคุกคามจากยานยนต์ข้าศึก เพื่อวางการยิงอาวุธต่อสู้รถถังให้สามารถคุ้มครองแนวทางเคลื่อนที่ของยานยนต์ข้าศึก (รูปที่ ๒ - ๓๙) และพิจารณาพื้นการยิง ความเร็วของยานยนต์ และระยะยิงใกล้สุดของอาวุธต่อสู้รถถังแต่ละชนิดด้วย ผู้บังคับหมวดเลือกที่ตั้งยิงขั้นต้นและเขตการยิงให้กับอาวุธแต่ละชนิดรวมทั้งที่ตั้งยิงเพิ่มเติมด้วย ผู้บังคับหน่วยยิงของอาวุธเหล่านั้นจะเป็นผู้เลือกที่ตั้งยิงสำรอง ที่ตั้งยิงแต่ละแห่งควรกำหนดให้สามารถทำการยิงทางปีกได้ และให้มีการกำบังและซ่อนพรางด้วย ผู้บังคับหมวดอาจสนธิระบบตรวจการณ์จากกล้องเล็งตรวจจับด้วยรังสีความร้อนของอาวุธต่อสู้รถถังขนาดกลางกับแผนการตรวจการณ์ในห้วงทัศนวิสัยจำกัดก็ได้
ค. เครื่องยิงลูกระเบิด M.203 เป็นอาวุธวิถีโค้งของหมู่ปืนเล็ก ใช้สำหรับวางการยิงบริเวณพื้นที่อับกระสุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อับกระสุนของปืนกล และกำหนดเขตการยิงให้ทาบทับกับเขตการยิงของปืนเล็กด้วย กระสุน M.203 ชนิดระเบิดแรงสูง – สองความมุ่งหมาย (high – explosive, dual – purpose : HEDP) จะใช้ได้ผลดีมากสำหรับทำการยิงยานเกราะขนาดเบา เช่น BMP – 1 และ BTR เป็นต้น
ง. ปืนเล็กยาว ผู้บังคับหมู่กำหนดที่ตั้งยิงและเขตการยิงให้กับพลปืนเล็กแต่ละคนภายในหมู่ โดยปกติปืนเล็กยาวจะทำการยิงเพื่อสนับสนุนการยิงของปืนกลและอาวุธต่อสู้รถถัง คุ้มครองเครื่องกีดขวาง คุ้มครองช่องว่างระหว่างหน่วยข้างเคียง หรือเพื่อคุ้มครองการตรวจการณ์
๒ - ๑๙ แผ่นจดระยะ
แผ่นจดระยะ คือ แผ่นบันทึกข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการยิงเป้าหมายที่ทราบแล้วล่วงหน้าภายในเขตการยิงของอาวุธ ทั้งในระหว่างทัศนวิสัยดีและทัศนวิสัยจำกัด พลยิงอาวุธเล็งตรงทุกชนิดต้องเตรียมแผ่นจดระยะ จำนวน ๒ ชุด อยู่ที่ตั้งยิงอาวุธ ๑ ชุด และส่งให้ บก.หมวด อีก ๑ ชุด จัดเตรียมทั้งสำหรับที่ตั้งยิงขั้นต้น สำรอง และเพิ่มเติม โดยต้องรีบจัดทำทันทีที่นำอาวุธเข้าประจำที่ตั้งยิงไม่ว่าจะประจำอยู่ ณ ที่ตั้งยิงนั้น ๆ เป็นเวลานานหรือไม่ก็ตาม หรือจะเห็นว่าที่ตั้งยิงนั้น ๆ มีความสำคัญหรือไม่ก็ตาม การทำแผ่นจดระยะสำหรับอาวุธแต่ละชนิดจะยึดถือตามคู่มือการใช้ของอาวุธชนิดนั้น ๆ แผ่นจดระยะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ใช้บันทึกภาพร่างภายในเขตการยิงและส่วนที่ใช้บันทึกข้อมูล ตัวอย่างของแผ่นจดระยะที่มีการบันทึกเสร็จเรียบร้อยแล้วตามรูปที่ ๒ - ๔๐ เป็นแผ่นจดระยะของปืนกล และอาวุธต่อสู้รถถังดรากอน สำหรับคำแนะนำทั่วไปในการบันทึกแผ่นจดระยะเป็นไปตามหัวข้อดังต่อไปนี้
ก. ข้อมูลสำคัญที่ต้องบันทึกด้านบนของแผ่นจดระยะมีดังนี้
๑) หมู่ หมวด กองร้อยที่สังกัด
๒) แนวทิศเหนือแม่เหล็ก เนื่องจากแผ่นจดระยะจะวางอ้างอิงตามลักษณะภูมิประเทศ จึงควรแสดงแนวทิศเหนือแม่เหล็กกำกับไว้ด้วย
ข. ลากเส้นเขตการยิงของอาวุธลงในส่วนบันทึกภาพ (ด้านบน) วาดภาพที่เห็นในภูมิประเทศลงไปโดยไม่ต้องตรงตามมาตราส่วน แต่ต้องบันทึกข้อมูลกำกับให้ถูกต้อง
๑) วาดภาพสัญลักษณ์ของอาวุธลงตรงกลางของวงกลมวงเล็กสุด
๒) ลากเส้นเขตการยิงซ้ายสุดและขวาสุด โดยลากจากจุดในข้อ ๑) พร้อมกับกำหนดอักษร L และ R (มีวงกลมรอบตัวอักษรดังกล่าวด้วย) กำกับไว้ทั้งซ้ายและขวา
๓) วิธีกำหนดระยะให้กับเส้นรอบวงแต่ละเส้นนั้น ทำได้โดยใช้ลักษณะภูมิประเทศที่อยู่ไกลจากที่ตั้งยิงมากที่สุดเป็นหลักแต่ต้องอยู่ในระยะที่อาวุธยิงถึงได้ หลังจากนั้นกะระยะจากที่ตั้งยิงไปยังจุดนั้นแล้วใช้เส้นรอบวงแบ่งระยะออกเป็นส่วน ๆ ในกรณีที่มีความจำเป็นอาจแบ่งระยะดังกล่าวนี้ออกเป็นถึง ๑๐๐ ส่วนก็ได้ จำนวนเส้นรอบวงก็คือ ระยะย่อยที่แบ่งระยะทางออกเป็นส่วนๆ แต่ละวงจะแทนระยะต่างๆ จากที่ตั้งยิงออกไปต่อจากนั้นก็สามารถเขียนภาพภูมิประเทศต่างๆ ที่เห็นลงไปในแผ่นจดระยะตามระยะที่กะได้จริง โดยเขียนลงตรงเส้นรอบวงที่มีระยะตามนั้น
๔) บันทึกจุดอ้างอิงเป้าหมาย ( target reference points TRPs ) ลงในเขตการยิง โดยกำหนดหมายเลขให้พร้อม เขียนวงกลมล้อมรอบหมายเลข TRP เหล่านั้นไว้ด้วย
๕) ลงขอบเขตแสดงพื้นที่อับกระสุนภายในเขตการยิง
๖) สำหรับอาวุธต่อสู้รถถัง ลากเส้นแนวและระยะยิงไกลสุดด้วย
๗) จุดแสดงที่ตั้งยิงอาวุธ จะกำหนดหมายเลขเป็นลำดับสุดท้าย การระบุที่ตั้งจะระบุด้วยเลขพิกัด ๖ หลัก แต่หากไม่มีลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดที่สามารถอ้างอิงได้ ให้ระบุที่ตั้งด้วยเลขพิกัด ๘ หลัก
ค. ส่วนบันทึกข้อมูล มีวิธีการบันทึกดังนี้
๑) ระบุประเภทของที่ตั้งยิง โดยให้ระบุว่าเป็นที่ตั้งยิงหลัก รอง หรือเพิ่มเติม
๒) วัน ให้ระบุวัน และเวลาที่บันทึกแผ่นจดระยะแล้วเสร็จ
๓) อาวุธ ระบุชนิดอาวุธที่จะใช้ยิง
๔) แต่ละเส้นรอบวง มีระยะห่างกันเท่าไหร่ ให้ระบุหน่วยเป็นเมตร
๕) ลำดับ เริ่มต้นจากเขตการยิงซ้ายสุด ขวาสุด จุดอ้างอิงเป้าหมายและจุดอ้างต่าง ๆ เรียงตามหมายเลขที่กำกับจุดเหล่านั้นอยู่
๖) ทิศทางยิง/ ความเบี่ยงเบน ( direction / deflection ) ทิศทางให้ระบุเป็นองศา ความเบี่ยงเบนให้ระบุเป็นมิลเลียม
๗) ความสูงต่าง ๆ ระบุเป็นมิลเลียม
๘) ระยะทาง ระบุเป็นเมตรจากที่ตั้งยิงไปยังเขตการยิงทางซ้าย ขวา จุดอ้างอิงเป้าหมาย และจุดอ้างต่าง ๆ
๙) กระสุน ระบุชนิดกระสุนที่จะใช้
๑๐) ลักษณะเป้าหมาย ระบุรายละเอียดของเป้าหมาย เช่น เพิงพัก พุ่มไม้ ยอดเนิน เป็นต้น
๑๑) หมายเหตุ จุดอ้างอิงที่ตั้งอาวุธ (weapon reference point) และข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ที่เพิ่มเติมจะบันทึกลงในช่องนี้
๒ - ๒๐ ประเภทของที่มั่นตั้งรับ
ที่มั่นตั้งรับแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ที่มั่นหลัก ที่มั่นสำรอง และที่มั่นเพิ่มเติม ทุกที่มั่นควรมีการตรวจการณ์ และพื้นการยิงครอบคลุมเขตรับผิดชอบของอาวุธหรือของหมวด ควรเป็นที่ที่สามารถแสวงความได้เปรียบจากลักษณะภูมิประเทศตามธรรมชาติในการกำบังและซ่อนพราง ตั้งแต่ทหารยังไม่ได้เริ่มลงมือทำการพราง ทหารแต่ละคนสามารถเพิ่มความได้เปรียบในการเตรียมที่มั่นได้ด้วยการใช้เส้นทางที่มีการกำบัง ปกปิด การติดต่อสื่อสาร และซ่อนพรางหลุมบุคคลด้วยการใช้ควัน หรือด้วยการวางแผนและซักซ้อมการเปลี่ยนย้ายที่มั่นตั้งรับแห่งใหม่ด้วยการยิงและการดำเนินกลยุทธ์
ก. ที่มั่นตั้งรับหลัก คือ ที่มั่นซึ่งทหารแต่ละคน พลประจำปืน หรือทั้งหน่วยจะใช้ปฏิบัติการตั้งรับให้บรรลุภารกิจได้ดีที่สุด
ข. ที่มั่นสำรอง หมายถึง ที่มั่นซึ่งทหารแต่ละคน พลประจำปืน หรือทั้งหน่วยสามารถทำการตั้งรับได้ครอบคลุมเขตรับผิดชอบเดิมเหมือนที่มั่นตั้งรับหลัก ที่มั่นสำรองจะใช้เมื่อต้องการพักกำลังพล และ/หรือ เพื่อการปรนนิบัติบำรุง สป. หรือเพื่อเพิ่มปัจจัยการจู่โจมในการตั้งรับ
ค. ที่มั่นเพิ่มเติม หมายถึงที่มั่นที่ดีที่สุดต่อการบรรลุภารกิจ ซึ่งจะไม่สามารถกระทำได้จากที่มั่นหลัก หรือที่มั่นสำรอง โดยปกติผู้บังคับหมวดจะกำหนดที่มั่นเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองแนวทางเคลื่อนที่อื่น และเพื่อคุ้มครองปีก และด้านหลังของหมวด
๒ - ๒๑ ที่มั่นตั้งรับของหมู่ปืนเล็ก
โดยทั่วไปแล้ว หมู่ปืนเล็กสามารถวางกำลังตั้งรับได้กว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร และจากที่มั่นดังกล่าวนี้จะสามารถรับผิดชอบกว้างด้านหน้าได้ประมาณ ๒๐๐ ถึง ๒๕๐ เมตร ระยะห่างระหว่างหลุมบุคคลควรจะประมาณ ๒๐ เมตร (เพื่อชดเชยความคลาดเคลื่อนจากปัจจัยต่าง ๆ ของภูมิประเทศควรกำหนดระยะที่แน่นอนจริง ๆ บนพื้นดินด้วยการวัดให้ห่าง ๒๕ เมตร) แต่ละที่มั่นควรได้รับการคุ้มครองด้วยการตรวจการณ์และการยิงจากที่มั่นอื่น ๆ อย่างน้อย ๒ ที่มั่น สำหรับหลุมบุคคลเดี่ยวควรลดระยะห่างระหว่างหลุมลงมาเท่าที่ทั้งหมู่ยังคงรับผิดชอบกว้างด้านหน้าเท่ากับหลุมบุคคลคู่ อย่างไรก็ตามระยะห่างระหว่างที่มั่นภายในหมู่ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ปัจจัย METT – T ของผู้บังคับหมู่ ข้อพิจารณาระยะห่างระหว่างที่มั่นภายในหมู่มีดังนี้
ก. ความกว้างเขตการตั้งรับของหมู่ ซึ่งจำเป็นต้องวางการยิงให้ครอบคลุม
ข. การระวังป้องกัน การแทรกซึมของข้าศึกสู่แนวตั้งรับ
ค. การป้องกันอันตรายจากลูกระเบิดขว้างของข้าศึก หากข้าศึกสามารถเข้ายึดหลุมบุคคลข้างเคียงได้
๒ - ๒๒ ที่มั่นตั้งรับของหมวด
ผู้บังคับหมวดกำหนดที่ตั้งยิงหลัก รวมทั้งเขตการยิงหลักให้กับปืนกลและอาวุธต่อสู้รถถัง และต้องตรวจแนวยิงของอาวุธดังกล่าวด้วยตนเองด้วย กับต้องกำหนดที่มั่นตั้งรับหลักและเขตการยิงหลักให้กับหมู่ปืนเล็กด้วย โดยปกติผู้บังคับหมู่จะกำหนดที่มั่นสำรองของหมู่แต่ต้องให้ผู้บังคับหมวดอนุมัติก่อน ที่มั่นของหมู่ต้องสามารถยิงได้ครอบคลุมเขตการยิงของหมู่และให้ทาบทับกับเขตการยิงของหมู่ข้างเคียงด้วย หมู่ที่อยู่ทางปีกต้องวางการยิงให้ทาบทับกับหมวดข้างเคียงด้วย ผู้บังคับหมวดจะกำหนดที่มั่นเพิ่มเติมด้วยหากจำเป็น หรืออาจวางกำลังที่มั่นหมู่ปืนเล็กในทางลึกด้วย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้มากยิ่งขึ้น
๒ - ๒๓ ภาพสังเขปเขตการตั้งรับ ( sector sketch )
ผู้บังคับหน่วยทุกระดับต้องจัดทำภาพสังเขปเขตรับผิดชอบในการตั้งรับตามแผนการตั้งรับของตน สำหรับอาวุธประจำหน่วยจะใช้ภาพสังเขปจากแผ่นจดระยะพลยิงอาวุธนั้นๆ เป็นผู้จัดทำ)
ก. ภาพสังเขปเขตการตั้งรับของหมู่ ผู้บังคับหมู่จัดทำภาพสังเขปเพื่อช่วยในการวางแผนตั้งรับและควบคุมการยิง (รูปที่ ๒ - ๔๒) โดยจัดทำจำนวน ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งส่งให้ผู้บังคับหมวดอีกฉบับหนึ่งเก็บไว้กับตัวเอง ควรจะกำหนดไว้ใน รปจ.ว่า จะให้ส่งภาพสังเขปนี้เมื่อไหร่หลังจากที่เข้าประจำที่มั่นแล้ว ภาพสังเขปควรแสดงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
๑) นามหน่วย หมู่ และหมวด
๒) ตัวเลข หมู่วัน/เวลา
๓) แนวทิศเหนือแม่เหล็ก
๔) ลักษณะภูมิประเทศสำคัญภายในเขตและระยะทาง
๕) ที่มั่นตั้งรับหลักแต่ละแห่ง
๖) ที่มั่นสำรอง และที่มั่นเพิ่มเติม
๗) เขตการยิงหลัก และเขตการยิงรองของแต่ละที่มั่น
๘) แนวแสดงระยะยิงไกลสุด
๙) แนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้ายหรือทิศทางยิงหลักของปืนกล
๑๐) ที่ตั้งยิงอาวุธต่อสู้รถถังและเขตการยิง
๑๑) ชนิดของอาวุธในแต่ละที่มั่น
๑๒) ที่ตรวจการณ์และที่มั่นของผู้บังคับหมู่
๑๓) พื้นที่อับกระสุน และตำบลยิงของ M.203
๑๔) ที่ตั้งของเครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืน
๑๕) ที่ตั้งของเครื่องกีดขวาง ทุ่นระเบิด และทุ่นระเบิดแสวงเครื่อง
ข. ภาพสังเขปเขตการตั้งรับของหมวด ผู้บังคับหมวดตรวจสอบแผ่นจดระยะและภาพสังเขปเขตการตั้งรับของหมู่ หากตรวจพบช่องว่างหรือข้อผิดพลาดในแผนการยิง จะต้องปรับที่ตั้งอาวุธหรือเขตการตั้งรับตามความจำเป็น หากพบพื้นที่อับกระสุนต้องทำการคุ้มครองด้วยทุ่นระเบิด M.203 หรืออาวุธวิถีโค้ง ผู้บังคับหมวดจัดทำภาพสังเขป ๒ ฉบับ ส่งให้ผู้บังคับกองร้อย ๑ ฉบับ และเก็บไว้ใช้ ๑ ฉบับ (รูปที่ ๒ - ๔๓) ภาพสังเขปของหมวด แสดงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
๑) เขตการยิงของหมู่
๒) ที่ตั้งยิงและเขตการยิงของปืนกล และอาวุธต่อสู้รถถัง พร้อมด้วยแนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย และทิศทางยิงหลักของอาวุธอัตโนมัติ ปืนกล และจุดอ้างเป้าหมายสำหรับอาวุธต่อสู้รถถัง
๓) เส้นแสดงระยะยิงไกลสุดของอาวุธต่อสู้รถถัง
๔) ทุ่นระเบิด เคลย์โม และเครื่องกีดขวาง
๕) แผนการยิงอาวุธเล็งจำลองภายในเขตตั้งรับของหมวด (ตำบลยิงและฉากการยิงป้องกันขั้นสุดท้าย)
๖) ที่ตรวจการณ์ และเส้นทางลาดตระเวน (ถ้ามี)
๗) ที่บังคับการหมวด
๘) นามหน่วย หมวด และกองร้อย
๙) ตัวเลข หมู่วัน/เวลา
๑๐) แนวทิศเหนือแม่เหล็ก
๑๑) ตำบลรวบรวมผู้บาดเจ็บ
๑๒) ที่ตั้งเครื่องมือตรวจการณ์เวลากลางคืน/กล้องตรวจการณ์ด้วยรังสีความร้อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการระวังป้องกันในห้วงทัศนวิสัยจำกัด
๑๓) แผนปรับการวางกำลังในห้วงทัศนวิสัยจำกัด เพื่อให้ยังคงสามารถทำการยิงครอบคลุมตำบลต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ
๒ - ๒๔ มาตรการควบคุมการยิง
โดยปกติแล้วอาวุธต่อสู้รถถังทุกชนิด (เว้นอาวุธต่อสู้รถถังขนาดเบา LAW) จะวางแผนการใช้ในระดับกองพัน ผู้บังคับหน่วยเพียงคนเดียว (คนใดคนหนึ่ง) จะควบคุมการยิงของอาวุธต่อสู้รถถัง ๒ ลักษณะคือ อาวุธทุกชนิดยิงจากที่ตั้งยิงบริเวณเดียวกันหรืออาวุธทุกชนิดยิงไปยังเป้าหมายในพื้นที่เดียวกัน ผู้บังคับหมวดควบคุมการยิงปืนกล ส่วนผู้บังคับหมู่และหัวหน้าชุดยิงจะควบคุมการยิงอาวุธอัตโนมัติ (ปืนเล็กกล ) M.203 และปืนเล็กยาว ผู้บังคับหมวดและผู้บังคับหมู่จะใช้มาตรการควบคุมการยิงดังต่อไปนี้เพื่อรวมและกระจายอำนาจการยิงของหน่วย
ก. เขตการยิง ใช้เพื่อมอบความรับผิดชอบ และเพื่อให้อาวุธต่าง ๆ วางการยิงให้ครอบคลุมกว้างด้านหน้าของหมวดและหมู่ เขตการยิงควรกำหนดให้ทาบทับกับหน่วยข้างเคียงด้วย
ข. พื้นที่เตรียมทำลาย ( engagement area ) ใช้เพื่อรวมอำนาจการยิงอาวุธชนิดต่างๆ ไปยังพื้นที่นั้น เมื่อต้องการสังหารข้าศึกเป็นหลัก ในการซุ่มโจมตีพื้นที่นี้เรียกว่า พื้นที่สังหาร ( kill zone )
ค. ประเภทของการยิง ( fire patterns ) ประกอบด้วย การยิงตรงหน้า ( front ) ทางข้าง ( cross ) และทางลึก ( depth ) เป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างอาวุธที่ยิงกับเป้าหมายยิง ความมุ่งหมายเพื่อป้องกันความสิ้นเปลืองกระสุน จากการยิงเป้าหมายซ้ำซ้อน แต่ในขณะเดียวกันอาจมีบางเป้าหมายไม่ถูกยิง
ง. ลำดับความเร่งด่วนในการยิง เป็นการจัดความเร่งด่วนในการยิงต่อเป้าหมายสำคัญ เช่น ผู้บังคับหน่วย พลวิทยุ พลประจำปืน ช่าง เป็นต้น มีตัวอย่างดังนี้
๑) พลยิงอาวุธต่อสู้รถถังขนาดกลาง (MAW) ทำการยิง
ก) ยานเกราะข้าศึกที่เป็นอันตรายมากที่สุด
ข) ยานเกราะข้าศึกในพื้นที่เตรียมทำลายหรือภายในเขตการยิงหลัก
ค) ยานเกราะข้าศึกภายในเขตการยิงรอง
ง) ยานเกราะข้าศึกในระยะ ๒๐๐ เมตร ขึ้นไป
๒) ปืนกลทำการยิง
ก) แนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย หรือทิศทางยิงหลักเมื่อให้สัญญาณ
ข) ทหารราบเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป ภายในเขตการยิงหลัก (จากไกลสุดมาหาใกล้สุด)
ค) พลประจำอาวุธยิงอัตโนมัติ
ง) ทหารราบเป็นกลุ่มก้อน ๕ คนขึ้นไป ภายในเขตการยิงรอง
จ) ยานยนต์ธรรมดาของข้าศึก
๓) พลยิงปืนเล็กกล ทำการยิง
ก) ตามแนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย เมื่อให้สัญญาณ
ข) ทหารราบเป็นกลุ่มก้อน ๕ คนขึ้นไป ภายในเขตการยิงหลัก (จากใกล้สุดไปหาไกลสุด)
ค) ทหารราบเป็นบุคคลภายในเขตการยิงหลัก
๔) พลยิง M.203 ทำการยิง
ก) ยานเกราะขนาดเบาทุกคันในเขตการยิงหลัก
ข) ทหารราบเป็นกลุ่มก้อน ๓ คนขึ้นไปในเขตการยิงหลัก
ค) ทหารราบเป็นกลุ่มก้อน ๓ คนขึ้นไปในเขตการยิงรอง
ง) ทหารราบเป็นบุคคลในเขตการยิงหลักที่ใช้ ปลย. M.16
จ) พื้นที่อับกระสุนในเขตการยิงหลัก (ขณะข้าศึกอยู่บริเวณนั้น )
ฉ) ที่หมายอื่น ๆ ตามคำสั่งของผู้บังคับหมู่หรือหัวหน้าชุดยิง (เช่น กระสุนส่องแสง และควัน)
๕) พลปืนเล็ก ทำการยิง
ก) ในเขตการยิงหลักและรองของตน
ข) ยิงจากใกล้สุดไปยังไกลสุด จากปีกมายังย่านกลาง
ค) ผู้บังคับหน่วยฝ่ายข้าศึก
ง) พลวิทยุ
จ) ทหารราบเป็นบุคคล
๖) พลยิงอาวุธต่อสู้รถถังขนาดเบา ทำการยิง
ก) ข้าศึกที่เข้ามาสองคนพร้อม ๆ กัน ในทิศทางไปยังผู้บังคับหมู่ หรือหัวหน้าชุดยิง
ข) ยานยนต์ที่ใกล้เข้ามา และเริ่มเป็นอันตรายต่อฝ่ายเรา
จ. อัตราเร็วในการยิง ระบบอาวุธบางชนิดมีกำหนดอัตราเร็วในการยิงไว้ในคู่มือราชการสนาม แต่บางชนิดไม่มีจึงควรยึดถือตามหลักนิยมให้มากที่สุด และควรกำหนดไว้ใน รปจ. ด้วย
๒ - ๒๕ ลำดับความเร่งด่วนของงาน
ลำดับความเร่งด่วนของงาน หมายถึง รายการของกิจต่าง ๆ (list of tasks ) ซึ่งผู้บังคับหมวดใช้เพื่อการควบคุมหมวด เพื่อให้ทราบว่ากิจใดเป็นของผู้ใด/ หน่วยใดต้องทำ และต้องทำอะไรก่อน – หลัง ตลอดห้วงการเตรียมการตั้งรับของหมวด ปกติแล้วจะกำหนดไว้ใน รปจ. ตัวอย่างลำดับความเร่งด่วนของงานในการเตรียมที่มั่นตั้งรับอยู่ในบทที่ ๕ ผู้บังคับหมวดปรับเปลี่ยนลำดับความเร่งด่วนของงานได้ตามความจำเป็นขึ้นอยู่กับปัจจัย METT – Tและเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา โดยปกติแล้วลำดับความเร่งด่วนของงานสำหรับหมวดปืนเล็ก ประกอบด้วย
ก. จัดส่วนระวังป้องกันเฉพาะบริเวณ
ข. กำหนดที่ตั้งยิงให้อาวุธต่อสู้รถถัง ปืนกล และหมู่ปืนเล็ก พร้อมกับมอบเขตการยิงให้ด้วย
ค. กำหนดที่ตั้งยิงให้กับหน่วยหรืออาวุธอื่น ๆ ที่มาสมทบกับหมวด
ง. จัดตั้งที่บังคับการหมวด และวางการติดต่อสื่อสารทางสาย
จ. กำหนดแนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้าย และการยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้ายให้กับอาวุธต่างๆ
ฉ. ประสานงานกับหน่วยข้างเคียง ซ้าย ขวา หน้า และหลัง
ช. ดัดแปลงที่มั่นตั้งรับหลัก
ซ. วางเครื่องกีดขวาง และสนามทุ่นระเบิด
ด. กำหนดหรือปรับปรุงจุดอ้างเป้าหมาย และมาตรการควบคุมการยิงอื่น ๆ
ต. ปรับปรุงที่มั่นตั้งรับหลัก เช่น ที่กำบังเหนือศีรษะ
ถ. ดัดแปลงที่มั่นสำรอง และที่มั่นเพิ่มเติมตามลำดับ
ท. จัดทำแผนการนอนและการพัก
น. ลาดตระเวนเส้นทาง
บ. ซักซ้อมการตั้งรับ การผละจากการบ และการตีโต้ตอบ
ป. ปรับเปลี่ยนที่มั่นตั้งรับ หรือมาตรการควบคุมตามความจำเป็น
ผ. รวบรวมกระสุน อาหาร และน้ำที่มีอยู่
ฝ. ขุดคูติดต่อให้เชื่อมต่อทุกหลุมบุคคล
พ. ปรับปรุงที่มั่นตั้งรับต่อไป
๒ - ๒๖ การประสานงาน
โดยปกติแล้ว การประสานงานระหว่าง หมู่ หมวดข้างเคียง จะทำจากหน่วยทางซ้ายไปหน่วยทางขวา และจากหน้าไปทางด้านหลัง การแลกเปลี่ยนข่าวสารกันมักจะประกอบด้วย
ก. ที่อยู่ของผู้บังคับหมู่/ หมวด
ข. ที่มั่นตั้งรับหลัก สำรอง และเพิ่มเติม เขตการยิงของปืนกล อาวุธต่อสู้รถถัง และของหน่วยรอง
ค. เส้นทางไปยังที่มั่นสำรอง และเพิ่มเติม
ง. พื้นที่อับกระสุนระหว่างที่มั่นของหมู่ หมวด และวิธีแก้ไข
จ. ที่ตั้งที่ตรวจการณ์ และเส้นทางถอนตัวกลับเข้าที่มั่นของหมู่ หมวด
ฉ. ที่ตั้งและชนิดของเครื่องกีดขวาง และวิธีการคุ้มครองเครื่องกีดขวาง
ช. แผนการลาดตระเวนของหน่วย ระบุขนาดหน่วย ประเภทของการลาดตระเวน เวลาออกเดินทาง เวลากลับ และเส้นทางที่ใช้
ซ. ที่ตั้ง การปฏิบัติ และการผ่านกลับเข้าแนวของหน่วยระวังป้องกัน หรือหน่วยอื่น ๆ ที่อยู่ข้างหน้า หมู่ หมวด
ด. สัญญาณเริ่มยิง หยุดยิง และอื่น ๆ ที่จะสามารถมองเห็นได้
ต. เงื่อนไขเริ่มแรกสำหรับเริ่มทำการรบ และผละจากการรบ
๒ - ๒๗ หลุมบุคคล
ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงเทคนิคการเตรียมหลุมบุคคลของทหารราบ หลุมบุคคลของทหารราบประกอบด้วย หลุมบุคคลเร่งด่วน หลุมบุคคลเดี่ยว หลุมบุคคลคู่ หลุมบุคคลสามคน หลุมปืนกล หลุมอาวุธต่อสู้รถถังขนาดเบาหรือกลางและหลุมปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ทหารราบต้องเตรียมหลุมบุคคลให้สามารถคุ้มครองตนได้ และต้องสามารถทำการยิงจากหลุมของตนได้ทั่วทั้งเขตการยิงที่ได้รับมอบ
ก. การป้องกันตน หลุมบุคคลให้การป้องกันแก่ทหารราบด้วยสิ่งที่เป็นกำบัง ซึ่งจะได้มาจากการดัดแปลงภูมิประเทศให้มีความแข็งแรงทนทานต่อการทำลายด้วยการยิง และหลุมบุคคลให้การซ่อนพรางแก่ทหารราบด้วยการเลือกที่ตั้งและการพรางที่เหมาะสม ข้าศึกต้องไม่สามารถตรวจการณ์เห็นหลุมบุคคลฝ่ายเราได้ หรือหากเห็นเพราะถูกเปิดฉากการยิงอย่างจู่โจมแล้ว หากเป็นไปได้ทหารราบต้องวางหลุมบุคคล ณ บริเวณที่ไม่มีลักษณะเด่นชัดที่ชวนให้สังเกต ควรอยู่ด้านหลังการกำบังตามธรรมชาติและง่ายแก่การพราง สิ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมหลุมบุคคล คือ ต้องทำให้ไม่สามารถมองเห็นหรือสังเกตเห็นได้ สิ่งที่ทหารราบต้องทำให้ได้ในการเตรียมหลุมบุคคล คือ
๑) ขุดให้ได้หลุมบุคคลยืนยิง
๒) บรรจุดินใส่กระสอบทราย ประมาณ ๗๕ % ของปริมาตรถุง
๓) เรียงกระสอบทรายเสริมบริเวณที่เป็นดินทราย
๔) ตรวจสอบการทรงตัวบริเวณฐานของแนวกระสอบทราย
๕) ตรวจสอบและทดสอบความแข็งแรงของหลุมบุคคลทุกวัน หลังฝนตก และหลังจากถูกยิงด้วยกระสุนยิงเล็งตรง หรือวิถีโค้ง
๖) ปรนนิบัติบำรุง ซ่อมแซม และปรับปรุงหลุมบุคคลตามความจำเป็น
๗) ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสม และตรงตามคุณสมบัติ
หมายเหตุ : หากหลุมบุคคลตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ที่เป็นดินทราย ไม่ควรให้ยานยนต์วิ่งผ่านใกล้หลุมบุคคลในระยะ ๖ ฟุต ลงมา
ข. ความสามารถในการยิงข้าศึก ( siting to engage the enemy ) ทหารราบต้องสามารถทำการยิงข้าศึกได้ทั่วเขตการยิงที่ได้รับมอบ และยิงได้ถึงระยะหวังผลสูงสุดของอาวุธ ด้วยการยิงกวาดได้ไกลสุดและมีพื้นที่อับกระสุนน้อยที่สุด ทหารแต่ละคนและผู้บังคับหน่วยต้องมีความสามารถในการพิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับวางหลุมบุคคลของตนให้ได้ตามคุณลักษณะที่ต้องการดังกล่าวนั้นให้ได้ ผู้บังคับหน่วยทุกระดับต้องมอบเขตการยิงแก่หลุมบุคคลและหน่วยรองให้ทาบทับกัน เพื่อให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่รับผิดชอบของหมวดและเพื่อพิจารณากำหนดแนวยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้ายต่อไป
ค. การเตรียมหลุมบุคคลตามลำดับขั้น ผู้บังคับหน่วยทุกระดับต้องมั่นใจได้ว่าทหารทุกคนมีความเข้าใจในการเตรียมหลุมบุคคลของตนว่าจะเริ่มขุดเมื่อไหร่ ขุดอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ โดยปกติทหารต้องขุดหลุมบุคคลเร่งด่วนทุกครั้งที่หมวดหยุดอยู่กับที่ (เว้นหยุดเพียงระยะสั้น ๆ เพื่อการระวังป้องกัน) และจะแบ่งกำลังเป็น ๒ ส่วนเท่า ๆ กัน คือส่วนหนึ่งเตรียมหลุมบุคคล อีกส่วนหนึ่งระวังป้องกัน ในการเตรียมหลุมบุคคลตามลำดับขั้นนั้น เมื่อทหารดำเนินการเสร็จในขั้นใดขึ้นหนึ่งแล้ว ผู้บังคับหมู่ต้องทำการตรวจความสมบูรณ์ก่อน จึงจะเริ่มลงมือปฏิบัติในขั้นต่อไป ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น