วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตัวอย่างคำสั่งเตือนของหมวดปืนเล็ก

ค. ขั้นที่ ๓ จัดทำแผนขั้นต้นโดยใช้ประมาณสถานการณ์เป็นหลัก ในการจัดทำการประมาณสถานการณ์เป็นกรรมวิธีในการแสวงข้อตกลงใจทางทหารมีขั้นตอนปฏิบัติอยู่ ๕ ขั้นตอน คือ การวิเคราะห์ภารกิจ การวิเคราะห์สถานการณ์และพัฒนาหนทางปฏิบัติ การวิเคราะห์หนทางปฏิบัติ การเปรียบเทียบหนทางปฏิบัติ และการตกใจ แผนขั้นต้นหรือผลของการประมาณสถานการณ์ คือ ข้อตกลงใจที่ได้นั่นเอง การประมาณสถานการณ์ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และปรับแก้แผนขั้นต้นตามไปด้วยตลอดเวลา แผนขั้นต้น คือจุดเริ่มต้นสำหรับการประสานงาน การลาดตระเวน การจัดเฉพาะกิจ (ถ้าจำเป็น) และการให้คำแนะนำในการเคลื่อนย้าย ผู้บังคับหน่วยจะดำเนินการตามขั้นตอนการประมาณสถานการณ์ หรือขั้นตอนการแก้ปัญหานี้อย่างละเอียดที่สุดเท่าที่เวลาจะอำนวย และในการดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ปัจจัยมูลฐาน (METT – T) คือ


๑) ภารกิจ พิจารณาภารกิจที่ได้รับมอบ วิเคราะห์ภารกิจตามเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป ๒ ระดับ และกำหนดกิจสำคัญยิ่ง (essential task) ที่หน่วยต้องปฏิบัติเพื่อการบรรลุภารกิจ

๒) ข้าศึกพิจารณา ประเภท ขนาด การจัด ยุทธวิธี และยุทโธปกรณ์ ของข้าศึกที่คาดว่าจะเผชิญหน้า รวมทั้งพิสูจน์ทราบภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุดต่อภารกิจของฝ่ายเรา และจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของฝ่ายข้าศึก

๓) ภูมิประเทศ พิจารณาผลกระทบของลักษณะภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศต่อกำลังฝ่ายเราและฝ่ายข้าศึก ตามข้อพิจารณาลักษณะภูมิประเทศทางทหาร (OCOKA) ดังนี้

ก) การตรวจการณ์และพื้นการยิงพิจารณาที่ตั้งบนพื้นดิน ซึ่งสามารถตรวจการณ์ฝ่ายข้าศึกได้ทั่วทั้งพื้นที่ปฏิบัติการ สำหรับพื้นการยิงนั้นพิจารณาตามคุณลักษณะของอาวุธแต่ละชนิดที่มีอยู่ ตัวอย่างเช่น ระยะยิงหวังผลสูงสุด ระยะการยิงกวาด และระบบยิง/เวลาแล่นของอาวุธต่อสู้รถถังชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

ข) การกำบังและการซ่อนพราง พิจารณาลักษณะภูมิประเทศที่ให้การป้องกันการยิงจากอาวุธยิงเล็งตรงและเล็งจำลอง (การกำบัง) และให้การป้องกันการตรวจการณ์ของข้าศึกทั้งจากพื้นดินและทางอากาศ (การซ่อนพราง)

ค) เครื่องกีดขวาง ในการเข้าตีจะต้องพิจารณาผลกระทบของภูมิประเทศบังคับที่จะขัดขวางการดำเนินกลยุทธ์ฝ่ายเรา ในการตั้งรับพิจารณาผสมผสานเครื่องกีดขวางที่มีอยู่เข้ากับลักษณะภูมิประเทศ เพื่อขัดขวาง หันเห ตรึง หรือสกัดกั้นกำลังฝ่ายข้าศึก และเพื่อป้องกันกำลังฝ่ายเราจากการจู่โจมของข้าศึก

ง) ภูมิประเทศสำคัญ หมายถึงตำบลหรือพื้นที่ใด ซึ่งหากฝ่ายใดยึดหรือครอบครองเอาไว้ได้จะเกิดความได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด ในการเลือกที่ตั้งที่สำคัญ เช่น ที่หมาย ที่ตั้งส่วนสนับสนุนการเข้าตี เส้นทางเข้าตี ที่มั่นตั้งรับ ฯลฯ เหล่านี้จะพิจารณาใช้ภูมิประเทศสำคัญเป็นหลัก

จ) แนวทางเคลื่อนที่ หมายถึงเส้นทางบนพื้นดินหรือในอากาศสำหรับหน่วยที่เข้าตีขนาดใดขนาดหนึ่ง ทิศทางมุ่งไปยังที่หมาย หรือผ่านไปตามแนวภูมิประเทศสำคัญ ในการเข้าตี แนวทางเคลื่อนที่ที่ดีคือ แนวทางที่ให้การระวังป้องกันสูงสุดและมุ่งไปสู่บริเวณที่เป็นจุดอ่อนของข้าศึก ในการตั้งรับต้องวางอาวุธยิงไว้ตามแนวทางเคลื่อนที่ที่คาดว่าข้าศึกน่าจะใช้มากที่สุด

ฉ) ลมฟ้าอากาศ พิจารณาผลกระทบที่มีต่อทัศนวิสัย และความสามารถในการจราจร

๔) กำลังที่มีอยู่ พิจารณาสถานภาพกำลังพลของหน่วยรอง คุณลักษณะขีดความสามารถของระบบอาวุธ และขีดความสามารถของหน่วยที่มาขึ้นสมทบก่อนที่จะมอบกิจเฉพาะแก่หน่วยรอง

๕) เวลาที่มีอยู่ วางแผนการใช้เวลาโดยยึดถือแผนขั้นต้นเป็นหลัก และปรับแก้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ง. ขั้นที่ ๔ เริ่มต้นการเคลื่อนย้ายที่จำเป็น หมวดปืนเล็กอาจจำเป็นต้องเริ่มเคลื่อนย้ายในขณะที่ผู้บังคับหมวดยังคงกำลังวางแผนหรือกำลังลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศอยู่ข้างหน้า รองผู้บังคับหมวดหรือผู้บังคับหมู่ปืนเล็กอาจเป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนย้ายหมวดขึ้นไปข้างหน้า ในระดับกองร้อยปกติจะอยู่ในความควบคุมของรองผู้บังคับกองร้อยหรือจ่ากองร้อย การปฏิบัติในขั้นตอนนี้อาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังขั้นตอนใดก็ได้ ในระหว่างดำเนินการตามระเบียบการนำหน่วย

จ. ขั้นที่ ๕ การลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศหากมีเวลาพอ ผู้บังคับหมวดต้องตรวจภูมิประเทศด้วยตนเองเพื่อตรวจสอบผลการวิเคราะห์ภูมิประเทศ ปรับปรุงแผน ยืนยันสภาพเส้นทางที่ใช้ได้ และกำหนดเวลาสำหรับการเคลื่อนย้ายที่สำคัญ (critical movements)

แต่หากมีเวลาจำกัด ต้องตรวจภูมิประเทศจากแผนที่ การตรวจภูมิประเทศในพื้นที่ที่เลยออกไปจากหน้าแนวทหารฝ่ายเดียวกันต้องพิจารณาระมัดระวังความเสี่ยงจากการตรวจการณ์ หรือปะทะกับข้าศึกด้วย ในบางโอกาสอาจจำเป็นต้องอาศัยผลการลาดตระเวนของหน่วยอื่น (เช่น หมวดลาดตระเวน เป็นต้น) หากมีความเสี่ยงสูงที่จะปะทะข้าศึก

ฉ. ขั้นที่ ๖ ทำแผนสมบูรณ์ โดยใช้ผลจากการลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศ และการปรับปรุงแผนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีการทบทวนภารกิจที่ได้รับมอบจากผู้บังคับหน่วยเหนือ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแผนของหน่วยสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยเหนือและอยู่ในกรอบเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา

ช. ขั้นที่ ๗ ออกคำสั่งที่สมบูรณ์ (Issue the Complete Order) โดยปกติแล้วในระดับหมวดและหมู่ปืนเล็ก จะออกคำสั่งยุทธการด้วยวาจา

๑) เพื่อให้หน่วยรองเข้าใจแนวความคิดในการปฏิบัติภารกิจอย่างชัดเจน ควรออกคำสั่ง ณ บริเวณที่สามารถมองเห็นที่หมาย หรือ ณ พื้นที่แนวตั้งรับ หากไม่สามารถทำได้ควรใช้ภูมิประเทศจำลอง หรือภาพสังเขปช่วยในการออกคำสั่ง

๒) ต้องมั่นใจว่าผู้บังคับหน่วยรองเข้าใจภารกิจ เจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา แนวความคิดในการปฏิบัติ และกิจที่ได้รับมอบ (assign tasks) อาจใช้วิธีการให้ผู้บังคับหน่วยรองบรรยายสรุปกลับคำสั่งยุทธการในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้องทั้งหมด หรือให้ชี้แจงการปฏิบัติของหน่วยตนบนภูมิประเทศจำลอง หรือภาพสังเขปตามที่เข้าใจ และควรมีการสุ่มสอบถามทหารเป็นบุคคล เพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่าทหารทุกคนเข้าใจภารกิจในบทที่ ๕ จะแสดงตัวอย่างคำถามสำหรับทหารเป็นบุคคลเพื่อตรวจสอบความเข้าใจในภารกิจ

ซ. ขั้นที่ ๘ กำกับดูแล ทำได้โดยการซักซ้อม และการตรวจ

๑) การซักซ้อมทำเพื่อ

- ฝึกปฏิบัติกิจสำคัญยิ่ง และปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติจนมั่นใจ

- ทำให้ทราบจุดอ่อนหรือปัญหาที่มี

- ประสานการปฏิบัติระหว่างส่วนต่าง ๆ

- ทำให้ทหารเข้าใจแนวความคิดในการปฏิบัติมากขึ้น (ทำให้เกิดความเชื่อมั่นสูงขึ้น)

ก) ในการซักซ้อม ควรให้ผู้บังคับหมู่แต่ละหมู่บรรยายสรุปแผนการปฏิบัติของหมู่ตามขั้นตอนให้ผู้บังคับหมวดฟังด้วย

ข) ในการซักซ้อม ควรกระทำ ณ บริเวณภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกับพื้นที่ที่จะปฏิบัติจริง และในเวลาหรือทัศนวิสัยใกล้เคียงกับการปฏิบัติจริง

ค) หมวดปืนเล็กอาจเริ่มซักซ้อมได้ก่อนที่จะรับคำสั่งยุทธการโดยอาศัยการฝึกตามแบบฝึกทำการรบ และ รปจ. เป็นหลัก และเมื่อได้รับคำสั่งยุทธการแล้ว จึงซักซ้อมการปฏิบัติตามกิจเฉพาะที่ได้รับมอบอีกครั้ง

ง) กิจต่าง ๆ ที่ควรซักซ้อมการปฏิบัติได้แก่

- การปฏิบัติ ณ ที่หมาย

- การเข้าโจมตี กวาดล้างคูติดต่อ บังเกอร์ หรือสิ่งปลูกสร้าง

- การปฏิบัติ ณ ฐานโจมตี

- การเจาะผ่านเครื่องกีดขวาง (ลวดหนาม สนามทุ่นระเบิด)

- การใช้อาวุธพิเศษหรือเครื่องมือระเบิดทำลาย

- การปฏิบัติฉับพลัน เมื่อปะทะข้าศึกโดยไม่คาดคิด

๒) การตรวจ ผู้บังคับหมู่ปืนเล็กควรทำการตรวจขั้นต้นทันที หลังจากได้รับคำสั่งเตือน รองผู้บังคับหมวดทำการตรวจเป็นจุด ๆ (spot check) การเตรียมการของทั้งหมด ทั้งผู้บังคับหมวดและรองผู้บังคับหมวด ต้องทำการตรวจขั้นสุดท้ายในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

- อาวุธและกระสุน

- เครื่องแต่งกายและเครื่องมือเครื่องใช้

- เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับปฏิบัติกิจสำคัญยิ่ง

- ความเข้าใจของทหารในภารกิจและความรับผิดชอบของตนเอง

- การติดต่อสื่อสาร

- เสบียงแห้งและน้ำ

- การพราง

- ข้อบกพร่องจากการตรวจคราวก่อน

1 ความคิดเห็น: