๑ - ๘ การรบด้วยวิธีรับ
สาระสำคัญที่จะกล่าวถึงในข้อนี้ ประกอบด้วยคุณลักษณะของการรบด้วยวิธีรับ แนวความคิดในการปฏิบัติ (concept) ของผู้บังคับหมวดในการรวมความพยายามทั้งมวลของหมวดและหมู่รวมถึงข้อพิจารณาอื่น ๆ สำหรับการวางแผนในการรบด้วยวิธีรับ
คุณลักษณะของการรบด้วยวิธีรับได้แก่ การเตรียมการ การขัดขวาง การรวมกำลัง และความอ่อนตัว
โดยปกติหมวดและหมู่ปืนเล็กทำการตั้งรับเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยเหนือ เพื่อขัดขวาง ทำลายรูปขบวน รั้งหน่วง หรือทำลายการเข้าตีของข้าศึก รักษาพื้นที่ที่ไม่ยอมให้ข้าศึกใช้ หรือเพื่อป้องกันปีก ในบางโอกาสหมวดและหมู่อาจทำการตั้งรับเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยใหญ่ในการรบด้วยวิธีร่นถอยก็ได้ สิ่งสำคัญเฉพาะหน้าสำหรับฝ่ายตั้งรับคือ ต้องรักษาความเป็นฝ่ายริเริ่มตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้ข้าศึกจำต้องปฏิบัติการตอบโต้ตามที่ฝ่ายเราต้องการให้ทำ และไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติการตามแผนการของตน
ก. ความริเริ่มในการตั้งรับ เมื่อข้าศึกเป็นฝ่ายเลือกตำบลและเวลาในการเข้าตี ผู้บังคับหน่วยฝ่ายตั้งรับต้องรีบช่วงชิง และรักษาความเป็นฝ่ายริเริ่มไว้ให้ได้ โดยการวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ มีการเตรียมการ ประสานงาน และซักซ้อมการปฏิบัติ ผู้บังคับหมวดวางแผนและเริ่มต้นการตั้งรับ เพื่อค้นหาข้าศึกก่อนเป็นลำดับแรก ต่อมาโดยที่ไม่ให้ข้าศึกเห็นต้องตรึงให้ข้าศึกอยู่กับที่ด้วยการใช้เครื่องกีดขวางและการยิง ค้นหาหรือสร้างจุดอ่อนในการเข้าตีของข้าศึก หลังจากนั้นดำเนินกลยุทธ์เพื่อขยายจุดอ่อนของข้าศึกด้วยการตีโต้ตอบอย่างรวดเร็วและรุนแรง
๑) การวางแผนและการเตรียมการ ผู้บังคับหมวดใช้ระเบียบการนำหน่วยเพื่อประกันว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่สำคัญทุกขั้นตอนในการเตรียมการตั้งรับ และวิเคราะห์ปัจจัย METT-T เพื่อหาหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ซึ่งในการตั้งรับหมายถึง พื้นที่บริเวณที่จะสามารถสังหารข้าศึกด้วยการยิงได้ดีที่สุด ฝ่ายตั้งรับต้องทำการวางอาวุธยิงหลักให้สามารถรวมอำนาจการยิงไปยังบริเวณนั้น สนธิการยิงเข้ากับเครื่องกีดขวางที่มีอยู่ หลังจากนั้นวางอาวุธยิงส่วนที่เหลือของหมวดและหมู่ ให้สามารถสนับสนุนและระวังป้องกันแก่อาวุธยิงหลักเหล่านั้นได้ รวมทั้งต้องมีการลาดตระเวนอย่างต่อเนื่อง และซักซ้อมการตีโต้ตอบด้วย
๒) ค้นหาข้าศึก ผู้บังคับหมวดปืนเล็กจะค้นหาข้าศึกได้ต่อเมื่อรู้วิธีการรบของข้าศึก วิเคราะห์ลักษณะภูมิประเทศตามวิธีรบของข้าศึก การจัดตั้งที่ตรวจการณ์ตามช่องทางที่คาดว่าข้าศึกน่าจะเคลื่อนที่เข้าหาฝ่ายเรา และต้องทำการลาดตระเวนเชิงรุกเพื่อค้นหาที่ตั้งกำลังของข้าศึกให้พบ
๓) หลีกเลี่ยงการตรวจจับ (avoid detection) หมวดปืนเล็กจะหลีกเลี่ยงให้พ้นจากการถูกตรวจจับความเคลื่อนไหว โดยฝ่ายข้าศึกด้วยการระวังป้องกันที่มั่นตั้งรับหรือพื้นที่ตั้งรับของหมวดแต่เนิ่นและอย่างต่อเนื่อง ไม่วางกำลังหมู่ปืนเล็กและอาวุธยิงต่าง ๆ ตามแนวร่องรอยของธรรมชาติที่มีอยู่ หรือในลักษณะภูมิประเทศที่สังเกตเห็นเด่นชัด และด้วยการพราง การรักษาวินัยในการใช้แสง เสียงอย่างมีประสิทธิภาพ
๔) ตรึงข้าศึก หมวดปืนเล็กต้องใช้เครื่องกีดขวางทางยุทธวิธีผสมผสานกับการยิง ทั้งแบบเล็งตรงและเล็งจำลอง เพื่อขัดขวางการเข้าตีของข้าศึกและตรึงข้าศึกไว้ในบริเวณที่จะทำลายด้วยการยิงที่กำหนดไว้
๕) ค้นหาหรือสร้างจุดอ่อน สามารถทำได้โดยทำลายปมการบังคับบัญชาและควบคุมของข้าศึก แยกรูปขบวนการเข้าตีให้ส่วนต่าง ๆ ถูกตัดขาดจากส่วนสนับสนุน กดดันให้ข้าศึกจำต้องลงจากยานรบแล้วเดินด้วยเท้า ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนที่ช้าลง และทำให้ยานรบข้าศึกเกิดความล่อแหลมมากขึ้น ใช้เครื่องมือตรวจการณ์ในเวลากลางคืนเพื่อให้ได้เปรียบด้านทัศนวิสัย หรือด้วยการยิงส่องสว่างอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อทำให้ข้าศึกตาพร่ามัว หรือเพื่อให้การเข้าตีของข้าศึกถูกเปิดเผย
๖) ดำเนินกลยุทธ์เพื่อขยายผลต่อจุดอ่อน เมื่อสร้างจุดอ่อนให้ฝ่ายข้าศึกได้แล้ว หมวดปืนเล็กสามารถขยายผลต่อจุดอ่อนนั้นโดยการเข้าตีโต้ตอบต่อปีกหรือด้านหลังของข้าศึก ด้วยการยิงหรือการดำเนินกลยุทธ์ หมวดปืนเล็กต้องประสานการปฏิบัติ และซักซ้อมส่วนต่าง ๆ ของการตีโต้ตอบอย่างรอบคอบ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างสอดคล้องในการเลื่อนและย้ายการยิง ทั้งยิงเล็งตรงและเล็งจำลอง รวมทั้งต้องพิจารณาถึงกำลังส่วนตามของข้าศึกที่จะมาทำลายการตีโต้ตอบของฝ่ายเราด้วย
๗) การจัดระเบียบใหม่ หมวดและหมู่ปืนเล็กต้องสามารถจัดระเบียบใหม่อย่างรวดเร็วเพื่อทำการตั้งรับต่อไปต่อกำลังข้าศึกที่ติดตามมาอีก
ข. การตั้งรับลาดหลังเนิน (Defense on a Reverse Slope) กองร้อยอาวุธเบาหรือหมวดปืนเล็ก สามารถทำการตั้งรับบนลาดหลังเนินได้ (รูปที่ ๑ - ๑) การตั้งรับชนิดนี้จะวางกำลังบนส่วนหนึ่งของเนินหรือสันเขา ซึ่งมีการกำบังอาวุธยิงเล็งตรงและการตรวจการณ์ทางพื้นดิน โดยยอดเนินด้านที่บังทิศทางข้าศึก หมวดปืนเล็กต้องคุ้มครองยอดเนินนี้ให้ได้ด้วยการยิง
๑) ข้อได้เปรียบของการตั้งรับลาดหลังเนิน
- กำบังการตรวจการณ์ทางพื้นดินจากฝ่ายข้าศึก
- มีเสรีในการเคลื่อนย้ายภายในที่มั่น เนื่องจากข้าศึกตรวจการณ์ทางพื้นดินไม่พบ
- ข้าศึกไม่สามารถใช้อาวุธยิงเล็งตรงยิงต่อที่มั่นฝ่ายเรา
- การยิงเล็งจำลองของข้าศึกต่อที่มั่นฝ่ายเราไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดการตรวจการณ์ทางพื้นดิน
- ฝ่ายตั้งรับสามารถใช้การจู่โจมได้
- หากข้าศึกตียึดยอดเนิน จะกลายเป็นหน่วยที่ถูกตัดขาดจากหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น